โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

23 ก.ย.2555 โลกตื่น "โคโรน่า" สายพันธุ์ใหม่เผยโฉม

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 22 ก.ย 2562 เวลา 23.57 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 19.00 น.

***********************

ช่วงนี้ฝนตกหนัก อากาศเปบี่ยน ลูกหลาน คนชรา พากันป่วยไข้กันมากมาย ทุกวันนี้เชื้อโรคก็มีหลากหลายสายพันธุ์จนน่ากลัว ว่าวันหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์แบบในหนังไวรัสล้างโลก!!

อย่างข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 7 ปีก่อน วันที่ 23 กันยายน 2555 คนไทยและชาวโลกต่างพากันตื่นตระหนกเมื่อ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้ออกประกาศผ่านเวบไซต์แจ้งว่า พบโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ โรคโคโรน่า 2012 (Novel Coronavirus) ในต่างประเทศ

โดยขณะที่ประกาศนั้น พบมีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อจำนวน 2 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย โดยเป็นผู้ป่วยชายชาวกาตาร์ อายุ 49 ปี ซึ่ง มีประวัติการเดินทางไปซาอุดิอารเบีย และอีกรายเป็นผู้ป่วยชาวซาอุดิอารเบีย อายุ 60 ปี

แน่นอนช่วงเวลานั้นในประเทศไทยยังไม่มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 และ WHO ยังไม่มีประกาศแนะนำการจำกัดการเดินทางไปยังประเทศใดๆ

แต่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ น่าคิดว่าโรคนี้ได้ดำเนินไปถึงไหนแล้ว ก่อนอื่นลองมาทำความรู้จักกับมันอีกครั้ง

ไม่ใช่รถแต่เป็นโรค

โคโรน่าไวรัส 2012 เป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือระบบอื่นๆ ในคน และสัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร

มีรายงานการพบเชื้อมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508 ประกอบด้วยเชื้อสายพันธุ์ย่อยหลากหลายพันธุ์ และพบได้ทั่วโลก

ในเขตอบอุ่น มักพบเชื้อไวรัสโคโรน่าในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ โดยอาจมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้หวัดธรรมดา หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น

ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง อาจก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรงเฉียบพลันและมีการล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ และเสียชีวิตได้

เช่น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย)

ส่วนในคนที่เป็นโรคหวัดก็มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ ประมาณร้อยละ 15

การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าพบได้ในทุกลุ่มอายุ แต่พบมากใน "เด็ก" อาจพบมีการติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการติดเชื้อ

เชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส พบการระบาดในปี 2546 พบจากประเทศจีนแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก พบรายงานผู้ป่วยโรคซาร์สทั้งสิ้นมากกว่า 8,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 750 ราย แต่ขณะนั้นช่วงปี 2555 ยังไม่พบการระบาดแต่อย่างใด

ส่วยรานงานการพบช่วงปีนั้น พบว่ามีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 13 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเกิดมาจากสัตว์ เช่น อูฐ, ค้างคาว

สายพันธุ์ใหม่ ยังไง

สำหรับเชื้อโรคโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 (ขณะนั้น) เป็นเชื้อสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มไวรัสโคโรน่า ซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่ในปี 2555

ข้อมูลจาก WHO ประเมินว่ายังไม่รุนแรงเหมือนโรคซาร์ส เพราะไม่พบว่าบุคคลรอบข้างหรือบุคลากรทางการแพทย์มีการเจ็บป่วยด้วย

อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 นี้ ไม่ใช่โรคซาร์ส เนื่องจากมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรน่าคนละสายพันธุ์

และระยะฟักตัวของโรค ขณะนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลว่าจะแสดงอาการเมื่อใดหลังจากติดเชื้อ แต่สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าโดยทั่วไป โดยเฉลี่ยมีระยะฟักตัวประมาณ 2-4 วัน

ส่วนวิธีการแพร่โรค เชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 นี้ ถ้าจะสามารถติดต่อจากคนสู่คน น่าจะผ่านทางฝอยละออง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลายจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไปยังบุคคลอื่น โดยการไอหรือจาม

และการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเป็นหลักส่วนการแพร่กระจายทางอากาศมีโอกาสเป็นไปได้แต่น้อย

ส่วนการป้องกัน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม- ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย

ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก หากจำเป็น ให้พิจารณาใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม- ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ได้แก่กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

อาการเบื้องต้น คล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ไอ ถ่ายเหลว อาเจียน โดยในทารกที่มีอาการรุนแรงอาจมีลักษณะของปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด

ส่วนในผู้ใหญ่อาจพบลักษณะปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือการกลับเป็นซ้ำของโรคหอบหืดได้และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

และควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่พบผู้ป่วย หรือเป็นชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจจ์ประจำปี 2557

ที่แท้คือเมอร์ส

ภายหลังเราได้รู้จักมันในชื่อที่เรียกโดยทั่วไปว่า "เมอร์ส" และจากวันนั้น จวบจนถึงวันนี้ ในประเทศไทยเรามีรายงานเกี่ยวโรคนี้ โดยสังเขปคือ

ปี 2557 หรือ 5 ปีก่อน มีรายงานข่าวว่าทาง สสจ.จังหวัดภูเก็ต สั่งเฝ้าระวังโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เพิ่ม หลังพบนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางกลับจากซาอุฯ ป่วยเสียชีวิต

ทั้งนี้ ในส่วนของต่างประเทศ มีข่าวพบการระบาดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 พบผู้ป่วยยืนยัน 243 ราย เสียชีวิต 93 ราย

ปี 2558 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขบ้านเรา ได้รายงานเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ว่ามีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือโรคเมอร์ส ในประเทศเกาหลีใต้ และมีการแพร่กระจายของโรคอย่างต่อเนื่อง

สํานักโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายละเอียด พบว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ได้รายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุด ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยโรคเมอร์สที่ประเทศเกาหลีใต้ จํานวน 64 ราย

ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสเชื้อในประเทศเกาหลีใต้ และเดินทางผ่านฮ่องกงไปยังประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ 1 ราย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย

ซึ่งจากจํานวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล และการติดเชื้อในบ้าน องค์การอนามัยโลกสรุปสถานการณ์ในต่างประเทศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2558 รายงานพบผู้ป่วยยืนยัน จากทั้งหมด 25 ประเทศ จํานวน 1,218 ราย เสียชีวิต 449 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.86

ส่วนปี 2562 นี้ ยังไม่มีรายงานการพบในบ้านเรา แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจ

สำหรับการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ เช่น ยาต้านไวรัส เนื่องจากโรค MERS-CoV เป็นโรคอุบัติใหม่ ข้อมูลการใช้ยาต้านไวรัสมีค่อนข้างจำกัด เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคยังไม่สามารถผลิตได้ ณ ปัจจุบัน

ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก รวมทั้งรักษาประคับประคองโดยเฉพาะด้านระบบหายใจ ให้การช่วยเหลือภาวะขาดออกซิเจน และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

*****************************

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0