โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

22 กันยายน 2552 ครม.จ่ายเงิน 1.2 ล้าน ชดเชย ยายไฮ-แม่เฒ่านักสู้เมืองอุบลฯ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 25 ก.ย 2566 เวลา 03.52 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2566 เวลา 00.10 น.
ภาพปก - ยายไฮ
ภาพยายไฮ ขันจันทา จากศูนย์ข้อมูลมติชน

หลังจาก “ยายไฮ” หรือ นางไฮ ขันจันทา “แม่เฒ่านักสู้” เมืองอุบลราชธานี ที่ต่อสู้เรื่องที่ดินมาอย่างยาวนาน ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ในที่สุด วันที่ 22 กันยายน ปี 2552 รัฐก็มีมติจ่ายเงินชดเชยให้ยายไฮ

“เมื่อวันที่ 22 ก.ย. [2552]น.พ.ภูมินทร์ ธีระประเสริฐ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง เพื่อจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่เดือดร้อนและเสียโอกาสในการทำประโยชน์ของที่ดิน จากการก่อสร้างเขื่อนหัวยละห้า กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เป็นเงินกว่า 4,900,000 บาท ให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อน 3 ราย ประกอบด้วย

นางไฮ ขันจันทา ได้รับเงินชดเชยค่าเสียโอกาสกว่า 1.2 ล้านบาท นายเสือ พันคำ ได้รับเงินชดเชยค่าเสียโอกาสกว่า 2.3 ล้านบาท และนายฟอง ขันจันทา ได้รับเงินชดเชยค่าเสียโอกาสกว่า 1.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลละเมิดสิทธิราษฎร และยายไฮร้องเรียนคัดค้านมาตั้งแต่ต้นเมื่อปี 2520 จนสร้างเขื่อนเสร็จตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ” (ข่าวสด**, 23 กันยายน 25552)

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ยายไฮ ใช้เวลาต่อสู้เกือบ 30 ปี

ยายไฮ กับเขื่อนห้วยละห้า

นางไฮ ขันจันทา หรือที่สังคมเรียกกันว่า ยายไฮ เกิดเมื่อปี 2472 ที่บ้านโนนตาด ตำบลนาตาล กิ่งอำเภอนาตาล (เดิมคืออำเภอเขมราฐ) จังหวัดอุบลราชธานี นางไฮอยู่กินกับนายฟองจนมีลูกชายหญิงรวม 10 คน ดำเนินชีวิตแบบเกษตรกรทั่วไป

จนเมื่อมี “เขื่อนห้วยละห้า” ชีวิตยายไฮเปลี่ยนไป

เขื่อนห้วยละห้า เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่บ้านโนนตาด ตำบลนาตาล กิ่งอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย วัตถุประสงค์ของการสร้างเพื่อการชลประทาน เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2519-2521 บนที่ดิน 400 ไร่ ซึ่งเป็นที่ทำกินของครอบครัวยายไฮ และชาวบ้านอื่นรวม 21 ครอบครัว

ที่ดินทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วมไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ รพช.ผู้รับผิดชอบโครงการอ้างว่า เป็นเขื่อนเพื่อชลประทานขนาดเล็ก และเป็นการร้องขอของราษฎรในพื้นที่ แต่ชาวบ้านเจ้าของที่ดิน 3 ราย ที่ดินติดต่อกันด้วย คือ นางไฮ ขันจันทา นายฟอง ขันจันทา และนายเสือ พันคำ ไม่เซ็นยินยอมให้มีการก่อสร้างใดๆ ในที่ของตน

จุดเริ่มต้นเรียกร้องความเป็นธรรมของ “ยายไฮ” คือ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2519 เมื่อ รพช. นำรถแทรกเตอร์ไปไถที่นาของชาวบ้าน นายฟอง ขันจันทา และชาวบ้านได้ขัดขวางรถไถ แต่คนขับไม่ยอมหยุด ยายไฮ ขณะนั้นอายุ 47 ปี ใช้มีดพร้าไล่ฟันคนขับ

หลังจากนั้น “การเรียกร้องความเป็นธรรม” ของยายไฮและญาติ (นายฟอง ขันจันทา, นายเสือ พันคำ รวมทั้งครอบ) ก็ดำเนินการมาตลอดอย่างเป็นขั้นตอน จากระดับผู้ใหญ่บ้านถึงกำนัน ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ กระทั้งส.ส. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีในแต่ละสมัยที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการก่อสร้างเขื่อนห้วยละห้า

ทวงคืนความเป็นธรรม

พ.ศ. 2521 เขื่อนห้วยละห้าก่อสร้างเสร็จ และระดับน้ำก็เอ่อสูงขึ้นเรื่อยๆ ยายไฮกับญาติเดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์ ผู้ว่าฯ สั่งการให้นายอำเภอเขมราฐไปดำเนินการ นายอำเภอได้เดินทางมาสำรวจความเสียหาย พบว่า เขื่อนห้วยละห้าทำให้น้ำท่วมที่นาจริง และรับปากว่าจะแก้ปัญหา แต่ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ

พ.ศ. 2523 นางไฮและนายคำพัน ลูกชาย ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอก เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีขณะนั้นที่ทำเนียบรัฐบาล

ระหว่างการร้องเรียนคัดค้านดังกล่าว ยายไฮต้องขายวัว ควาย และที่นาส่วนอื่นเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ที่ต้องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างโดดเดี่ยวเฉพาะในครอบครัว ต่อมายายไฮได้เข้าร่วมกับกลุ่มอื่นดังนี้

พ.ศ. 2536 ขอเข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.)

พ.ศ. 2537 ได้รับคำตอบให้เข้าร่วมชุมนุมกับ สกย.อ. ในปลายปี แต่การแก้ไขปัญหาไม่คืบหน้า เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่มีปัญหาน้ำท่วมนาอย่างห้วยละห้า

พ.ศ. 2540 ได้ยินข่าวการชุมนุมของพี่น้องเขื่อนปากมูลในนามสมัชชาคนจน (สคจ.) เห็นว่าปัญหาคล้ายคลึงกัน จึงพยายามพยายามติดต่อขอเข้าร่วม

พ.ศ. 2542 มีชาวบ้านที่ร่วมอยู่ในสมัชชาช่วยติดต่อให้ จากนั้นทางสมัชชาคนจนจึงให้ยายไฮกับครอบครัวเข้าไปศึกษาเรียนรู้อยู่กับชาวบ้านปากมูน ที่ชุมนุมรวมตัวกันตั้งหมู่บ้านแม่มูนมันยืน ณ สันเขื่อนปากมูล ต่อมา สมัชชาคนจนยอมรับปัญหากรณีห้วยละห้าเป็นหนึ่งในจำนวนนับร้อยปัญหาที่ สคจ. ร่วมกันต่อสู้

โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2542 มีการยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย ผ่านนายอำเภอโขงเจียม) ต่อมาคณะทำงานกลางในเรื่องนี้ลงมติว่า พื้นที่ได้รับความเสียหายควรจะดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามสภาพเป็นจริง หากคณะรัฐมนตรีมีมติไม่เห็นชอบที่จะมีการพิสูจน์สิทธิ์ และจ่ายค่าชดเชยเพราะจะเป็นตัวอย่างแก่โครงการอื่น

พ.ศ. 2545 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานมีการคำนวณค่าเสียหาย โดยคิด 80,000 บาท/ไร่ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแต่ไม่มีการปฏิบัติ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 บ้านที่ลูกหลานสร้างให้นางไฮถูกไฟไหม้ ต่อมาในเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) มาพบครอบครัวยายไฮ และนายเสือ แจ้งว่าจะจัดหาที่ให้ตามต้องการตามจำนวนที่เสียไปจากการถูกน้ำท่วม และให้เตรียมเอกสารไว้

พ.ศ. 2547 ยายไฮ อายุ 75 ปี เรียกร้องเพื่อท้วงคืนที่ดินของตนมาเกือบ 28 ปี และเริ่มเข้มข้นขึ้น

วันที่ 11 มีนาคม 2547 ยายไฮและครอบครัวประมาณ 20 คน พร้อมนายเสือ ตัดสินใจปลูกเพิ่งพักบริเวณสันเขื่อน พร้อมขึ้นป้ายบอกกล่าวปัญหาด้านหน้าเพิงพัก

วันที่ 19 เมษายน 2547 ยายไฮและครอบครัว ลงมือขุดดินหน้าเขื่อน และเจาะคอนกรีตเพื่อปล่อยน้ำออกจากที่นาของตน โดยมี ค้อน จอบ เสียม เป็นเครื่องมือ ต่อมายายไฮถูกตัวแทนของทางการในท้องถิ่นดำเนินคดีฐาน “ทำลายทรัพย์สินทางราชการ”

แล้วเสียงของชาวบ้านเล็กๆ คนหนึ่งก็ดังก้องสู่สาธารณะ

เมื่อสื่อมวลชนต่างนำเสนอข่าวยายไฮอย่างต่อเนื่อง สาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของยายไฮกันไปทั่ว รัฐบาลไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้ จำต้องลงมาจัดการแก้ปัญหาดังกล่าว

วันที่ 10 มิถุนายน 2547 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น มีคำสั่งให้ พันเอก ธนันท์ มนูนิมิตร ผู้บังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 กองบัญชาการทหารพัฒนา นำเครื่องมือหนักพร้อมกำลังพลเข้าเจาะระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า โดยมีการเจาะระบายน้ำเวลา 22.00 น.

ในคืนนั้นนักข่าวจำนวนมากไปสัมภาษณ์ถึงผืนนาจมน้ำที่กำลังจะกลับคืนมา ยายไฮได้ตอบว่า “ภูมิใจที่จะได้นากลับคืนมา ฉันเป็นชาวนา นาคือชีวิต ให้ชีวิต เหนื่อยมา 27 ปีแล้ว วันนี้ดีใจจะได้ทำนาในที่นาของตัวเองอีกครั้ง”

ขณะที่เขมพรลูกสาวของยายไฮให้เหตุผลว่า “แม่ต้องการที่นา…แม่เห็นว่าถ้าไม่มีที่นาลูกหลานก็ต้องออกไปทำงานรับจ้าง ผู้ชายเป็นกรรมกร ผู้หญิงอาจไปเป็นโสเภณี”

แต่สำหรับเงินชดเชยกลับต้องรอต่อไป เพราะเกิดมีการเปลี่ยนรัฐบาล

วันที่ 9 พ.ย. 2550 ยายไฮและลูกหลานรวม 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้จ่ายเงินชดเชยการเสียโอกาสในที่ดินทำกินจำนวน 4.9 ล้านบาท ซึ่งรัฐนำไปทำเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าเป็นเวลานานถึง 27 ปี โดยเงินค่าเสียโอกาสดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า

หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ในวันที่ 22 กันยายน 2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติจ่ายเงินชดเชยจำนวน 4,948,217 บาท เพื่อเป็นค่าเสียโอกาสจากการทำประโยชน์ในที่ดินที่ให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างฝาย 3 ราย ได้แก่ นางไฮ ขันจันทา 1,208,153 บาท, นายเสือ พันคำ 2,389,142 บาท และนายฟอง ขันจันทา 1,305,922 บาท แม้จะมีรัฐมนตรีบางคนไม่เห็นเพราะเกรงว่าจะเป็นตัวอย่าง

ทั้งหมดนี้คือผลงานของแม่เฒ่านักสู้เมืองอุบลราชธานี ยายไฮ ขันจันทา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

“ยายไฮ” รับ 1.2 ล.ชดเชยสร้างเขื่อน, ข่าวสด 23 กันยายน 2552

จิตติมา ผลเสวก. บนแผ่นดินร้องไห้ ใฮ ขันจันทา, สำนักพิมพ์มติชน พฤษภาคม 2548

ประสาร มฤคพิทักษ์. “ถอดบทเรียนจากกรณี ยายไฮ ขันจันทา”, มติชน 2 มิถุนายน 2547

สมัชชาคนจน. “เขื่อนห้วยละห้า”, เขื่อนนวัตกรรมแห่งปัญหา, โรงพิมพ์เดือนตุลา, สิงหาคม 2547

“แม้ว”สั่งปล่อยน้ำคืนที่ดิน”ยายไฮ”, มติชน 11 มิถุนายน 2547

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0