โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

21 มกราคม 1793 ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 22 ม.ค. เวลา 02.19 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. เวลา 23.00 น.
ภาพปก-หลุยส์16
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดย Joseph-Siffried Duplessis, via Wikimedia Commons

21 มกราคม ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2335) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ถูกตัดสินประหารด้วย “กิโยติน”

นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์การล้มล้างกษัตริย์โดยประชาชน ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าสู่ความโกลาหล การนองเลือด และสงครามที่มาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จนถูกขนานนามว่าเป็น ยุคแห่งความหวาดกลัว (The Terror)

เหตุการณ์การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พร้อม พระนาง มารี อังตัวเนต พระมเหสี ถูกนักประวัติศาสตร์การเมืองวิเคราะห์ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจาก “การแก้ปัญหาทางการคลังของประเทศ”

พระเจ้าหลุยส์ที่16 ขึ้นครองราชย์ในปี1774 นโบายในช่วงต้นรัชสมัยอย่างการฟื้นฟูอำนาจของรัฐสภา ทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง แต่การดำเนินนโยบายด้านการทหาร และให้การสนับสนุนการตั้งอาณานิคมในอเมริกา ได้ทำให้ฝรั่งเศสประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และพระองค์ก็ไม่อาจจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การเสื่อมความนิยมในหมู่ประชาชน จนเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์

ย้อนกลับไปในช่วงสิงหาคม ค.ศ. 1774 รัชสมัยของพระองค์ ตูร์โกต์ ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีคลัง โดยเขามีเป้าหมายที่จะไม่ให้ท้องพระคลังล้มละลาย ไม่มีการเก็บภาษีเพิ่ม และไม่มีการกู้ยืมเงิน นั่นคือการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในส่วนที่ฟุ่มเฟือยลง ซึ่งต้องมาจากความเห็นชอบของตูร์โกต์ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤตผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน จนถึง ค.ศ. 1775 ตูร์โกต์ร่างนโยบายเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ คือ พระ ขุนนาง และสามัญชน ต้องเสียภาษีตามฐานะของตนเอง ยกเลิกสมาคมช่างฝีมือ ซึ่งมีอภิสิทธิ์ควบคุมคนงานในภาคอุตสาหกรรม ยกเลิกภาษีเกณฑ์แรงงานและภาษีข้าว

นโยบายดังกล่าวได้รับการรับรองโดยสภาปาลมองต์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1776 แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสมาชิกที่เป็นชนชั้นขุนนาง และไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทั้งจาก พระ ขุนนาง ข้าราชการ และราชสำนัก ทำให้ตูร์โกต์ต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม

ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากตูร์โกต์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1777 คือ ฌาค เนคเกร์ (Jacques Necker) ซึ่งได้สร้างนโยบายใหม่ขึ้นมา นั่นคือการไม่ขึ้นภาษี แต่ใช้การกู้เงินโดยให้ดอกเบี้ยสูงแทน นโยบายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพระ และขุนนาง แถมยังเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นกระฎุมพี อีกทั้งเนคเกร์ สนับสนุนให้รัฐบาลฝรั่งเศสกู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในสงครามอิสรภาพของอเมริกา โดยเข้าร่วมสงครามข้างฝ่ายอเมริการบกับรัฐบาลอังกฤษ จนได้รับชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กลับเป็นผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ซ้ำยังต้องชำระหนี้ให้กับเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากกู้ยืมโดยบวกกับเงินของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อนำไปให้กับสหรัฐอเมริกาใช้ในการสงคราม จากปัญหาที่เกิดขึ้น เนคเกร์จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1781

ผู้ที่มารับตำแหน่งแทนคืน กาลอน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1783 เขาค้นคว้าและได้ทำแผนปฏิรูปการคลังถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ 1. ตัดรายจ่ายรัฐบาล 2. ส่งเสริมมาตรการที่ก่อให้เกิดการค้าเสรี ลดภาษีเกลือ ภาษีสรรพสามิต ยกเลิกกำแพงภาษีระหว่างแคว้น 3. จัดให้มีการขายที่ดินของวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 4. ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน และ 5. เก็บภาษีที่ดินจากผู้มีกรรมสิทธิ์ไม่มีการยกเว้นบุคคล

นโยบายดังกล่าวถูกต่อต้าน โดยเฉพาะชนชั้นสูงในสภาปาลมองต์ กาลอนจึงขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภาขุนนาง เพื่อขอแรงสนับสนุน แต่ปรากฏว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 สภาขุนนางไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกาลอน จึงทำให้กาลอนโต้กลับ ตีพิมพ์รายงานค้นคว้าของเขาต่อสาธารณะ ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1787 พร้อมกับถูกเนรเทศไปแคว้นลอเรน ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้นถอดพระองค์ออกจากราชกิจการแก้ปัญหาดังกล่าว หันไปล่าสัตว์ หรือจัดงานเลี้ยงรับรอง

เบรียน เข้ามารับตำแหน่งแทนกาลอน เขาคือคนที่ทำให้สภาปาลมองต์จดทะเบียนกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าเสรี และการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน แต่เมื่อสภาปาลมองต์ปฏิเสธนโยบาย เบรียนจึงขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้พระราชอำนาจของพระองค์บังคับสภาปาลมองต์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงเนรเทศสภาปาลมองต์ไปทรอยส์ กระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1788 สภาปาลมองต์ได้รับอนุญาตให้กลับ ในปีถัดมา เบรียนได้ขอให้สภาปาลมองต์รับรองกฤษฎีกากู้เงิน แต่สภาปาลมองต์ปฏิเสธ ทำให้มีการประชุมสภาฐานันดร (Estates General) เพื่อแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน

ในความพยายามสุดท้ายเพื่อจัดการปัญหาเศรษฐกิจ พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรในปี 1789 ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี1614 โดยที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากสามฐานันดรคือ สงฆ์ ขุนนาง และฐานันดรที่สาม(โดยหลักการหมายรวมถึงสามัญชนทุกระดับ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเพียงตัวแทนของชนชั้นกระฎุมพี) แม้ตัวแทนจากฝ่ายฐานันดรที่สามจะมีจำนวนมากกว่า แต่กลับมีสิทธิมีเสียงน้อยกว่า ทำให้ฝ่ายฐานันดรที่สามประกาศตั้งสมัชชาแห่งชาติ(National Assembly) จุดชนวนสู่การปฏิวัติ ท่ามกลางการต่อต้านจากสถาบันกษัตริย์

การสั่งปลด ฌาค เนกเกอร์(Jacques Necker) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนการปฏิรูป บวกกับการสะสมกำลังของฝ่ายกษัตริย์ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก นำไปสู่การบุกทลายคุกบาสติลในเดือนกรกฎาคม1789

ในเดือนมิถุนายน1791 การต่อต้านสถาบันได้ขยายตัวจนพระเจ้าหลุยส์และครอบครัวตัดสินใจหลบหนีออกจากกรุงปารีส โดยหวังรวบรวมกำลังและการสนับสนุนจากออสเตรียและชาติอื่นๆ เพื่อกลับมาต่อกรกับฝ่ายปฏิวัติ แต่ไม่สำเร็จ ทรงถูกจับกุมตัวระหว่างทาง และทรงถูกพาตัวกลับปารีส

ในเดือนสิงหาคม1792 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวเนต พระชายาถูกจับกุม ก่อนสถาบันกษัตริย์จะถูกสั่งยกเลิก พร้อมกับประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน แผนการที่พระองค์ทรงวางแผนร่วมมือกับต่างชาติ เพื่อต่อต้านฝ่ายปฏิวัติยังถูกเปิดเผย ทำให้พระองค์ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ โดยมีการเปิดเผยเอกสารลับจากตู้เก็บเอกสารของพระองค์ที่มีเนื้อหาต้องการยึดพระราชอำนาจคืน ซึ่งพระองค์ก็มิได้แก้ข้อกล่าวหาอย่างหนักแน่นในการพิจารณาคดีในสภากงวองซีอง

พระองค์ถูกตัดสินว่ามีความผิด สมาชิกสภาเห็นชอบกับโทษประหาร 387 คน ส่วนอีก 334 คน เห็นว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่น สุดท้ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารด้วยกิโยตินในวันที่21 มกราคม1793 จากนั้นอีก9 เดือน พระนางมารี อองตัวเนต ก็ต้องพบจุดจบเช่นเดียวกับพระสวามี

วันที่ 21 มกราคม ยังถือเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ ที่ฝรั่งเศสเข้าสู่สถานการณ์แตกเป็น 2 ฝ่าย คือ นิยมกษัตริย์ และนิยมสาธารณรัฐ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

อ้างอิง :

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

“Louis Xvi”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Louis-XVI>

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 21 มกราคม 1793 ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0