โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

2020 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง จากอนาล็อกสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 16 ธ.ค. 2562 เวลา 08.35 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 05.59 น.
79491815_448081779457071_5664486329216401408_n

2020 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง จากอนาล็อกสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว

ธันวาคม เดือนสุดท้ายของพุทธศักราช 2562 หากว่าตามปีพุทธศักราชเป็นการเปลี่ยนปีจากปีหนึ่งไปอีกปีหนึ่ง ขณะเป็นเดือนสุดท้ายของคริสต์ศักราช 2019 จะขึ้นศักราชใหม่ เป็นคริสต์ศักราช 2020 ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักนวัตกรรมบอกมาสองสามปี โดยเฉพาะปีนี้ ว่า คริสต์ศักราช 2020 เป็นคริสต์ศักราชแห่งการเปลี่ยนแปลงจากยุคอนาล็อก เข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว

การเปลี่ยนโลกสู่ยุคดิจิตอล คือการเข้าสู่ยุค AI-Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ทุกอาชีพทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์อัจฉริยะและหุ่นยนต์

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ บอกถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ส่งผลต่อมนุษยชาติ โดยจะมีบทบาทและมีผลกระทบที่ชัดเจนในทุกมิตินับจากนี้ไป และจะทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก

แม้แต่ในวงการแพทย์ ที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เคยบอกว่า ฐานข้อมูลออนไลน์ชื่อ เมดไลน์ (Medline) ได้รวบรวมวารสารทางการแพทย์กว่า 5,600 เรื่อง แต่ละเรื่องมีงานวิจัยตีพิมพ์นับร้อย ซึ่งคงไม่มีใครอ่านได้หมด แต่ AI กลับสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ทุกบรรทัด

นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาททางการแพทย์

พร้อมกับให้ลองจินตนาการว่า หมอคนหนึ่งกว่าจะรักษาคนไข้ได้ครบ 10,000 ราย คงใช้เวลานับสิบปี เพื่อสร้างประสบการณ์การวินิจฉัย แต่อัลกอริทึม AI สามารถเรียนรู้ จดจำข้อมูลของคนไข้ได้เป็นล้านคนในเสี้ยววินาที นำไปสู่การวินิจฉัย หาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดได้

ต่อไปคนไข้ หรือไม่ใช่คนไข้ แต่เป็นเราๆ ท่านๆ มี AI คอยเตือนก่อนเป็นโรคด้วยซ้ำ เราอาจถูกบังคับด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่ร้องบอกว่า สิ่งนั้น “ห้ามกิน”-“นอนได้แล้ว”-“กินยา…2 เม็ดหลังอาหาร” ช่วยให้เราไม่ต้องไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ บอกว่า มีการศึกษาของ PwC ในปี 2017 พบว่า จะมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมและธุรกิจ โดยคาดว่า AI จะทำให้ GDP ของโลกเพิ่มมากขึ้นถึง 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030 ครึ่งหนึ่งมาจากการผลิตภาพแรงงาน และอีกครึ่งหนึ่งมาจากความต้องการผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่ง PwC ประมาณการว่าศักยภาพในการสร้างมูลค่าระหว่างอุตสาหกรรมการให้บริการระดับมืออาชีพจะมากถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อุตสาหกรรมด้านการเงิน 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอีก 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งจากผลการศึกษาพบว่า อเมริกาเหนือจะเป็นผู้นำในการใช้ AI ขณะที่ยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียเริ่มมีการใช้ AI ตามมา โดยคาดว่าประเทศจีนมีการใช้ AI มากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากจีนให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายในระดับประเทศว่าจะเป็นผู้นำ AI ระดับโลก ปี 2030 ทำให้องค์กรทั่วโลกปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และส่วนใหญ่พบว่าองค์กรเหล่านั้นมีการลงทุนด้าน AI มากขึ้น

เมื่อมีข้อดีต้องมีข้อเสีย คือ ความก้าวหน้าด้าน AI จะเริ่มรุนแรงและส่งผลกระทบกับผู้ที่ไม่ได้ปรับตัว และยังสร้างความเสี่ยงให้กับองค์กรในการดำเนินกิจการเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวและมีความเคลื่อนไหวมาหลายปี คือเรื่องของคลื่นความถี่โทรคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องของโทรศัพท์ หลังจากโทรศัพท์ใช้คลื่นปราศจากสาย ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “โทรศัพท์มือถือ” แปลงจากภาษาอังกฤษคือ “โทรศัพท์เคลื่อนที่”

ระบบโทรศัพท์ที่ใช้สายล้มหายตายจากไปทีละอย่างสองอย่าง นับแต่ระบบโทรเลข ระบบโทรศัพท์ใช้สายลากระโยงระยางอาศัยเสาไฟฟ้า และสายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ เป็นโทรศัพท์ไร้สาย ตั้งแต่ใช้เครื่องโทรศัพท์กระเป๋าหิ้ว เป็นโทรศัพท์ขนาดเท่า “กระดูกหมา (แทะ)” ถึงขนาดครึ่งแผ่นขนมปังอย่างบาง

จาก G2 ปรับความเร็วคลื่นมาเป็น G3 ระบบสื่อสารทางคลื่นเริ่มหายไปทีละสองสามอย่าง ถึงระบบ G4 วันนี้พรุ่งนี้เป็น G5 ใช้งานได้สารพัด เรียกว่า สั่งโอเลี้ยงได้

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้การติดต่อสื่อสารของโลกเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนลดการใช้แรงงานคนเป็นการใช้งานหุ่นยนต์มานานกว่า 30 ปีแล้ว และยิ่งเทคโน-นวัตกรรมปรับเปลี่ยนไปทั้งโลก การใช้ให้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนยิ่งพัฒนาไปกระทั่งแรงงานคนไม่จำเป็นอีกต่อไป

ระบบทั้งหลายในโลกจึงเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงกลับหน้ามือเป็นหลังมืออย่างแท้จริง

ระบบการเงินการคลังที่เคยใช้จ่ายด้วยเหรียญด้วยธนบัตร เปลี่ยนมาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ไปไหนมาไหนพกโทรศัพท์เครื่องนั้น ทั้งเที่ยวทั้งทำงานเดินทางได้ทั่วโลก

แม้แต่ว่า พรุ่งนี้อาจเดินทางไปเที่ยวบนดวงจันทร์ได้โดยไม่ยาก จะหนักหนาอยู่บ้างตรงที่มนุษย์ยังต้องหายใจด้วยออกซิเจนจึงอาจจำเป็นต้องพกพาถังออกซิเจนขนาดจิ๋วไปด้วยเท่านั้น หรืออาจต้องจัดตั้งสถานีเติมออกซิเจนเป็นระยะ หรือนำส่งออกซิเจนด้วยจรวดความเร็วสูงไปตามที่มนุษย์ต้องการ

พรุ่งนี้ 2020 เราเริ่มใช้รถยนต์ไร้คนขับ หรือใครขับรถไม่เป็นมาตลอดชีวิต อาจมีโอกาสขับรถด้วยระบบอัตโนมัติกับเขาได้คราวนี้ มีโอกาสเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนขับอีกต่อไป

ไม่น่าเชื่อว่า เพียง 100 ปีนับแต่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพิ่งจะมีเครื่องจักรไอน้ำ จากอุตสาหกรรมครอบครัว เป็นอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ใช้แรงคนบวกกับเครื่องจักร ประเดี๋ยวเดียว เมื่อมนุษย์คิดระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ อะไรต่อมิอะไรเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ยิ่งในห้วง 30 ปีหลังมานี้ ความเปลี่ยนแปลงยิ่งก้าวหน้าไปไกล จากคอมพิวเตอร์ ปรับมาเป็นผนวกกับเทคโนโลยี เปลี่ยนแนวทางความคิดเรียกว่า “อินโนเวชั่น” แปลไทยว่า “นวัตกรรม”

วิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมาชั่วปู่ย่าตายาย เป็นรุ่นพ่อแม่ ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ยังไม่เลยชั่วอายุคนยุคใหม่ ลูกหลานที่เติบโตผ่านมาอายุเพียง 50 ปี รุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ย่าตายายตามไม่ทัน

วันนี้ รุ่นพ่อรุ่นแม่กับรุ่นลูก อายุห่างกันเพียง 20 ปี รุ่นลูกเดินหน้าไปกับเทคโนนวัตกรรมถึงไหนๆ

เมื่อก่อนเพียง 30-40 ปีที่ผ่านมา คุณยายเปิดโทรทัศน์เองไม่ได้ อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่หลานอายุ 3-4 ขวบ อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกเช่นกัน เปิดปิดเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ให้คุณยายได้

รุ่นพ่อเป็นนักเขียน เขียนหนังสือด้วยลายมือ ปรับเปลี่ยนตัวเองใช้เครื่องพิมพ์ดีด ยังให้ลูกปีนขึ้นปีนลงนั่งตัก พ่อพิมพ์ดีดเขียนเรื่องไปเรื่อย วันนี้พ่อเปลี่ยนเป็นพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อติดขัดตรงนั้นตรงนี้ ยังต้องเรียกให้ลูกวัย 20 มาดูซิว่าเครื่องเป็นอะไร

ลูกมากดแป้นตรงนั้นตรงนี้ ประเดี๋ยวเดียว เครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ใช้ได้เป็นปกติ ยังสอนพ่อด้วยว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ของพ่อไม่ได้เป็นอะไร แต่พ่อไปกดแป้น ลูกเรียกว่า “ปุ่ม” ผิด เครื่องมันเลยหยุดทำงาน ยังสอนพ่ออีกว่า วันหลังเครื่องมันเป็นอย่างนี้ ให้ “กดปุ่มนั้นปุ่มนี้” พ่อบอกว่า วันหลังมันเป็นอย่างนี้อีก พ่อเรียกลูกเร็วกว่า เพราะพ่อจำไม่ได้ดอก ประเดี๋ยวก็ลืม

ลูกเห็นพ่อใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องนี้มาหลายปีแล้ว พ่อบอกว่า เดี๋ยวนี้มันช้า จะเรียกดู “ไลน์” แต่ละที ไม่เหมือนก่อน เรียกปุ๊บขึ้นปั๊บ ลูกบอกว่าเดี๋ยวซื้อให้ใหม่ พ่อบอกไม่ต้อง ซื้อมาใหม่ พ่อต้องเรียนรู้ใหม่ จำใหม่อีกนั้นแหละ จำได้ประเดี๋ยวก็ลืม ลำบากลูกอีก

ว่าแล้ว พ่อก็ยอมใช้เครื่องโทรศัพท์เครื่องเดิมที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อยเป็น 4G แต่ใช้เพียง 3G

เดือนนี้ธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีเก่า 2019 เดือนหน้า มกราคม เดือนแรกของปีใหม่ 2020

ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ โปรดติดตาม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0