โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

20 ปี เปลี่ยน “รมต. ศึกษาฯ” 20 คน! การเมืองแฝงอยู่ในการศึกษา แล้วการพัฒนาอยู่ตรงไหน?

Another View

เผยแพร่ 09 ม.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

20 ปีเปลี่ยนรมต. ศึกษาฯ20 คน! การเมืองแฝงอยู่ในการศึกษาแล้วการพัฒนาอยู่ตรงไหน?

ถึงช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับการศึกษาที่กำลังเป็นกระแส จะเทไปทางเรื่องของเครื่องแต่งกายที่โรงเรียนเอกชนชายล้วนชื่อดังทดลองให้เด็ก ๆ เลิกแต่งชุดนักเรียน แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือเรื่องของ "นโยบายการศึกษาไทย"ที่เปลี่ยนไปมาไม่หยุดหย่อน

ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นน้อง ๆ นักเรียนมัธยม อาจจะพอรู้กัน เพราะระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่หยุดหย่อน ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากนโยบายของเจ้ากระทรวงที่นั่งอยู่ในตำแหน่งปีนั้น ๆ

เชื่อหรือเปล่าว่าถ้าเรานับย้อนลงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยของเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วถึง 20 คน!

นี่ไม่ใช่เกมเก็บแต้มที่ได้คะแนนเยอะ ๆ แปลว่าชนะ แต่ในทางกลับกัน ตัวเลขนี้กลับเป็นปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทยในระดับนโยบาย เพราะการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในระดับเฉลี่ยปีละ 1 คนขนาดนี้ ย่อมหมายถึง "ความไม่ต่อเนื่อง"ของนโยบายพัฒนาเยาวชนในชาติ ที่เปลี่ยนไปมาแล้วแต่ว่าหัวหน้าของรัฐมนตรีคนนั้นต้องการอะไร

"ดร. วรากรณ์สามโกเศศ"นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยกล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยเอาไว้ว่ามี 6 ด้านใหญ่ ๆ ด้วยกัน สองข้อที่น่าสนใจคือ การเมืองที่อยู่ในการศึกษาและ การขาดความมุ่งมั่นและต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา

ทั้งสองปัจจัยนี้เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่นำนโยบายของรัฐบาลมาดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง ก็ย่อมมี‘ภาระ’ ที่จะต้องทำตามเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ และในแต่ละวาระของรัฐบาลก็มีการหาเสียงนโยบายการศึกษาแตกต่างกัน ทำให้การศึกษาของเด็กไทย เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองของผู้ใหญ่ในสภาไปโดยปริยาย

และอีกหนึ่งสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเสถียรภาพของการเมืองไทยอย่างที่รู้กัน ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการรัฐประหารไปแล้วถึง 2 ครั้งโดยกลุ่มผู้นำเผด็จการทหาร ทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนต้องลาออกจากตำแหน่ง ถูกรัฐบาลจากการแต่งตั้งของทหารมานั่งทำหน้าที่ต่อ

ซึ่งนั่นหมายถึงการล้มงานที่เคยทำมา 

เสียงจากนักวิชาการอีกหลายคนเสนอว่า รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ควรเป็นตำแหน่งที่อยู่กันยาว ๆ เพื่อวางนโยบายระยะยาว โดยคนที่เข้ามาทำหน้าที่ ควรมีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการปฏิรูปการศึกษาให้ดีขึ้น  ไม่ต้องอยู่ยาวเป็นสิบปี แต่อยู่ให้ครบวาระของรัฐบาลก็พอ (ถ้าไม่ถูกรัฐประหารเสียก่อน)

ลองมาดูในความเป็นจริง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่มีรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปีเพียงครั้งเดียวคือรัฐบาลของ ...ทักษิณชินวัตรแต่แค่สมัยแรก ก็เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปถึง 6 คน! โดยมีระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 4 เดือน ในสมัยของ .นพ. เกษมวัฒนชัย

เรียกได้ว่า ยังไม่ทันจะจัดห้องทำงานเสร็จ ก็ต้องเก็บของกลับบ้านกันแล้ว

ส่วนคนที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด คือ ชวนหลีกภัยที่อยู่นาน 3 ปี 4 เดือน ในรัฐบาลของ พลเอกเปรมติณสูลานนท์ส่วนคนที่อยู่วางรากฐานการศึกษาไทยอย่างยาวนานที่สุดในรัฐบาลถึง 3 สมัย คือ หม่อมหลวงปิ่นมาลากุลที่ดำรงตำแหน่งรวมกันถึง 11 ปีด้วยกัน

แม้ปัจจุบันนี้ การที่จะมีผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียาวข้ามสมัยเป็นสิบ ๆ ปีจะเกิดขึ้นได้ยากจนถึงขั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่ควรจะเป็น คือความตั้งใจที่จะสานต่อนโยบายด้านการศึกษาให้เป็นไปตามแผนระยะยาว ที่มุ่งเป้าที่เยาวชนเป็นหลัก มากกว่าจะเลือกนโยบายที่คนชอบเก็บไว้ และปัดทิ้งนโยบายที่ดำเนินการมาแล้ว แต่ไม่เห็นประโยชน์กับตัวเองและพรรค

หากย้อนกลับไป มีเพียงสองนโยบายเท่านั้นที่ได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือการขยายการศึกษาภาคบังคับจากช่วงทศวรรษ 2530 ที่บังคับเพียง 6 ปี เป็น 15 ปีในปัจจุบัน และนโยบายจัดตั้งกองทุนกู้ยืมทางการศึกษา เพื่อสนับสนุนเงินทุนกับเยาวชนที่อาจไม่มีทุนทรัพย์เรียนต่อชั้น ปวส. หรือมหาวิทยาลัย

ทว่านอกจากสองนโยบายที่ประสบความสำเร็จและอยู่ยาวจนถึงปัจจุบัน เรากลับไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจอยากเห็นเยาวชนไทยเติบโตไปในอนาคต เรายังมีเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปมาบ่อยพอ ๆ กับนายก, ระบบการสอนแบบ Child Center ที่เป็นคำฮิตติดหูอยู่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ยังศูนย์กลางอยู่ที่ครูอยู่ดี  และนโยบายอื่น ๆ ที่ยกขึ้นมาอย่างงง ๆ และถูกปัดทิ้งอย่างงง ๆ เมื่อหัวหน้าคนใหม่มาประจำการ

เราเห็นภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า ลูกหลานของเราจะเดินหน้าไปแบบไหน?

คำถามนี้จะตอบได้ ก็ต่อเมื่ออีก 20 ปี เราไม่ใช้รัฐมนตรีอย่างสิ้นเปลือง และเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่วางรากฐานการศึกษาอย่างตั้งใจจริง ไม่ใช่แค่รับใบสั่งจากรัฐบาลอย่างที่เป็นมา!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0