โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

20 ต้นไม้ฟอกอากาศ ลิสต์ไว้เตรียมปลูก ดูดสารพิษ

Seventeen Thailand

เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 07.08 น.
20 ต้นไม้ฟอกอากาศ ลิสต์ไว้เตรียมปลูก ดูดสารพิษ
20 ต้นไม้ฟอกอากาศ ลิสต์ไว้เตรียมปลูก ดูดสารพิษ

แม้จะก้าวเข้าสู่ปลายปีแล้ว แต่สถานการณ์หมอกควันฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ สำหรับมลพิษทางอากาศที่เราต้องเผชิญนั้น ไม่เพียงแค่ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM) ที่เกินค่ามาตรฐานหรือสารพิษจากไอเสียรถยนต์ในเมืองที่รถเต็มถนน แต่กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราก็ต่างเผชิญกับสารพิษมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องถ่ายเอกสารหรือเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นที่มาของสารระเหย ได้แก่ เบนซิน โทลูอีน และโอโซน หรือแม้แต่ สารฟอร์มาลดีไฮด์ จากบ้านหรืออาคารสร้างใหม่ที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ ไม้อัด บอร์ด สี พลาสติก รวมไปถึงปูน นี่ยังไม่รวมถึงก๊าซเสียจากมนุษย์ ทั้ง คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฯลฯ ตลอดจนเชื้อโรคและไวรัสชนิดต่างๆ ที่ติดต่อทางลมหายใจรอบตัวเรา
โดยจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษามลพิษอากาศในอาคาร เมื่อปี 2554 พบว่า จากการเก็บตัวอย่างอากาศภายในอาคารที่ติดเครื่องปรับอากาศ ต่างมีมลพิษที่เป็นอันตรายไม่น้อยกว่ามลพิษภายนอกอาคาร โดยเฉพาะคนเมืองที่ใช้ชีวิตในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน อากาศภายในอาคารจึงเป็นภัยเงียบที่เราอาจไม่รู้ตัว

source : pinterest.com
ดังนั้น หากการซื้อเครื่องกรองอากาศมาเป็นตัวช่วยยังไม่ใช่ที่สุดของคุณ และการพาร่างกายไปสูดอากาศที่เป็นมิตรกับปอดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งการเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในห้องปรับอากาศเฉยๆ ก็ไม่เพียงพออีกต่อไป เราจึงมีตัวช่วยอีกทางอย่างการใช้ ต้นไม้ ที่มีคุณประโยชน์มากกว่าแค่ตกแต่งเพื่อความสวยงาม แต่ยังช่วยฟอกอากาศด้วยคุณสมบัติดูดสารพิษและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บ้านของเรามาฝากกัน จะมีไม้พันธุ์ไหนบ้างนั้น เราลิสต์รายชื่อมาให้ทุกคนเตรียมจดเรียบร้อยแล้ว
1. สาวน้อยประแป้ง (Dumb Cane)
ไม้ใบสวยงามที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดพิษจำพวกไซลีนและโทลูอีน ที่เกิดจากพาร์ติเคิลบอร์ด ไม้อัด เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ สีทาห้อง

sources : pinterest.com
2. ยางอินเดีย (Rubber Plant)
ไม้ปลูกง่าย ทนทาน ชอบแสงแดด แต่ก็เติบโตได้ในสภาพแสงน้อย มีความสามารถในการคายความชื้นได้ดีมากพอๆ กับความสามารถในการดูดสารพิษหรือช่วยฟอกอากาศ เพิ่มเติม : panmai.com

sources : pinterest.com
3. ไทรใบสัก (Fiddle Fig)
ไม้เขตร้อน ที่ฟอร์มต้นสวยจนเป็นที่นิยมของคนยุคนี้ มีใบขนาดใหญ่ ต้องการแสงและไม่ต้องการน้ำชุ่ม มีคุณสมบัติในการดูดสารพิษและฟอกอากาศให้สดชื่น จึงเหมาะกับการวางในห้องนั่งเล่น ริมระเบียง หรือห้องทำงานที่แดดส่องถึง

sources : pinterest.com
4. เขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen)
ไม้ประดับที่มีความสามารถในการดูดสารพิษระดับปานกลาง จากใบที่มีขนาดกว้าง ซึ่งพื้นที่ผิวใบสำหรับดูดกลืนสารพิษได้ โดยเฉพาะสารจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ และมีอัตราการคายความชื้นสูง เพิ่มเติม : medthai.com

sources : pinterest.com
5. เบญจมาศ (Chrysanthemum)
ไม้ล้มลุก มีดอกหลากสี ชอบแดดจัด จากการทดลองของ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตัน นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซา สหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการวิจัยพืชเพื่อหาวิธีปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในระบบปิดของยานอวกาศ พบว่า ต้นเบญจมาศช่วยดูดสารมลพิษได้มากกว่า 90% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว เพิ่มเติม : mgronline.com

sources : pinterest.com
6. พลูด่าง (Golden Pothos)
ไม้เลื้อยเขตร้อน ลำต้นอ่อน เติบโตง่าย เป็นไม้อีกหนึ่งชนิดที่ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตัน พบว่าสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ได้ถึง 75% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงเช่นกัน เพิ่มเติม : mgronline.com

sources : pinterest.com
7. วาสนาราชินี (Queen of Dracaenas)
ไม้ยืนต้น ลำต้นกลมตรง ลักษณะใบเรียวยาว วาสนาเป็นไม้ประดับอีกชนิดหนึ่งที่ดูดสารพิษภายในอาคารจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์และไตรคลอโรเอทธีลีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

sources : pinterest.com
8. ตีนตุ๊กแกฝรั่ง (English Ivy)
ไม้เลื้อยที่นิยมปลูกตามกำแพง เป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด แต่สามารถปรับตัวอยู่ในแสงรำไรได้ มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจำพวกสารเบนซิน

sources : pinterest.com
9. ลิ้นมังกร (Snake Plant)
มีคุณสมบัติในการดูดสารพิษไม่มาก แต่จะเด่นเรื่องการคายออกซิเจนออกมาตอนกลางคืนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในห้องนอน

IG : @thecottonplant
10. เงินไหลมา (Arrowhead Vine)
ไม้เลื้อยเถาว์ยาว เป็นไม้ในร่มที่ต้องการแสงแดดส่องถึง ต้องการน้ำมากและความชื้นสูง เป็นไม้ดูดสารพิษภายได้พอสมควร แต่อัตราการคายความชื้นสูงจึงช่วยสร้างความสดชื่นให้แก่อากาศได้มากกว่า

sources : pinterest.com
11. เดหลี (Peace Lily)
ไม้ประดับที่มีดอกสีขาวคล้ายดอกหน้าวัว คุณสมบัติคายความชื้นสูงเช่นเดียวกับความสามารถในการดูดพิษภายในอาคาร เช่น กาว, อาซีโตน(ในเครื่องสำอาง), น้ำยาทาเล็บ, น้ำยาลบคำผิด, สารไตรคลอโรเอทีลีน ซึ่งมีอยู่ในเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เตาแก๊ส น้ำยาเคลือบเงาไม้ รวมทั้งเบนซิน และฟอร์มาลดีไฮด์ ถือเป็นไม้กระถางที่ได้คะแนนสูงสุดในการฟอกอากาศเลยทีเดียว

sources : pinterest.com
12. สับปะรดสี (Urn Plant)
ไม้ประดับสีสวย ใบเป็นกลีบแข็งๆ แผ่ออกมา โตช้า แต่ดูแลง่าย ทั้งยังทนแล้งได้ดี คุณสมบัติในการดูดสารพิษไม่มาก แต่คายออกซิเจนออกมาตอนกลางคืนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในห้องนอนเช่นกัน เพิ่มเติม : sanook.com

sources : orchidsinafrica.com

13. กล้วยไม้ (Orchid)
ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ตระกูลใดก็ล้วนมาพร้อมคุณสมบัติในการคายออกซิเจนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เวลากลางคืน โดยเฉพาะกล้วยไม้หวายนั้น สามารถดูดไอระเหยจากสารเคมีจำพวกแอลกอฮอล์ อะซีโทน ฟอร์มาลดีไฮด์ และคลอโรฟอร์มจากอากาศได้ดีเป็นพิเศษด้วย

sources : cutypaste.comloveforevergrows.com
14. ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera)
นอกจากจะเป็นสมุนไพร ใช้ทั้งทำยา เครื่องดื่ม และส่วนประกอบในการทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแล้ว ยังมีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ หรืออีกชื่อที่เราน่าจะคุ้นเคยกว่าอย่างฟอร์มาลีน ซึ่งพบในพวกสารเคลือบต่างๆ ทั้ง ยาทาเล็บ ยาเคลือบเฟอร์นิเจร์ สีทาบ้าน ฯลฯ

sources : pinterest.com
15. ปาล์มสิบสองปันนา (Dwarf Date Palm)
ปาล์มลำต้นเดี่ยว ปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและที่ๆ มีแสงน้อย สามารถดูดสารพิษในอากาศภายในอาคารได้ดี โดยเฉพาะสารไซรีน ซึ่งพบมากในพวกเครื่องพิมพ์ การผลิตเครื่องหนัง ยางสังเคราะห์  เคลือบเงา พ่นสี และส่วนน้อยจากพวกไอเสียรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในบ้าน เพิ่มเติม : summacheeva.org

sources : pinterest.com
16. เฟิน (Fern)
ไม่ว่าจะเป็นเฟินบอสตันที่ช่วยดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เฟินขนาดใหญ่อย่าง เฟินดาบออสเตรเลีย กับความสามารถในการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน และโทลูอีน ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่น่าปลูกมากทีเดียว เพิ่มเติม : [apcbkk.com](http://www.apcbkk.com/pdf/products/Hydrocarbons/SDS/Toluene_TH.pdf http://dpm.nida.ac.th/main/index.php/articles/chemical-hazards/item/55-%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81) | thailandindustry.com

sources : pinterest.com
17. ไทรย้อยใบแหลม (Weeping Fig)
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่ม ใบเขียวสด ปลูกง่าย และช่วยดูดสารพิษในอากาศได้ดี โดยเฉพาะสารจำพวกฟอร์มาลดิไฮด์ รวมทั้งมีอัตราการคายความชื้นที่ดีด้วย

sources : pinterest.com
18. เสน่ห์จันทร์แดง (King of Hrarts)
ไม้มงคล ก้านใบยาว รูปหัวใจ เป็นไม้ที่ต้องการดูแลพอสมควรเพราะไม่ค่อยทนนัก แต่ก็มีความสามารถสูงในการดูดสารพิษในอากาศโดยเฉพาะสารพิษจำพวกแอมโมเนีย

sources : pinterest.com
19. เศรษฐีไซ่ง่อน (Lily Turf)
ไม้ล้มลุก ใบเรียวยาว กลางใบเป็นร่องเล็กน้อย มีความสามารถในการดูดสารพิษจำพวกแอมโมเนียได้ดี

sources : gardeningexpress.co.uk
20. หมากเหลือง (Yellow Palm)
ปาล์มสำหรับประดับตกแต่งสวนและภายในบ้าน ดูแลง่าย อายุยืน หนึ่งในไม้มงคล และมีความทนต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคาร คายความชื้นในห้องได้มาก ในขณะที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษปริมาณมากเมื่อเทียบกับบรรดาไม้ประดับดูดสารพิษด้วยกัน จึงจัดเป็นไม้ดูดสารพิษจากอากาศได้มากที่สุดชนิดหนึ่งเลยทีเดียว

sources : waitrosegarden.com
ไม่ใช่เพียงไม้ 20 ชนิดที่เรานำเสนอไปเท่านั้น แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า "ต้นไม้" ก็ล้วนมีคุณสมบัติดูดซับก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์และคายออกซิเจนด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น การแก้ปัญหามลพิษที่ยิ่งยืน นอกจากเราจะต้องลดต้นเหตุและกระบวนการก่อสารพิษแล้ว การกลับมาฟื้นคืนธรรมชาติให้คู่กับการเจริญเติบโตของเมืองก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรหลงลืม เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้วัดกันได้จากตัวเลข GDP หรือสาธารณูปโภคที่ทันสมัย แต่ยังรวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่างสิ่งแวดล้อมและการจัดการที่เป็นระบบ ฯลฯ อันจะนำมาการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านอื่นๆ ต่อไป
ติดตาม seventeen Thailand ได้ที่นี่…
Website : www.seventeenthailand.com
Instagram : @seventeenthailand
Facebook : @SEVENTEENthailand
Youtube : @seventeenthailandTV
Twitter : @SeventeenTHcom

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0