โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

2.73 ล้านคนถือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ไม่ได้เงินเยียวยามากองกันตรงนี้ มีคำตอบ!

The Bangkok Insight

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 06.00 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 05.58 น. • The Bangkok Insight
2.73 ล้านคนถือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ไม่ได้เงินเยียวยามากองกันตรงนี้ มีคำตอบ!

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้โอนเงินเยียวยาไวรัสโควิด-19 ล็อตเก็บตก จำนวน 3,000 บาทให้กับผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่ไม่เคยได้รับเงินเยียวยาจากโครงการอื่นมาก่อน จำนวน 1.14 ล้านราย โดยเป็นการโอนเงินเยียวยาครั้งเดียวภายในวันนั้น

หลายคนผ่านเกณฑ์และได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เรียบร้อยแล้ว ตรงข้ามกับอีกหลายคนที่เชื่อว่า ตนเองผ่านเงื่อนไข แต่กลับไม่ได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทดังกล่าว โดยไม่ทราบสาเหตุ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน

แจงรายละเอียดโครงการเยียวยา “บัตรคนจน”

The Bangkok Insight จึงได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวกับ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีการชี้แจงว่า ผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน มีจำนวน 13.9 ล้านคนทั่วประเทศ โดยมีการจ่ายเงินเยียวยาหลายโครงการ ดังต่อไปนี้

1.โครงการเราไม่ทิ้งกัน จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 5.6 ล้านคน เป็นเงิน 5,000 บาท 3 งวด รวม 15,000 บาท  ซึ่งปัจจุบันจ่ายเงินครบหมดแล้ว

2.โครงการเยียวยาเกษตรกร จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร จำนวน 3.5 ล้านคน เป็นเงิน 3,000 บาท 3 งวด รวม 15,000 บาท  ซึ่งปัจจุบันกำลังจะจ่ายเยียวยางวดที่ 3 หรืองวดสุดท้าย ระหว่างวันที่ 15-22 กรกฎาคม 2563

3.โครงการเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่เคยรับเงินเยียวยาจากโครงการอื่นมาก่อน หรือล็อตเก็บตก จำนวน 1.14 ล้านคน เป็นเงิน 1,000 บาท 3 งวด รวม 3,000 บาท โดยจ่ายครบหมดแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

4.ผู้สูงอายุ ที่ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 1.5 ล้านคน ซึ่งกำลังจะได้รับเงิน 3,000 บาทจากโครงการเยียวยากลุ่มเปราะบางในเดือนกรกฎาคมนี้

5.ผู้พิการ ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 6.3 แสนราย ซึ่งกำลังจะได้รับเงิน 3,000 บาทจากโครงการเยียวยากลุ่มเปราะบางในเดือนกรกฎาคมนี้

6.ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งไม่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 8.4 แสนคน

7.ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 17,000 คน

8.ผู้ถือบัตรฯ ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ใดๆ ซึ่งยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ จำนวน 6 แสนคน

3 กลุ่ม 2.73 ล้านคน ยังไม่ได้เงินเยียวยา

สำหรับผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ รวมถึงเงินเยียวยาล็อตเก็บตกจำนวน 3,000 บาทในปัจจุบันมีจำนวน 3 กลุ่ม รวม 2.73 ล้านคน ได้แก่

1.กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรฯ 1.5 ล้านคน และ 2.กลุ่มผู้พิการที่ถือบัตรฯ 6.3 แสนคน รวม 2.13 ล้านคน เนื่องจากถูกจัดอยู่ใน “โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง” ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำลังจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทเท่ากันภายในเดือนกรกฎาคมนี้แทน

3.ผู้ถือบัตรฯ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ใดๆ เลย จำนวน 6 แสนราย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ถือบัตรฯ รายดังกล่าว เป็นผู้ลงทะเบียน “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” แล้วไม่ผ่านเกณฑ์, สละสิทธิ์ หรือยื่นอุทธรณ์ ซึ่งทำให้รายชื่อไปค้างอยู่ในระบบโครงการเราไม่ทิ้งกันและไม่ได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทในครั้งนี้

โดยกลุ่มที่ 3 นี้ต้องตรวจสอบความชัดเจนกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เบอร์โทรศัพท์ 02 273 9020 เนื่องจากเป็นเจ้าของโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเป็นผู้คัดกรองรายชื่อผู้รับเงินเยียวยาแล้วส่งมาให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินเข้าบัตรฯ สศค. จึงจะมีรายละเอียดของผู้ถือบัตรฯ แต่ละคนอย่างชัดเจน

รายงานข่าวเปิดเผยต่อว่า หลังจากมีการโอนเงินเยียวยาไวรัสโควิด-19 ล็อตเก็บตกแล้ว ก็มีผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนมากที่ไม่ได้รับเงิน 3,000 บาท โทรศัพท์เข้ามาสอบถามประเด็นดังกล่าวกับ กรมบัญชีกลาง และศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งก็ไม่สามารถให้คำตอบได้และต้องให้โทรไปสอบถามกับ สศค. เบอร์โทรศัพท์ 02 273 9020 แทน

นอกจากนี้พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่รับเงินเยียวยา 3,000 บาท เดินทางไปยังกระทรวงการคลังเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ล่าสุดมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท โทรศัพท์ไปสอบถามความชัดเจนกับ สศค. ทางเบอร์โทรศัพท์ 02 273 9020 แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงต้องรอว่า สศค. จะมีความชัดเจนในประเด็นนี้อย่างไรและเมื่อใด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0