โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

1997 – 2019 – 2046 : ฮ่องกง – ห้วงยามของการเอาคืน

The101.world

เผยแพร่ 14 ต.ค. 2562 เวลา 09.13 น. • The 101 World
1997 – 2019 – 2046  : ฮ่องกง – ห้วงยามของการเอาคืน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

หากย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ในบางบ้านอาจมีวิดีโอหนังฮ่องกงมากกว่าหนังไทย ชื่อหนังอย่าง โหดเลวดี, สองคนสองคม, วิ่งสู้ฟัด หรือคนเล็กอะไรสักอย่าง เป็นชื่อติดหูคนไทย ที่กลายมาเป็นมุกตลกและเรื่องเล่า ไหลวนเวียนในสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ

หนังฮ่องกงเป็นที่นิยมในไทยอย่างมาก -- อย่างไม่รู้ตัว เราน่าจะรู้จักฮ่องกงดีมากกว่าบางจังหวัดในประเทศไทยด้วยซ้ำ

ไม่ใช่แค่หนังประเภทสู้ฟัดเท่านั้น แต่หนังอ้อยอิ่งร้าวรานของหว่อง กาไว ก็เข้ามาซึมลึกในหัวใจของคนหนุ่มสาวอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เหล่าตัวละคร บทสนทนา และฉากในหนังหว่อง กาไว ได้รับการพูดถึง พินิจพิเคราะห์ ตีความ และกลายเป็นอิทธิพลสำคัญของคนทำหนังยุคใหม่ ชื่อของหว่อง กาไว กลายเป็นตัวแทนของความเหงา เศร้า ร้าวราน และการรอคอยท่ามกลางควันบุหรี่ หรือที่เรียกกันจนชินหูว่า ‘ความหว่อง’

ฉันหอบเอาฮ่องกงในความทรงจำจากหนัง บินข้ามทะเลไปด้วย หวังใจว่าจะได้ไปนั่งละเลียดเบียร์ในบาร์ ‘หว่องๆ’ สักร้าน ได้เห็นนักเลงซัดกันกลางตลาดจนตะกร้าผักกระจุยกระจาย หรืออะไรทำนองนั้น

กลับมาที่ความจริง ฉันไปฮ่องกงเพื่อทำงาน และถ้ามีสติดีพอก็น่าจะรู้ว่าฮ่องกง 2019 ไม่ได้เป็นอย่างในหนัง ยิ่งในวันที่มีการประท้วงครั้งใหญ่ ความวุ่นวายที่ว่าอาจขยายใหญ่คนละเรื่องกับนักเลงตีกันในตลาด

 

ฉันพักที่โฮสเทลเล็กๆ บนชั้น 2 ในย่าน Causeway Bay ใจกลางเมืองที่เคยมีผู้ชุมนุมอัดแน่นเต็ม Victoria Park วันที่ไปถึงย่านนั้นสงบเรียบร้อยดี แดดแรง ผู้คนเดินกันเงียบๆ ไม่สบตาไม่พาที ในทุกตรอกจะมีคนยืนสูบบุหรี่ บ้างเร่งรีบ บ้างยืนนิ่งเหม่อลอย ฉันใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะพบทางเข้าขึ้นไปบนโฮสเทล หากสมาธิหลุดเพียงนิดเดียว บันไดชันแคบนั้นก็ดูเหมือนจะหายวับไปกับตา -- อาคารในฮ่องกงมักเป็นแบบนี้ เล็กแคบและพรางตัว

ระหว่างทางที่พักบันได ฉันเห็นก้นบุหรี่วางระเกะระกะบนพื้น แอบคิดไปถึงว่าอาจเป็นก้นบุหรี่ของตำรวจหนุ่ม 623 (รับบทโดยเหลียง เฉาเหว่ย) ใน Chunking Express ที่ทิ้งไว้ก่อนเดินขึ้นที่พัก

เหงา -- เป็นความรู้สึกแรกๆ ที่ปรากฏในใจเมื่อไปถึง ถ้าไม่ใช่เพราะอิทธิพลของหนังหว่อง ก็น่าจะเพราะโรค ‘เดินทางคนเดียว’ ทำพิษเสียแล้ว หรือไม่ก็เพราะฮ่องกงเองนั่นแหละ ที่ทำงานกับหัวใจคนแบบนี้

คนฮ่องกงคนแรกที่ฉันคุยด้วย (ถ้าไม่นับ ตม.) คือคนดูแลโฮสเทล เธอเป็นหญิงสาวหน้าตาเรียบง่ายธรรมดาอย่างยิ่ง พูดภาษาอังกฤษคล่องปร๋อ ยิ้มน้อยแต่ยิ้มบ้าง ถ้าเจอกันครั้งแรกจะไม่มีทางนึกถึงว่าเธอเป็นเจ้าของบทสนทนาที่เมามันและตรงไปตรงมาที่สุด ซึ่งจะเล่าในตอนถัดไป

ฉันเข้าพักในห้อง 202 เสียดายที่ไม่ใช่ห้อง 2047 เหมือน ‘โจวมู่หวัน’ นักหนังสือพิมพ์เพลย์บอยหนวดงาม ผู้มีชีวิตรายล้อมไปด้วยผู้คนแต่ยังเปลี่ยวเหงา ในหนังเรื่อง 2046 ของหว่อง กาไว

 

 

ตัวเลข 2046 คือช่วงเวลา 1 ปีก่อนที่เกาะฮ่องกงต้องกลับเข้าสู่อ้อมอกของจีนอย่างเต็มขั้น

ย้อนไปในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 เป็นช่วงเวลาสิ้นสุดสัญญาเช่าฮ่องกง 99 ปีของสหราชอาณาจักร มีการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนจีนในวันนั้น ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า ฮ่องกงจะเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน แต่มีอิสระในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจได้ตามระบบเศรษฐกิจเสรี และมีระบบกฎหมายเป็นของตัวเอง เป็นเวลา 50 ปี หรือที่เรียกกันว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ ช่วงเวลา 50 ปีที่ว่านี้จะครบกำหนดในปี 2047

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่เลข 2046 ในหนังเรื่อง 2046 ก็ปรากฏให้เห็นอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงตัวเลขอีกหลายตัวที่ชวนให้เราตีความหาความหมายที่ซ่อนอยู่

 

 

2046 เป็นหนังที่ว่าด้วยชายหนุ่มนามว่า ‘โจวมู่หวัน’ (รับบทโดยเหลียง เฉาเหว่ย) นักหนังสือพิมพ์ผู้กลับมาเผชิญหน้ากับอดีต หลังจากที่เขาหนีไปอยู่สิงคโปร์หลายปีแล้วกลับมาฮ่องกงในปี 1966 ชายหนุ่มที่มีรอยยิ้มบนใบหน้าเสมอ แต่หัวใจนั้นเย็นชา เต็มไปด้วยความทรงจำที่เป็นหลุมลึกยากจะขุดถึง แม้จะมีผู้หญิงวนเวียนเข้ามามากหน้าหลายตา แต่ความทรงจำของเขาหยุดไว้ที่ผู้หญิงเพียงคนเดียว

เขาย้ายเข้ามาอยู่ที่ห้องหมายเลข 2047 อันที่จริงเขาอยากเช่าห้อง 2046 ห้องที่หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเขามีความสัมพันธ์เคยอยู่ แต่ห้องไม่ว่าง เขาจึงแอบมองห้อง 2046 จากห้อง 2047 อยู่เสมอ แม้คนพักอาศัยจะเป็นคนอื่นไปแล้ว

 

 

หนังที่เสื้อผ้าสีสดใสแต่โทนทึมเทานี้ แบ่งช่วงผ่านเรื่องเล่าในคืนวันก่อนคริสมาสต์ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 1966-1969 มีผู้หญิง 4 คน เข้ามาในชีวิตเขา คนหนึ่งเป็นนางโชว์ที่พบไม่กี่ครั้งก่อนจากกันนิรันดร์ คนหนึ่งเป็นโสเภณีชั้นสูงที่เขาใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด คนหนึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของโรงแรมผู้มีคนรักเป็นหนุ่มญี่ปุ่น และหญิงสาวคนสุดท้าย (ซึ่งคล้ายเป็นคนแรก) ที่เขาเจอในคาสิโน อดีตของทั้งคู่กลายเป็นกำแพงกั้นความสัมพันธ์ให้ไม่อาจก้าวไปต่อ

หนังตัดสลับระหว่างชีวิตของโจวมู่หวัน สภาพบ้านเมืองของฮ่องกงในช่วงปี 1966-1969 กับ ภาพจากนิยายของเขาที่ชื่อ 2047 นิยายไซไฟที่ว่าด้วยสถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า 2046 ที่ผู้คนไปไล่จับความทรงจำของตน สถานที่ที่ไปแล้วไม่มีใครกลับมา เว้นแต่ชายผู้หนึ่งที่หลงรักพนักงานต้อนรับแอนดรอยด์ เขามักเล่าเรื่องการฝากความลับไว้ในผืนดินให้ผู้คนฟังว่า

“คนสมัยก่อนบอกว่า ถ้ามีความลับที่ไม่อยากบอกใคร ให้ปีนขึ้นไปบนเขาสูง ขุดหลุม กระซิบความลับลงไปในหลุมนั้น แล้วเอาดินกลบ ความลับก็จะเป็นความลับตลอดกาล”

ประโยคนี้ดึงคนดูให้ตกหล่มความลับนั้นไปด้วย

 

 

ภาวะความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์และความทรงจำเหล่านี้สะท้อนภาพของความไม่แน่นอนของฮ่องกงได้เป็นอย่างดี แม้ฉันจะอยู่ห้อง 202 และคนข้างห้องก็ไม่ใช่สาวสวยสวมกี่เพ้าอย่างในหนัง แต่มวลความเดียวดายก็เข้าจู่โจมเป็นระยะ

ไม่รู้จักใคร นั่นหนึ่ง และสอง ฉันอยู่ในภาวะที่ฮ่องกงไม่ปกติ

ข้อความแจ้งเตือนจากแอพพลิเคชันรถไฟฟ้าของฮ่องกงบอกว่า มี 3 สถานีที่ฝั่งเกาลูนปิดให้บริการ เพราะมีผู้ชุมนุมล้อมอยู่บริเวณนั้น หลังเก็บกระเป๋าไว้ในห้อง ล้างหน้าล้างตา ฉันออกมาพร้อมกล้องถ่ายรูป เครื่องอัดเสียง และกระดาษปากกา

ฉันนั่งรถไฟมาถึงสถานีที่ใกล้ผู้ชุมนุมที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเดินต่ออีกกว่า 3 กิโลเมตร ระหว่างทางเจอตัวหนังสือเขียนตามกำแพงและถนนว่า Free Hong Kong และตัวภาษาจีนที่แปลได้ว่า ‘ฮ่องกงสู้ๆ’ (รู้เพราะแอบถามเอาจากคนแถวนั้น)

คู่รักคู่หนึ่งที่นั่งพักอยู่ตรงสวนสาธารณะ ทั้งคู่ถอดหน้ากากออก และใช้พัดลมเล็กเป่าหน้าตัวเองอยู่ พวกเขาดูไม่ไว้ใจในทีแรก ก่อนจะยอมพูดคุยถึงเหตุผลที่ออกมาประท้วง

“เราต้องการเสรีภาพในการเลือกตั้ง ในการพูด แล้วเราก็ไม่ต้องการให้จีนมาควบคุมฮ่องกง คนฮ่องกงควรจะมีอิสระ เราเคยมีเสรีภาพมาก่อน และเราไม่ต้องการเสียมันไปให้กับจีน” ชายหนุ่มพูดช้าและชัด

ด้านหลังพวกเขามีตัวหนังสือสเปรย์เขียนไว้ว่า FUCK POPO ซึ่งเป็นคำด่าตำรวจที่ปรากฏให้เห็นทั่วเมือง คนฮ่องกงต้องอยู่กับความไม่แน่นอนมาตลอด และแม้พวกเขาจะพยายามแสดงอัตลักษณ์ความเป็นคนฮ่องกงอย่างเต็มเปี่ยม ผ่านการประท้วง ผ่านถ้อยคำ แต่ความเป็นฮ่องกงก็ยังยึดโยงกับจีนในทางภูมิศาสตร์อย่างหลีกเลียงไม่ได้

ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกว่าร้อยปี ก่อนจะกลับสู่จีนในปี 1997 โดยมีอิสรภาพปกครองด้วยระบบของตัวเองเป็นเวลา 50 ปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังโดนแทรกแซงจากรัฐบาลปักกิ่งอยู่เป็นระยะ ยิ่งเมื่อมีความพยายามจะผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่าง ฮ่องกง-จีน ก็ยิ่งเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนฮ่องกงลุกฮือ

 

สถานที่สำคัญในหนัง 2046 คือ Oriental Hotel โรงแรมที่พระเอกอาศัยอยู่ โดยมีหญิงสาววนเวียนเข้ามาต่างวาระ ฉันอดคิดไม่ได้ว่าโรงแรมอาจเป็นตัวแทนของความชั่วคราว ไม่จีรังยั่งยืน สถานะของตัวละครเป็นได้แค่ผู้เช่าอาศัย ไม่อาจเป็นเจ้าของสิ่งใด แม้แต่ความทรงจำของตัวเอง

ในนิยายเรื่อง 2047 คนที่อยู่บนขบวนรถไฟมุ่งหน้าไปสู่ 2046 ต้องผ่านแอเรีย 1224-1225 บริเวณที่อากาศหนาวเหน็บเหลือทนจนมีคำแนะนำให้นักเดินทางกอดกันเอง ที่แท้ตัวเลขนี้หมายถึงวันคริสมาสต์อีฟ และวันคริสมาสต์ วันที่หิมะโปรยปราย ความหนาวเย็นเกาะกุมใจและกายจนใครก็ต้องการความอบอุ่น

หนาวจนต้องปลอบประโลมกันเอง

ในบางตัวละคร เดียวดายจนต้องกอดกับแอนดรอยด์สาวผู้มีความรู้สึกเชื่องช้า -- อยากร้องไห้ แต่น้ำตากลับไหลในวันถัดมา

 

 

หลังม็อบเริ่มกระจายตัว เวลาเกือบ 3 ทุ่ม ฉันซมซานเดินเข้าไปในร้านเกี๊ยว โต๊ะใหญ่ว่างอยู่หนึ่งตัว ฉันเดินเข้าไปนั่งมุมในสุด สั่งเกี๊ยวมา 1 ชุด ซุปเห็ด 1 ชาม และชาเขียวเย็น 1 แก้ว ชาเขียวมาก่อนใครเพื่อน ฉันดูดรวดเดียวหมดแก้วด้วยความกระหาย ก่อนที่จะมีชายวัยรุ่น และชายวัยกลางคนมานั่งร่วมโต๊ะด้วยเพราะโต๊ะอื่นเต็ม

ทั้งคู่ไม่รู้จักกัน เราสามคนไม่รู้จักกัน แต่นั่งซดซุปและบะหมี่กันดังซวบๆ เป็นธรรมชาติเหมือนนั่งกินข้าวกับครอบครัว อาจเพราะความเหนื่อยล้าเต็มกำลัง ที่ทำให้เราไม่มีกำแพงต่ออะไรทั้งนั้น ซุปเห็ดหมดเกลี้ยง แต่ชาเขียวแก้วที่สองหมดก่อนไปนานแล้ว

ฉันจับรถไฟกลับเข้าเมือง ไหล่แทบหักเพราะสะพายกล้องเดินทั้งวัน ฟังเสียงประกาศสถานีเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง รถไฟสายนี้ไม่ได้ผ่านแอเรีย 1224-1225 แต่ความหนาวเหน็บก็เกาะกุมใจฉันบางๆ ไปตลอดทาง

 

จะเป็นอย่างไร ถ้าเรามีสถานที่ไว้ไล่จับความทรงจำของตัวเอง แต่ไม่อาจกลับมา

จะเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้ว่าสถานีปลายทางต้องมาถึงในสักวัน แม้เราจะอยาก หรือไม่อยากไปถึงก็ตาม

จะเป็นอย่างไร ถ้าความทรงจำอันลึกล้ำ ฉุดให้เราไม่อาจมีอนาคต

จะเป็นอย่างไร ถ้าเราต้องถูกโยกย้าย ส่งต่อ เอาคืนมือต่อมือ โดยที่เราไม่อาจ ‘เอาคืน’

เป็นคำถามที่อาจต้องนั่งรถไฟไปให้ถึงปลายทางจึงจะเจอคำตอบ

 

 

วันก่อนกลับไทย ฉันซื้อเบียร์ชิงเต่าจากร้านสะดวกซื้อ เปิดดื่มในวันฝนกระหน่ำ เพราะออกไปไหนไม่ได้ ฉันเลยนั่งคุยกับคนดูแลโฮสเทล เธอบอกว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการประท้วง เพราะคิดว่ามันไม่มีประโยชน์

แม้เธอจะบอกว่าไม่เคยดูหนังหว่อง กาไว แต่มีบางถ้อยความที่สอดคล้องกับหนัง 2046 เธอบอกว่า

“โลกเปลี่ยนไปตลอด อีก 100 ปี 200 ปี 1,000 ปี มันต้องมีการพัฒนา”

ไม่แน่ใจว่าการพัฒนาของเธอเป็นแบบไหน ในมุมหนึ่งเธออาจมองว่าเราไม่มีวันหนีอนาคตที่กำลังมาถึง

หากถึงวันนั้นจริงๆ เราจะเป็นอย่างไร โลกจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่บางฉากของ 2046 อาจพอมีคำตอบรางๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0