โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

18 มิถุนายน 1815 “สมรภูมิวอเตอร์ลู” ความพ่ายแพ้สุดท้ายของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 19 มิ.ย. 2566 เวลา 03.08 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2566 เวลา 23.36 น.
ภาพปก-waterloo
สมรภูมิวอเตอร์ลู Battle of Waterloo (1815) ภาพวาดโดย William Sadler

18 มิถุนายน 1815 “สมรภูมิวอเตอร์ลู” ความพ่ายแพ้สุดท้ายของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1

หลังจากที่ จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) ได้เสด็จหนีออกจากเกาะเอลบา (Elba) ที่ซึ่งเขาถูกเนรเทศไปด้วยเหตุของสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Treaty of Fontainebleau) ว่าด้วยสนธิสัญญาที่จักรพรรดินโปเลียนถูกบังคับในลงนามเนื่องจากเป็นผู้แพ้สงครามสหพันธมิตรที่ 6 (Sixth Coalition War) โดยจะเรียกช่วงที่จักรพรรดินโปเลียนหนีออกมานั้นว่ายุคสมัยร้อยวัน (Hundred Days)

เป็นช่วงที่จักรพรรดินโปเลียนได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงความไม่พอใจของทหารและประชาชนชาวฝรั่งเศสต่อนโยบายการฟื้นฟูพระราชอำนาจของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ที่เป็นราชวงศ์ที่สำคัญในแถบยุโรปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 (King Louis XVIII) โดยประชาชนหวาดกลัวว่าจะมีการกลับมาใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในการปกครองหลังจากโค่นล้มและเปลี่ยนไปใช้ระบอบสาธารณรัฐตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789

ซึ่งการกลับมาของจักรพรรดินโปเลียนนั้นเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน อีกทั้งทหารที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ส่งมาสกัดกั้นจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ก็ยังเข้าสบทบกับกลุ่มของจักรพรรดินโปเลียน จนทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เกิดความหวาดกลัวในประชาชนและเสด็จหนีออกจากกรุงปารีสไปที่เมืองกองด์ (Gand)

การกลับมาครองอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นั้นไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มประเทศมหาอำนาจยุโรป ณ ขณะนั้น คือ อังกฤษ ปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย เสียเท่าไหร่ ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ปี ค.ศ.1815 ทั้ง 4 ประเทศมหาอำนาจนั้นต้องการที่จะรื้อฟื้นสนธิสัญญาโชมง (Treaty of Chaumont) ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1814 ซึ่งมีใจความสำคัญที่ว่าด้วยการร่วมมือกันล้มล้างพระราชอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และป้องกันไม่ให้ราชวงศ์โบนาปาร์ตนั้นกลับมาขึ้นครองราชย์ในฝรั่งเศสได้อีก

โดยทั้ง 4 ประเทศซึ่งมีความขัดแย้งกันในการสร้างดุลอำนาจในยุโรปกันก่อนหน้านี้ จำต้องผนึกกำลังและร่วมมือกันในการปราบปรามอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และฝรั่งเศสลงช่วงสมัยร้อยวันของจักรพรรดินโปเลียนนี้ โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นั้นไม่ประสงค์ที่จะทำสงครามแล้ว แต่สี่ประเทศมหาอำนาจนั้นไม่คิดที่จะเชื่อและต้องการที่จะขจัดอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 อย่างเดียว

ในตอนแรกนั้น กองทัพสัมพันธมิตรประกอบไปด้วยกองทัพอังกฤษ 100,000 คน นำโดยนายพลอาร์เธอร์ เวลสลี่ย์ ดยุคแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington) และกองทัพปรัสเซีย 120,000 คน นำโดยนายพลเกบฮาร์ด เลเบอเร็ซ ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher) ได้วางแผนที่จะรวมตัวเพื่อที่จะเข้าโจมตีฝรั่งเศสที่ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการรบที่สมรภูมิวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) 2 วันคือ วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1815 กองทัพของฝรั่งเศสและกองทัพของสัมพันธมิตรก็มีการปะทะมาแล้วคือสมรภูมิที่ลิญยีและกาตร์-บรา (Battle of Ligny & Quatre-Bras)

จนในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1815 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มีความตั้งใจที่จะโจมตีกองทัพของดยุคแห่งเวลลิงตันที่ตั้งมั่นอยู่ที่ที่ราบบนเนินแชงต์ – ชอง (Saint – Jean) ใกล้กับตำบลวอเตอร์ลู (Waterloo) โดยที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นั้นเริ่มเปิดฉากโจมตีดยุคแห่งเวลลิงตันก่อนในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา

ซึ่งในขณะที่ทำการสู้กับกองทัพอังกฤษอยู่นั้น กองทัพปรัสเซียที่นำโดยนายพลบลือเชอร์ก็เข้ามาเสริมกับกองทัพอังกฤษอีกทาง ทำให้กองทัพฝรั่งเศสนั้นต้องแบ่งกำลังไปสู้กับกองทัพปรัสเซีย นั่นทำให้กองทัพของฝรั่งเศสมีความอ่อนแอลง และได้รับความพ่ายแพ้ จนต้องรีบรุดถอยร่นกลับไปที่ปารีส

การกลับไปตั้งหลักของจักรพรรดินโปเลียนนั้น เพื่อที่จะวางแผนในการโจมตีครั้งต่อไป แต่ว่าทางสมาชิกสภาผู้แทนนั้นไม่เห็นด้วยในความพ่ายแพ้และต่อต้านจักรพรรดินโปเลียน จนกระทั่งมีการบีบให้จักรพรรดินั้นสละราชย์และให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับมาครองราชย์ฝรั่งเศสอีกครั้ง ทางจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นั้นในตอนแรกมีความตั้งใจที่จะเนรเทศตัวเองไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาโดยเรือรอชฟอร์ท (Rochefort) แต่ถูกทางประเทศอังกฤษนั้นสกัดกั้นไว้เสียก่อน

ทำให้จักรพรรดินโปเลียนต้องยอมจำนน และทางอังกฤษก็เนรเทศพระองค์ไปอยู่ที่เกาะเซนต์เฮเลนา (Saint Helena) นับเป็นจุดสิ้นสุดแห่งสมัยร้อยวันและอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

สัญชัย สุวังบุตร และ อนันตชัย เลาหะพันธุ. (2558). ยุโรป ค.ศ.1815 – 1918. จัดพิมพ์โดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0