โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

15 วัน ‘โรคไข้ปวดข้อยุงลาย’ พุ่ง 447 ราย

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 21 ม.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • The Bangkok Insight
15 วัน ‘โรคไข้ปวดข้อยุงลาย’ พุ่ง 447 ราย

สถานการณ์ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” ปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1-15 มกราคม พบผู้ป่วย 447 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 444 ราย เฉพาะในจังหวัดสงขลา 260 ราย ส่วนอีก 3 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ย้ำประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยยึดหลัก  “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลายในพื้นที่จังหวัดสงขลา ว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ติดตามสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายในจังหวัดสงขลา และในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด

โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  และได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ที่จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความร่วมมือ และดำเนินการอย่างเข้มข้นในพื้นที่

จากความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนในครั้งนี้ ทำให้ในขณะนี้สามารถควบคุมโรคจนสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตราย และมีความปลอดภัยแล้ว

ทั้งนี้โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มีทั้งยุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่ในเด็กอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่

สำหรับอาการเด่นชัดในผู้ใหญ่ คือ ปวดข้อ อาจพบข้ออักเสบได้ ซึ่งเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ทั้งนี้อาการปวดข้อ จะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมาก จนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และอาการจะหายภายใน  1-2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือน หรือเป็นปีได้ ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก  

กรมควบคุมโรค ย้ำว่าหากประชาชนมีอาการดังกล่าวข้างต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับวิธีป้องกันตนเองจากโรคดังกล่าว คือ ไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาวให้มิดชิด ทายากันยุง นอนในมุ้ง เป็นต้น

ที่สำคัญ คือ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค

3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

  • เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
  • เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

หลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ  1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0