โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

15 พ.ย. 2451 สิ้นลม แต่ไม่สิ้นลาย ซูสีไทเฮา ราชินีหลังม่าน

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 05.27 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 19.00 น.

************************

เรื่องราวของซูสีไทเฮา แทบไม่ต้องบรรยายว่าเข้มข้นไม่แพ้ละครใดในโลกนี้ และที่จริงต้องบอกว่า น่าจะเป็นต้นตำรับของพล๊อตเรื่องโดนๆ เกี่ยวกับ "กลเกมศึกชิงราชบัลลังก์" ที่ลึกซึ้ง ลึกล้ำ ยิ่งกว่าตำรากลยุทธ์ไหนในโลกด้วยซ้ำ

ถึงขนาดที่ว่า แม้ตนเองจะถึงกาลต้องสิ้นชีพดับชีวา ก็ยังวางหมากวางกลไว้ให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้เลยทีเดียว

และวันนี้เมื่อ 111 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2451 คือวันที่ซูสีไทเฮา ผู้มีฉายาว่าราชินีหลังม่านได้จากไปในวัย 73 ปี พระนางจากไปอย่างภาคภูมิใจในยุทธศาตร์ราชบัลลังก์ที่ได้ทิ้งไว้กับผู้ที่ไว้ใจ โดยไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นกับบัลลังก์มังกรหลังจากนั้น!

ประวัติย่อวัยต้น

ถ้าจะกล่าวถึงประวัติชีวิตของพระนางซูสีไทเฮาแบบละเอียดยิบจากหลายๆ ตำราประวัติศาสตร์ เห็นจะว่ากันทั้งคืนก็อาจไม่หมด

แต่เอาโดยย่อแล้ว พระนางนั้นคือหนึ่งในสตรีสามัญชนที่ก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงสุดอำนาจ เป็นเจ้าชีวิตของผู้คนได้นับล้านๆ คน

พระนาง มีชื่อเดิมว่า "เยโฮนาลา" เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2378 มีบิดาเป็นขุนนางผู้ต่ำศักดิ์ชื่อว่า "หุ้ยเจิง" ที่เป็นข้าราชการชาวแมนจู ทำหน้าที่เป็นทหารประจำกองธงสีฟ้า อันเป็นกองธงทหารหนึ่งในแปดหมู่ ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง

ต่อมาหุ้ยเจิงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลฮันฮุย เยโฮนาลาก็เหมือนจะกลายเป็นคุณหนูผู้ดีขึ้นมาในที่สุด

ที่สุดเมื่ออายุได้ 16 ปี เป็นสาวแรกรุ่น จึงถูกส่งตัวเข้าถวายแด่องค์พระจักรพรรดิเสียนเฟิง พร้อมด้วยธิดาของแว่นแคว้นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 60 นาง

จักรพรรดิเสียนเฟิง

เยโฮนาลาเป็นเพียงไม่กี่คนที่ถูกคัดเลือกให้ได้เป็นสนมขององค์จักรพรรดิ และถูกแต่งตั้งให้เป็น นางสนมลำดับที่ 5 ได้รับตำแหน่ง "ซิ่วหฺนวี่" และต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น พระมเหสีชั้น 5

ต่อมาเกิดกบฏไทเปขึ้นในมณฑลฮันฮุย หุ้ยเจิงบิดาของซูสีไทเฮากลับเพิกเฉย ไม่นำพาต่อการปราบปรามกบฏอย่างจริงจัง จึงถูกปลดออกจากการ

หลายคนอาจคิดว่างานนี้พระนางซูสีไทเฮา บุตรีจะต้องลำบากเป็นแน่แท้ แต่เปล่าเลยพระนางกลับมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ

กำเนิดรัชทายาท

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากความเฉลียวฉลาดปลาดเปรื่องเกินสตรีนางใด และยังมีข้อมูลจาก บทความของนายเวมิง (Wei Ming) เรื่อง "พระนางซูสีไทเฮา" แปลโดยศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล เล่าว่า พระนางมักช่วยเหลือพระเจ้าเสียนเฟิง ในการเรื่องเอกสารราชการอยู่บ่อยครั้ง และมีความรู้ราชการงานการเมืองอย่างดี

ที่สำคัญคือ พระนางยังได้ให้กำเนิดพระราชโอรสแก่องค์จักรพรรดิ และเป็นโอรสเพียงหนึ่งเดียวอีกด้วย คือเจ้าฟ้า "ไจ้ฉุน"

สิ่งนี้ไม่เพียงทำให้พระนางกลายเป็น"ว่าที่มารดาขององค์รัชทายาท" ไปโดยปริยาย แต่ยังทำให้พระนางได้เลื่อนตำแหน่งเป็น "ซูสีไทเฮา" พระมเหสีชั้น 2 เป็นรองแค่เพียง ระมเหสีชั้น 1 อย่างสมเด็จพระอัครมเหสีเจิน หรือซูอันไทเฮา (ซึ่งเป็นพระมเหสีที่ฮ่องเต้ทรงโปรดปรานเมตตาและมีอยู่มาก่อนซูสีไทเฮาจะเข้ารับการถวายตัวแก่องค์จักรพรรดิ์) เท่านั้น

แต่แล้วต่อมา ในยุคที่ชาวตะวันตกเดินทางมาล่าอาณานิคมในประเทศในซีกโลกตะวันออก และแน่นอนที่จีนจะตกเป็นเป้ามหายด้วย จนกระทั่งในเดือนกันยายน 2402 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามฝิ่นขึ้น กองทหารผสมของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ได้เข้าโจมตีกรุงปักกิ่งจนต้องทำให้องค์จักรพรรดิ์เสียนเฟิงได้เสด็จลี้ภัย พร้อมด้วยข้าราชบริพารผู้ภักดีออกจากรุงปักประทับยังพระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ มณฑลเหอเป่ย์

จักรพรรดิเสียนเฟิงเมื่อได้ทราบข่าวความพินาศย่อยยับของกรุงปักกิ่ง พระองค์ทรงโทมนัสเป็นที่ยิ่ง วันๆ จึงเอาแต่เสวยน้ำจันทร์ และ สูบฝิ่น จนตรอมใจสิ้นพระชนม์ในวันที่ 22 สิงหาคม ปีถัดมานั้นเอง ในพระชนมายุเพียง 30 พรรษาเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์พระองค์ ได้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ "เจ้าฟ้าไจ้ฉุน" พระรัชทายาทซึ่งในขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 5 ชันษาขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์

เจ้าฟ้าไจ้ฉุน

แต่ด้วยความที่เจ้าฟ้าไจ้ฉุนยังทรงพระเยาว์นัก จึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทน อันประกอบด้วยข้าราชการบริพารผู้ที่มีความจงรักภักดีจำนวน 8 คนช่วยกันดูแล

และยังทรงโปรดให้สมเด็จพระอัครมเหสีเจิน และซูสีไทเฮา ควบคุมดูแลการทำงานของคณะผู้สำเร็จราชการอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการคานอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการอีกชั้นหนึ่งจนกว่าดอรสน้อยจะพร้อใขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วย

อำนาจหลังม่านไม้ไผ่

แต่เหมือนจะเป็นธรรมชาติของ 2 ขั้วอำนาจ ที่มักไม่ลงรอยกัน

ปรากฏว่าการบริหารงานของคณะผู้สำเร็จราชการกับพระนางซูสี ไทเฮาและพระนางซูอันไทเฮา มันมีเรื่องขัดเคืองกันอยู่เนืองๆ

ที่สุด ด้วยความเป็นคนทะเยอทะยายอยู่แล้ว พระนางซูสีไทเฮา จึงชักชวน ซู อันไทเฮา วางแผนรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการ

ซูอันไทเฮา

การณ์ใหญ่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก เจ้าชายกงและเจ้าชายฉุน เจ้าชายทั้งสองนี้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิเต้ากวง คือเป็นพระอนุชา (ต่างพระมารดา) ของพระเจ้าจักรพรรดิเสียนเฟิงนั่นเอง

ที่สุด คณะผู้ทำการ ได้ยึดอำนาจได้ทำการจับกุมผู้สำเร็จราชการฯ ทั้ง 8 คน และตั้งข้อหาร้ายแรงเพื่อกำจัดให้พ้นทางได้สำเร็จ

จากนั้น ซูสีไทเฮาและและซูอันไทเฮาจึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชทานแทน โดยได้ออกว่าราชการอยู่หลังม่านไม้ไผ่ที่จักรพรรดิถงจื้อ (เจ้าชายไจ้ฉุน) องค์น้อยนั่งอยู่เบื้องหน้าอีกชั้นหนึ่ง

และด้วยความที่องค์จักรพรรดิ์ถงจื๊ออัดอั้นตันใจที่ไม่สามารถคิดทำอะไรได้เต็มที่สมกับความเป็นกษัตริย์ แต่ต้องทำตามอำนาจของพระนางซูสีไทเฮา หรืออาจจะเพราะวัยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น

พระองค์จึงหันไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาอยู่กับสุรานารีจนทรงติดเชื้อซิฟิลิสจากหญิงบริการและเสด็จสวรรคตเพราะโรคนี้ในวัยเพียง 18 พรรษาเท่านั้น โดยไม่มีทายาท

ที่สุดพระนางซูสีไทเอาจึงทรงแต่งตั้ง "เจ้าชายไจ้เทียน" (พระโอรสของเจ้าชายฉุน กับ พระกนิษฐาภคินีของซูสีไทเฮาเอง คือท่านผู้หญิงเย่เหอนาลา วานเจิน) ให้ขึ้นครองราชย์แทนด้วยอายุเพียง 4 พรรษาเท่านั้น โดยถูกขานพระนามว่า "พระเจ้ากวางสู" หรือ "กวั่งซี่"

พระเจ้ากวางสู หรือ "กวั่งซี่"

และเช่นเดิมที่ตนเองและพระนางซูอันไทเฮายังคงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนดั่งเดิม และว่าการบ้านเมืองอยู่เบื้องหลัง

เรื่องราวเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี แต่แล้วในวันที่ 8 เมษายน 2423 (บางแหล่งระบุปี 2424) ระหว่างทรงว่าราชการอยู่นั้น อยู่ๆ อันไทเฮาทรงรู้สึกไม่สบายพระองค์และสวรรคตในบ่ายวันนั้นเอง ทั้งนี้เวลานั้นพระนางมีอายุเพียง 44 ปีเท่านั้น ในขณะที่พระนางซูสีไทเอามีอายุเพียง 28 ปีเท่านั้นในเวลานั้น

แน่นอนที่การสิ้นพระชนม์อย่างปัจจุบันทันด่วนครั้งนี้ จะถูกมองว่ามีเงื่อนงำ และสงสัยว่าพระนางจะถูกวางยา เพราะเรื่องนี้ได้ส่งผลให้พระนางซูสีไทเฮากลายเป็นผู้สำเร็จราชการการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

มายาแห่งชีวิต

การบริหารบ้านเมืองในสมัยของพระเจ้ากวางสูนั้น คาดว่าจะดำเนินไปอย่างไร้ข้อขัดแย้งกับผู้มีอำนาจตัวจริงหลังม่านไม้ไผ่ เพราะสามารถครองราชย์มาได้นาวนานถึง 33 ปี คือตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา จนถึงพระชนมายุ 37 พรรษาเท่านั้นก็มาสิ้นพระชมน์จากไปในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2450

หากกข้อมูลบางแหลง่ระบุว่า ที่จริงจักรพรรดิกวางสีทรงพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบเก่าคร่ำครึหลายอย่างในประเทศเพื่อให้ทันต่ออารยธรรมตะวันตกที่คืบคลานเข้ามา

แต่พระนางซูสีไทเฮาไม่กดไลค์เท่าไหร่ จึงใช้กำลังทหารทำการปฏิวัติยึดพระราชอำนาจจากองค์จักรพรรดิและขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง ในที่สุด ปี 2451 จักรพรรดิกวางสูทรงเสด็จสวรรคตอย่างตรอมตรมในพระราชวังฤดูร้อนที่พระนางซูสีไทเฮาขังพระองค์ไว้

และเช่นเคย ด้วยความที่สมเด็จพระจักรพรรดิกวางสู ได้สวรรคตอย่างปัจจุบันทันด่วน แถมรุ่งขึ้นพระนางซูสีไทเฮายังมาสวรรคตตามไปในอีกในวันที 15 พฤศจิกายน หลังจากทรงแต่งตั้ง "ปูยี" พระโอรสอายุเพียง 2 ปี 10 เดือน ขององค์ชายชุนให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป (เรื่องราวของปูยีติดตามอ่านได้ในลิงค์นี้ https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/361611)

แต่ทุกคนต่างพากันซุบซิบไปกันต่างๆ นานาว่าพระนางซูสีไทเฮานั้นร้ายลึก ขนาดว่าพระนางจะสิ้นลมไปแล้ว แต่ก็ยังทรงมีแผนต่างๆ นานา

โดยทรงวางยาองค์จัรพรรดิ์กวางสูก่อน เพราะรู้พระองค์เองดีว่าพลานามัยไม่สู้จะแข็งแรงสมบูรณ์นักเกรงว่า หากทรงสิ้นพระชนม์ลงไปก่อนพระเจ้ากวางสูจะสร้างความยุ่งยากและเดือดร้อนแก่บริวารและขุนน้ำขุนนางฝ่ายตนจึงตัดสินใจลอบวางยา และตนเองก็มาสิ้นพระชนม์ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

แน่นอนข้อครหามีอยู่ทั่วไปในหมู่ราษฎรชาวจีน ซึ่งภายหลังมีข้อมูลว่า วันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่าการชันสูตรพระบรมศพของจักรพรรดิกวางสูโดยรัฐบาลจีนพบว่า ปริมาณของสารหนูที่ตรวจพบมีมากถึงสองพันเท่าจากปริมาณที่อาจพบได้ในร่างกายมนุษย์โดยทั่วไป

และอย่างที่รู้เมื่อพระนางซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน การรุกรานของชาติตะวันตกก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนถึงกาลอวสานของราชวงศ์จีนภายหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์ลงเพียงสามปีเท่านั้นเอง

****************************

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0