โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

14 วิธีปรับชีวิตแบบฝืนๆ ให้สมดุลตลอดวัน ด้วย ‘วิถีธรรมชาติ’

becommon.co

อัพเดต 09 ต.ค. 2562 เวลา 11.06 น. • เผยแพร่ 08 ต.ค. 2562 เวลา 10.09 น. • common: Knowledge, Attitude, make it Simple
14 วิธีปรับชีวิตแบบฝืนๆ ให้สมดุลตลอดวัน ด้วย ‘วิถีธรรมชาติ’

ทุกวันนี้หลายคนแทบไม่ได้ตื่นนอนเพราะแสงอาทิตย์ส่องลอดม่านเข้ากระทบดวงตาอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องสะดุ้งตื่นเพราะเสียงนาฬิกาปลุกจากมือถือที่ร้องเตือนอย่างบ้าคลั่งแทน

ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และนั่นอาจเป็นการทำลายสุขภาพของเราในระยะยาว หากลองสังเกตแต่ละช่วงเวลาของเราใน 1 วัน จะพบว่าต้องเผชิญกับกิจกรรมที่ ‘ฝืนธรรมชาติของร่างกาย’ อยู่ตลอดเวลา ทั้งการจ้องหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นั่งท่าเดิมไม่ยอมเคลื่อนไหว กินอาหารขยะ นอนดึก ฯลฯ

ก่อนที่ทั้งสุขภาพกายและจิตจะพังไปมากกว่านี้ ลองบำบัดวิถีชีวิตให้เป็นระบบและให้ธรรมชาติเข้ามาเยียวยากันเถอะ

ตื่นนอน –

nature-common
nature-common

1. บิดขี้เกียจตอนตื่นนอน

หลังจากนอนท่าเดิมมาทั้งคืน เมื่อตื่นขึ้นมาก่อนจะลุกไปทำกิจกรรมอื่น ลองบิดขี้เกียจและเหยียดแข้งเหยียดขาสักหน่อย จะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อยืดหยุ่น แถมยังกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้เลือดสูบฉีดได้เป็นอย่างดี ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่าและตื่นตัวทั้งวันอีกด้วย

 

nature-common
nature-common

2. ดื่มน้ำอุ่นสักแก้ว

ดื่มน้ำในอุณหภูมิที่อุ่นกำลังดี จะช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยกำจัดเสมหะในลำคอ ทำให้หายใจได้สะดวก และยังช่วยเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย นอกจากนี้น้ำอุ่นยังมีผลกับระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้จิตใจสงบ ปวดเมื่อยน้อยลง และไม่ตื่นตระหนก 

 

nature-common
nature-common

3. สูดอากาศ ชมนก ชมไม้

ยามเช้าเป็นเวลาที่นกพากันร้องเจื้อยแจ้ว แดดอ่อนๆ สาดส่องกระทบยอดอ่อนของต้นไม้ ลองเผื่อเวลาหลังตื่นนอนออกมาเดินสูดอากาศสักหน่อยจะทำให้สดชื่นไปทั้งวัน เพราะการหายใจลึกๆ นั้นจะช่วยลดความเครียด ทำให้เราสงบและผ่อนคลาย รวมถึงการได้อยู่ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้า นอกจากจะสดชื่นแล้ว สีเขียวๆ ยังช่วยให้ความจำดีอีกด้วย

– รับประทานอาหาร –

4. ‘มื้อเช้า’ เติมเชื้อเพลิงให้เครื่องจักรที่ชื่อว่าร่างกาย

เช้าที่ไม่มีอาหารตกถึงท้องก็เหมือนรถยนต์ที่วิ่งไปด้วยถังน้ำมันเปล่า อาหารเช้าที่ดีนั้นจะช่วยให้ความจำดี ไม่ง่วงซึม ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราดีตลอดทั้งวัน นอกจากนี้อาหารเช้ายังกระตุ้นระบบเผาผลาญ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติอีกด้วย

มื้อเช้าคุณภาพนั้นต้องให้พลังงานและสารอาหารอย่างครบถ้วน กรมอนามัยโลกระบุว่ามนุษย์เราควรทานผักและผลไม้เป็นหลัก เสริมด้วยคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์สูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือจะเป็นขนมปังโฮลวีตก็สะดวกดีในช่วงเวลาเร่งรีบ ทั้งยังต้องทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ปลาแซลมอน ฯลฯ และโปรตีนที่ดี เช่น อัลมอนด์ อกไก่ ฯลฯ ควบคู่ไปด้วย

ฉบับคนมีเวลา : โจ๊กข้าวกล้องใส่เห็ด, ขนมปังโฮลวีตไข่ดาวผักสลัด, ต้มเลือดหมู ข้าวกล้อง 

nature-common
nature-common
nature-common
nature-common
nature-common
nature-common

ฉบับคนเร่งรีบ : แซนด์วิช น้ำเต้าหู้, แอปเปิ้ล โยเกิร์ต, ขนมปังโฮลวีตไข่ดาว

nature-common
nature-common
nature-common
nature-common
nature-common
nature-common

 

5. ‘มื้อกลางวัน’ สร้างระบบเผาผลาญให้สม่ำเสมอ

อาหารกลางวันเป็นอีกหนึ่งมื้อที่จะช่วยเพิ่มพลังในยามบ่าย ทำให้ร่างกายเผาผลาญได้ดี และไม่หิวเกินไปในมื้อเย็น เราไม่ควรงดอาหารกลางวัน เพราะถ้าอดอาหารมื้อใหญ่เป็นเวลานานๆ หรือกินอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่าที่ควรจะได้รับต่อวันจะทำให้ระบบเผาผลาญแย่ลง

ดร.เคิร์ท ฮง ผู้อำนวยการ The Center for Human Nutrition of Huntington Medical Foundation เสริมอีกว่า “จะดีขึ้นไปอีก หากมีของว่างเล็กๆ น้อยๆ เสริมก่อนและหลังอาหารมื้อนี้” 

ฉบับคนมีเวลา : แกงจืดเต้าหู้, ผัดผักไข่ต้ม, ยำวุ้นเส้น

ฉบับคนเร่งรีบ : ไข่ตุ๋น กล้วยหอม, ข้าวไรซ์เบอร์รี่ อกไก่, สลัด สันในไก่นุ่ม

 

6. ‘มื้อเย็น’ กินอิ่ม ทำให้นอนอุ่น 

ร่างกายของมนุษย์ยังคงทำงานตลอดเวลาแม้ในขณะที่หลับ อาหารเย็นทำหน้าที่เสมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ระบบต่างๆ ของเราทำงานได้อย่างราบรื่น ดังนั้นหากงดมื้อเย็นจะทำให้หิวโหยจนเกินไป กว่าจะมีอาหารไปเลี้ยงร่างกายอีกครั้งก็ต้องรอให้ถึงเช้า นำมาซึ่งอาการคลื่นไส้ เวียนหัว เป็นลม หรืออาจส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท หรือหากทานดึกเกินไปอาจทำให้อาหารไม่ย่อย และส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

เวลาที่ดีสำหรับมื้อเย็นคือ 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะจะช่วยให้สามารถทานอาหารที่อยากทานในตอนเย็นได้ แม้จะมีแคลอรี่สูงก็ตาม รวมถึงร่างกายจะเผาผลาญและนำมาใช้งานไม่เกิดการสะสม ที่สำคัญ อย่าลืมเดินย่อยสักพักหลังมื้ออาหาร เท่านี้ก็อิ่มท้องพร้อมนอนอุ่นแล้ว

ฉบับคนมีเวลา : น้ำพริกผักต้ม, ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้, สลัดผักรวมไข่ต้ม 

ฉบับคนเร่งรีบ : กราโนล่าไข่ต้ม สลัด น้ำเต้าหู้  อกไก่นุ่ม แอปเปิ้ล 

 

– เดินทาง –

7. ออกเดินพร้อมเพลงโปรด 

มนุษย์เรามีความเร็วในการเดินที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ แต่เมื่อเราแก่ตัวลง การเดินของเราจะช้าลงตามไปด้วย งานวิจัยจาก McMaster University ประเทศแคนาดา ระบุว่าหากเราเดินด้วยความเร็วที่สมดุลตลอดเหมือนในวัยหนุ่ม จะส่งผลให้อายุยืนยาว การเดินไปตามจังหวะเพลงนั้นช่วยในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่เราฟังเพลงเราจะก้าวเดินได้อย่างสมดุลและเดินได้เร็วขึ้นกว่าปกติ ช่วยให้จังหวะของการเดินเราไม่ช้าไปตามอายุที่มากขึ้น

 

8. นั่งรถเพลินกับเพลลิสต์ที่ชอบ

หลายคนต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถเมล์ ฯลฯ ลองจัดเพลย์ลิสต์ที่ชอบสักชุดและเปิดฟังตอนนั่งรถก็คงจะเพลินไม่น้อย

เพลงเพราะๆ นอกจากจะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีนและเซเรโทนินที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินใจขณะฟังแล้ว เสียงเพลงยังช่วยลดความเครียดที่เกิดจากการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเสียงจอแจของผู้คนรอบข้าง หรือจราจรติดขัดบนท้องถนน

 

9. รถที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอม

กลิ่นหอมที่อบอวลอยู่ในรถจะช่วยให้เราผ่อนคลายขณะขับขี่ โดยเฉพาะ ‘กลิ่นธรรมชาติ’ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ ซึ่งเป็นกลิ่นที่ลดความเครียดได้ดีที่สุด ขณะขับรถตอนเช้านั้น เราอาจต้องเจอกับความวุ่นวายบนท้องถนนทุกวัน กลิ่นหอมๆ ของลาเวนเดอร์จะทำให้เราผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

 

10. ปั่นจักรยานดีต่อใจ

การปั่นจักรยานไปทำงานนอกจากจะทำให้เราได้ชมทิวทัศน์รอบด้านและสำรวจร้านรวงต่างๆ แล้ว ยังถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อหัวใจอีกด้วย 

เจสัน กิล ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและหลอดเลือดหัวใจ มหาวิทยาลัยกลาสโกว ประเทศสก็อตแลนด์ กล่าวว่า ผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที และการปั่นจักรยานไปทำงานทุกๆ วันนั้นก็เพียงพอแล้ว

 

– ทำงาน –

11. ปลูกต้นไม้ในร่ม 

 เดิมทีมนุษย์อาศัยอยู่กับภูเขาและป่า หรืออย่างน้อยๆ ก็ใกล้ชิดกับต้นไม้ ในทางจิตวิทยาคนเราจึงมีปฏิกิริยาเชิงบวกต่อธรรมชาติ ท่ามกลางบรรยากาศของออฟฟิศที่เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงาน และบรรยากาศที่เคร่งเครียด ต้นไม้ต้นเล็กๆ จะช่วยลดความเหนื่อยล้า บรรเทาความเศร้าและความวิตกกังวลจากการทำงานได้ นอกจากนี้ต้นไม้ยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้อากาศสดชื่นขึ้นอีกด้วย

 

12. ลุกขึ้นขยับร่างกาย

นั่งทำงานเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้ อาการนี้อาจพ่วงมากับอาการปวดหัว นิ้วมือและแขนล้า หากร้ายแรงมากอาจทำให้หลังและบ่าบาดเจ็บจนต้องพบแพทย์

ก่อนจะโดนออฟฟิศซินโดรมโจมตีไปมากกว่านี้ ลองมาขยับร่างกายไล่ความเมื่อยกันหน่อย โดยการเปลี่ยนตำแหน่งการนั่งทุกๆ 20-30 นาที ยืดกล้ามเนื้อแขนและขาทุกๆ 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นและเดินไปรอบๆ หรือออกกำลังกายเบาๆ ในท่ากายบริหารพื้นฐาน

 หากเราบำบัดร่างกายด้วยตัวเองและจัดท่านั่งให้ถูกต้องอยู่เสมอ อาการเหล่านี้ก็จะทุเลาลงไป และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นในระยะยาว

 

– เข้านอน –

13. ทำสมาธิ หลับง่าย

การทำสมาธิมีผลกับการนอน เพราะจะช่วยให้นอนหลับได้อย่างดี แม้ในช่วงที่การนอนผิดปกติ เมื่อทำสมาธิก็จะช่วยให้วงจรการนอนกลับมาปกติเหมือนเดิม

งานวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้มีปัญหานอนไม่หลับฝึกทำสมาธิ ผลปรากฏว่า 58 เปอร์เซ็นต์มีพัฒนาการนอนที่ดีขึ้น และ 91 เปอร์เซ็นต์สามารถหยุดใช้ยานอนหลับ และกลับมานอนได้แบบปกติในที่สุด

วิธีทำสมาธิก่อนนอนมีหลายรูปแบบตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เจริญวิปัสนากรรมฐานแบบพุทธศาสนา แม้แต่ฟังเพลงบรรเลงก็ช่วยให้เกิดสมาธิได้เช่นกัน 

ไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างกายพร้อม หรือรอช่วงเวลาก่อนนอนเพียงเท่านั้น แต่เรายังสามารถฝึกสมาธิได้ทุกเวลา อย่างการตั้งใจชงชาหรือกำหนดฝีก้าวขณะเดิน เท่านี้ก็ช่วยให้ใจสงบแล้ว

 

14. กลิ่นหอมช่วยให้นอนหลับสบาย

นอกจากการจัดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ กลิ่นหอมๆ ยังมีส่วนช่วยให้เรานอนได้อย่างเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่มาจากเทียนหอมกลิ่นต่างๆ น้ำหอมสำหรับห้องนอน หรือแม้แต่กลิ่นของน้ำยาปรับผ้านุ่มบนเครื่องนอน ล้วนแต่ช่วยให้เราหลับสบาย

แม้ลาเวนเดอร์จะเป็นกลิ่นที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะมีส่วนช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงไปด้วย ใครที่ได้กลิ่นจะรู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับสบาย ตื่นมาแล้วยังรู้สึกสดชื่น แต่ใช่ว่าลาเวนเดอร์จะเป็นกลิ่นที่หอมที่สุดสำหรับทุกคน เนื่องจากแต่ละคนต่างมีประสบการณ์ต่อแต่ละกลิ่นแตกต่างกันไป แต่เชื่อเถอะว่า จะต้องมีสักกลิ่นที่คุณถูกใจและช่วยให้คุณนอน

 

‘การใช้ชีวิตอย่างสมดุลและสอดคล้องกับธรรมชาติ’ เป็น ‘ยา’ ที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย แม้บางอย่างจะเป็นตัวช่วยเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอย่อมช่วยให้ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

เหมือนกับคำพูดที่ว่า‘เมื่อเราบาดเจ็บ ร่างกายจะสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่เพื่อทำให้หายดี’ ที่ชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เราเยียวยาตัวเองได้อย่างมหัศจรรย์ 

อ้างอิง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0