โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

14 พ.ย.วันเบาหวานโลก แนะเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง หมั่นออกกำลังกาย

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 11.17 น. • The Bangkok Insight
14 พ.ย.วันเบาหวานโลก แนะเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง หมั่นออกกำลังกาย

14 พ.ย. วันเบาหวานโลก "กรมอนามัย" เตือน! หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เน้นควบคุมปริมาณข้าวและผลไม้ พร้อมออกกำลังกายสม่ำเสมอ

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกเห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค เบาหวาน แม้โรคเบาหวานจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่ จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง

ภาพจาก กรมอนามัย
ภาพจาก กรมอนามัย

ทั้งนี้ หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาทิ เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะจนทำให้เป็นโรคไตเสื่อม หลอดเลือดที่ขาเสียหายซึ่งมักเป็นร่วมกับอาการเท้าชานั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน จนบางรายต้องตัดขาและยังทำให้เกิดปัญหากับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เมื่อมีการอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิด ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมหาศาล

"การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ยาเบาหวาน ที่มีใช้กันโดยทั่วไป สามารถควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45-60 กรัมต่อมื้อ เมื่อคิดเป็นข้าวสวยจะได้ไม่เกิน 3-4 ทัพพีเท่านั้น ในขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่จะควบคุมได้ การเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง วุ้นเส้น ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสีนั้น จะมีใยอาหารช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรนำธัญพืชมากินเพิ่มจากข้าว เช่น กินข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น" นพ.บัญชา กล่าว

ภาพจาก กรมอนามัย
ภาพจาก กรมอนามัย

นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ผลไม้เป็นอีกแหล่งที่มีน้ำตาลปริมาณสูงมาก จึงควรเลือกชนิดที่ไม่หวานจัด เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว หรือฝรั่ง และกินในปริมาณที่เหมาะสม นมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว (ประมาณ 12 กรัมต่อแก้ว) เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำ พร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมันนั้น กำจัดเฉพาะไขมันในนม น้ำตาลนั้นไม่ได้ลดลง สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูงจึงไม่ควรกินทุกวัน

ทั้งนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ ควรออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทกหรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากรู้สึกหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่สามารถพูดคุยได้จนจบประโยคโดยไม่หอบขณะเดินหรือออกกำลังกายแบบอื่น แล้วมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพัก แล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะ ทุก 10-15 นาที

"ที่สำคัญควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100 – 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูงและผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังอีกทางหนึ่งด้วย" นพ.บัญชา กล่าว

ขอบคุณ กรมอนามัย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0