โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

13 ชนิดเครื่องแต่งกายที่แอบทำลายสุขภาพของคุณ

issue247.com

อัพเดต 24 ก.ย 2561 เวลา 05.50 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2561 เวลา 00.00 น.

Photo Credit : GETTY/ TARA RICE

ทุกครั้งที่แต่งตัวในตอนเช้าคุณอาจพิจารณาถึงสภาพอากาศ แผนการหลังเลิกงาน และการซักอบรีดด้วยความเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่คุณอาจจะลืมนึกถึงสุขภาพของตัวเอง แม้ว่าคุณจะรักษาสุขอนามัยอย่างเหมาะสมแต่อันตรายเหล่านี้อาจจะกำลังซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าของคุณอยู่ก็เป็นได้

 

1. กางเกงยีนส์ทรงเดฟ

กางเกงยีนส์ทรงเดฟจะบีบรัดเส้นประสาทในขาหนีบและขาทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ขาท่อนล่างน้อยลงจนกล้ามเนื้อเสียหาย บวมและชา นอกจากนี้การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปจะทำให้เกิดการเสียดสีกับผิวหนังซึ่งอาจไปรบกวนเกราะป้องกันผิวที่ช่วยปกป้องคุณจากการติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้นเสื้อผ้ารัดรูปจะทำให้คุณเหงื่อออกมากขึ้นจนกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรีย คุณอาจต้องใช้ยาแก้แพ้ ครีมต้านเชื้อราหรือยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดผื่นคัน หากต้องการใส่กางเกงยีนส์ทรงเดฟควรเลือกชนิดที่ยืดได้บ้าง ซักหลังใส่ทุกๆ 2-3 ครั้ง และหลีกเลี่ยงการนั่งยองเป็นเวลานานๆ

 

2. เสื้อรัดรูปและชุดกระชับสัดส่วน

ถุงน่องและชุดกระชับสัดส่วนอาจดูเหมือนว่าไม่มีอันตรายแต่พวกมันสามารถทำลายสุขภาพของคุณได้ไม่ต่างจากผ้ายีนส์ ชุดกระชับสัดส่วนที่รัดแน่นเกินไปจะบีบอวัยวะทำให้ปวดท้องและกรดไหลย้อน ทางที่ดีควรเลือกใส่เฉพาะในโอกาสพิเศษและจำกัดเวลาในการใส่ด้วย

 

3. ชุดจั๊มพ์สูทขาสั้น

แม้ว่าจะสวมใส่ง่ายแต่ก็ยุ่งยากเวลาถอดเพื่อปลดทุกข์ ด้วยเหตุนี้อาจทำให้คุณเข้าห้องน้ำน้อยลง เมื่อคุณละเลยที่จะเข้าห้องน้ำปัสสาวะก็จะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนทำให้เกิดอาการปวดเหนือกระดูกหัวหน่าวหรือที่หลังส่วนล่าง เป็นไข้ รู้สึกเจ็บปวดเวลามีเซ็กส์ รวมถึงอาการอื่นๆที่มาพร้อมกับการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นคุณควรดื่มน้ำตามปกติและจัดเวลาเข้าห้องน้ำอย่างน้อยทุกๆ 3 ชั่วโมง

 

4. ชุดนอนเมื่อคืน

การเปลี่ยนชุดนอนมีความสำคัญไม่ต่างจากการเปลี่ยนชุดชั้นในโดยเฉพาะผู้ที่นอนโดยไม่สวมชุดชั้นใน คุณคงไม่อยากให้ชุดนอนสกปรกสัมผัสกับท่อปัสสาวะเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้ในบริเวณนั้น การแก้ปัญหาง่ายๆคือนอนในชุดนอนที่สะอาดทุกคืน (หรืออย่างน้อยก็ควรสวมชุดชั้นในที่สะอาด)

 

5. กางเกงในจีสตริง

เมื่อสายของกางเกงในจีสตริงเลื่อนไหลไปมาระหว่างทวารหนักกับช่องคลอดจะทำให้เชื้อแบคทีเรียและไวรัสแพร่กระจายและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ ทางที่ดีคุณควรเลือกใส่กางเกงในที่พอดีตัวเพื่อไม่ให้มันเลื่อนไปมาได้

 

6. กางเกงเลกกิ้ง

กางเกงเลกกิ้งเป็นเสื้อผ้าที่แนบชิดร่างกายและเมื่อถูไปมากับผิวหนังจะยิ่งดูดซับเหงื่อและน้ำมันมากขึ้น พูดง่ายๆคือกางเกงเลกกิ้งอาจจะเป็นเสื้อผ้าที่สกปรกที่สุดก็เป็นได้ การใส่กางเกงเลกกิ้งไปออกกำลังกายติดต่อกันมากกว่า 2 ครั้งอาจทำให้เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก ผิวหนังลอกหรือตกสะเก็ด และมีผื่นคัน

 

7. ชุดว่ายน้ำ

ชุดบิกินี่ท่อนล่างที่เปียกชื้นอาจจะกลายเป็นแหล่งสะสมของยีสต์และเชื้อแบคทีเรียเนื่องจากผ้าใยสังเคราะห์จะกักเก็บความชื้น แต่คุณไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แค่เปลี่ยนท่อนล่างออกทันทีที่ว่ายน้ำเสร็จ นอกจากนี้บิกินี่ท่อนล่างที่รัดแน่นจะลดการไหลเวียนของอากาศที่บริเวณหว่างขาและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นควรเลือกชุดว่ายน้ำให้พอดีตัว ปราศจากรอยกดทับบนผิวหนัง และมีความยืดหยุ่นเพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อและตุ่มแดงคันจากการเสียดสี

 

8. ชุดชั้นในย้อมสี

เนื่องจากสีย้อมผ้าอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวบริเวณช่องคลอดของคุณโดยเฉพาะถ้าคุณมีผิวแพ้ง่ายหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อซ้ำบริเวณช่องคลอด ดังนั้นผ้าฝ้ายสีขาวจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

9. กางเกงยีนส์

หรือกางเกงอื่นๆที่มีตะขอ หมุด กระดุมเนื่องจากโลหะเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะผสมนิกเกิลซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองผิวมากที่สุดรวมถึงอาจทำให้เกิดผื่นใต้สะดือด้วย ทางแก้คือเคลือบหมุดโลหะด้วยน้ำยาทาเล็บหรือใช้กระดาษกาวแผ่นเล็กๆติดไว้ก็จะช่วยกั้นโลหะเหล่านี้จากผิวของคุณได้แล้ว

 

10. เสื้อชั้นในเสริมโครง

เช่นเดียวกับหมุดโลหะเนื่องจากโครงของเสื้อยกทรง (ตะขอรวมถึงที่ปรับสายรัดซึ่งทำจากโลหะด้วย) มักจะทำมาจากนิกเกิล คุณไม่จำเป็นต้องทิ้งเสื้อชั้นในเสริมโครงเหล่านี้ไป เพียงหาอะไรมาติดกั้นระหว่างโลหะกับผิวของคุณ หรือใช้น้ำยาทาเล็บทาเคลือบบริเวณที่เป็นโลหะหากคุณมีอาการคันในบริเวณนั้น

 

11. ปลอกรัดข้อมือกันเหงื่อ

นอกจากปลอกรัดข้อมือเหล่านี้จะช่วยดูดซับเหงื่อแล้วมันยังรวบรวมเอาแบคทีเรียที่ติดอยู่รอบๆด้วยแม้ว่าผ้าจะแห้งก็ตาม การสวมใส่ซ้ำๆจะทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายและทำให้เป็นสิว แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้

 

12. รองเท้าส้นสูง

การใส่รองเท้าส้นสูงเพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ในเวลาไม่กี่ปีอาจทำให้กล้ามเนื้อข้อเท้าไร้ความสมดุลและคุณอาจบาดเจ็บจากสาเหตุดังกล่าวได้ การยกส้นเท้า (ยืนเท้าเปล่าและเขย่งบนปลายเท้า) และการวางส้นเท้า (ยืนบนขอบบันไดและค่อยๆลดส้นเท้าลง) สามารถช่วยบำบัดได้

 

13. รองเท้าแตะ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารองเท้าแตะเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งที่น่าขยะแขยงไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้หากหนังหุ้มด้านข้างเล็บหรือผิวหนังฉีกขาดและไม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีเยี่ยม ยิ่งไปกว่านั้นรองเท้าแตะจะทำให้ปวดส้นเท้า นิ้วเท้าผิดรูป และส่งผลกระทบต่อท่าทางจนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและเจ็บปวดอื่นๆตามมา ดังนั้นควรเก็บรองเท้าแตะไว้ใช้ในห้องน้ำโรงยิมหรือสระว่ายน้ำบนดาดฟ้า และหันมาสวมใส่รองเท้าเพื่อสุขภาพแทนจะดีกว่า

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0