โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

100 ปีภาพยนตร์เกาหลี จากหนังเงียบขาว-ดำพากย์หลบๆ สู่ยักษ์ใหญ่ที่ทั่วโลกต้องหันมอง

The Momentum

อัพเดต 26 ก.พ. 2563 เวลา 07.29 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 13.05 น. • ณัฐกานต์ อมาตยกุล

In focus

  • เริ่มมีการนำเข้าภาพยนตร์มาในเกาหลีตั้งแต่ปี 1903 แต่สาเหตุที่ 2019 นับเป็นวาระ 100 ปีภาพยนตร์เกาหลี เป็นเพราะ Fight for Justiceที่ผลิตในปี 1919 ถูกนับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเกาหลี แม้ว่าภาพยนตร์นั้นจะเป็นแนวผสมผสานระหว่างภาพเคลื่อนไหวกับการแสดงละครเวที 
  • ภาพยนตร์เงียบในเกาหลีจะมีการพากย์ประกอบระหว่างฉาย ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเชิดชูชาติ โดยในช่วงที่อยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น หลายๆ ครั้งเนื้อหาที่พากย์ก็บิดผันไปเพื่อหลบเลี่ยงการเซนเซอร์ของเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นที่เข้ามาจดคำพูดเพื่อนำไปตีความหาความผิดอีกที
  • ช่วงกลางทศวรรษ 1950s เป็นยุคที่วงการภาพยนตร์เกาหลีเริ่มคึกคัก สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มืดหม่นของเกาหลี ทั้งความยากจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีที่เพิ่งจบไปใหม่หมาด อะไรทำให้คนเรามีไฟทำหนังในช่วงเวลาแบบนี้?

เสียงชกกันตุบตับไร้เพลงประกอบ ดูงึกงักน่าขัน ในภาพยนตร์ขาว-ดำของเกาหลี

ชายใส่สูทสองคน คนหนึ่งสูงโปร่ง ดูออกว่าเป็นพระเอก คนหนึ่งหน้าท้วมมีหนวด แม้จะฟังสำเนียงไม่ออก แต่ก็เดาได้จากจังหวะจะโคนการพูดเช่นกันว่าเป็นตัวโกงแน่นอน ผลัดกันเดินหนีแล้วแลกหมัดตุบสองตุบในถ้ำ 

อาจเพราะเราไม่คุ้นชินกับฉากแอคชันที่สงัดจนเหมือนหนังเงียบ มีแค่เสียงหมัดประดิษฐ์ที่ไม่แนบเนียน ฉากที่ควรเป็นไคลแม็กซ์ตรงหน้าจึงกลายเป็นตลกที่ทำให้พ่นลมพรืดออกจมูก

นั่นคือหนังหนึ่งเรื่องในอีกหลายเรื่องที่นิทรรศการ 1950s Korean Film, Moving into a New Epoch: A Special Exhibition Commemorating the Centenary of Korean Filmนำมาจัดแสดงในห้องฉายภาพยนตร์ นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัยแห่งชาติ (National Museum of Korean Contemporary History) เพื่อฉลองวาระครบรอบ 100 ปีกำเนิดภาพยนตร์เกาหลี เริ่มจัดแสดงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

หากสังเกตชื่องาน เหตุผลที่นิทรรศการนี้เพ่งจุดสนใจไปที่ช่วงกลางทศวรรษ 1950s เป็นพิเศษ เพราะเป็นยุคที่วงการภาพยนตร์เริ่มคึกคัก สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มืดหม่นของเกาหลี ทั้งความยากจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีที่เพิ่งจบไปใหม่หมาด

อะไรทำให้คนเรามีไฟทำหนังในช่วงเวลาแบบนี้

อะไรทำให้คนเรายังออกมาดูหนังในช่วงเวลาแบบนี้ได้

คำตอบอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเชิงโครงสร้างอย่างการสนับสนุนของรัฐบาล (อย่างเดียว) สิ่งที่เราสนใจคือในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์เนื้อเรื่อง ผู้กำกับเหล่านี้เลือกจะเล่าเรื่องอะไรบ้าง เมื่อภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชนหลักที่ผู้คนเข้าถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ในยุคนั้น

ก่อนที่หนังขาว-ดำแลดูเก้งก้าง พระเอก-ตัวโกงแสดงตัวเองชัดเจนจนคนดูเขินแทนนั้น จะก้าวมาสู่หนังหลากสีสันของวงการภาพยนตร์ร่วมสมัย หลากหลายเรื่องราว หลากหลายมิติ และหนึ่งในนั้นได้เข้าไปคว้ารางวัลออสการ์ ภาพยนตร์เกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ในภาพรวมนั้นหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอะไรบ้าง นิทรรศการนี้จะบอกเล่าให้เราฟัง

คิโน ละครเวทีบนผืนจอ สู่หนังเงียบหลบเซนเซอร์

เจสัน เบเชอเวส์ (Jason Bechervaise) อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยไซเบอร์ซุงชิล ผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Bong Joon-ho and the Korean Film Industry: The National and Transnational Intersection(2017) จากมหาวิทยาลัยฮันยาง มาบรรยายในฐานะวิทยากรจาก Royal Asiatic Society สาขาเกาหลี 

เขาเริ่มจากการเท้าความว่า เริ่มมีการนำเข้าภาพยนตร์มาในเกาหลีตั้งแต่ปี 1903 แต่สาเหตุที่ 2019 นับเป็นวาระ 100 ปีภาพยนตร์เกาหลี เป็นเพราะการถือเอาภาพยนตร์ดรามาเรื่อง Fight for Justiceที่ผลิตในปี 1919 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเกาหลี แม้ที่จริงภาพยนตร์นั้นเป็นแนว ‘คิโน’ (Kino) หรือการผสมผสานระหว่างภาพเคลื่อนไหวกับการแสดงละครเวที ภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้นคือการฉายฉากกลางแจ้งประกอบการแสดง (หมายเหตุ: Fight for Justice คือภาพยนตร์บนปกบทความ)

ต่อมาคือยุคของภาพยนต์เงียบ (silent movie) หากแต่ไม่เหมือนภาพยนตร์เงียบของอเมริกาที่บางครั้งก็เงียบสนิท บางครั้งมีเพลงประกอบ ภาพยนตร์เงียบแบบเกาหลีต้องใช้การบรรเลงเพลงประกอบและมีผู้พากย์เสียง (byeonsa) แยกออกมา 

ตัวอย่างภาพยนตร์เงียบที่มีชื่อเสียง เช่น Arirang (1926) แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ม้วนฟิล์มหายสาบสูญ แต่ก็ยังมีบันทึกเกี่ยวกับเค้าโครงเรื่องเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาปลุกความรักชาติในหมู่คนเกาหลี (ชื่อ ‘อารีรัง’ ก็มาจากเพลงพื้นบ้านของเกาหลี) ในยุคที่จักรวรรดิญี่ปุ่นยังยึดครองเกาหลีและสอดส่องอย่างเข้มงวด เบเชอเวส์กล่าวว่า บทพากย์สดเพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ หลายๆ ครั้งก็บิดผันไปเพื่อหลบเลี่ยงการเซนเซอร์ของเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นที่เข้ามาจดคำพูดเพื่อนำไปตีความหาความผิดอีกที เช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบอีกหลายๆ เรื่องในยุคนั้น

แม้จะรู้ว่าเคยมีภาพยนตร์เหล่านี้อยู่ แต่การกวาดล้างบันทึกในม้วนฟิล์มเหล่านั้น และบทพากย์ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อหลบเลี่ยงต่ออำนาจนิยม ก็ทำให้ทุกวันนี้การศึกษาภาพยนตร์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก

เมื่อเกาหลีเป็นอิสระจากญี่ปุ่นเมื่อสงครามที่ 2 จบลงในปี 1945 ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จากเกาหลีในช่วงนี้จึงเป็นไปในแนวปลุกใจให้รักชาติ และเชิดชูขบวนการปลดปล่อยชาวเกาหลีเป็นหลัก

แต่ระหว่างปี 1950-1953 ที่เกิดสงครามเกาหลี หน่วยงานราชการหลายแห่งของฝั่งเกาหลีใต้ได้ย้ายลงใต้ไปแถบปูซานและเมืองข้างเคียงเพื่อความปลอดภัย อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาย้ายฐานไปอยู่ที่เมืองแทกู ก่อนจะกลับมาอยู่ย่านชงมูโรในโซลเมื่อสงครามสงบ

4 พัฒนาการภาพยนตร์เกาหลี mid-1950s

นิทรรศการนี้ แม้จะได้ชื่อว่าจัดขึ้นเพื่อฉลอง 100 ปีภาพยนตร์เกาหลี (ซึ่งเหมาเอาผลงานทั้งเกาหลีใต้-เหนือ) แต่กลับเล็กและไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมากนัก เป็นเหมือนส่วนจัดแสดงแผ่นพับและโปสเตอร์ภาพยนตร์เก่าๆ ที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแทน จอฉายตัวอย่างเล็กๆ และคำบรรยายอย่างย่อ ซึ่งน่าเสียดายสำหรับผู้ที่ต้องการรู้เรื่องราวเชิงลึกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

กลางทศวรรษ 1950s หรือไม่กี่ไปหลังจากสองเกาหลีได้ทำสนธิสัญญาหยุดยิง ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นับว่าประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ แทนที่ภาพยนตร์ให้ความรู้หรือแฝงอุดมการณ์ทางการเมือง คือเรื่อง Chun-Hyang Story(춘향전) (1955) ซึ่งเป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ (หรือหนังพีเรียด) ว่าด้วยความรักระหว่างชายผู้สูงศักดิ์กับหญิงสาวชาวบ้าน ได้รับความนิยมติดต่อกันในโรงภาพยนตร์นานถึงสองเดือน เรียกว่าจุดประกายให้คนทำหนังในเกาหลีริเริ่มทำภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงมากขึ้น เพื่อเลียนแบบความสำเร็จของ Chun-Hyang Story ในปี 1956 จึงมีภาพยนตร์แนวพีเรียดสร้างขึ้นมากถึง 16 เรื่องจากภาพยนตร์ 30 เรื่อง โดยเน้นไปที่เรื่องราวชีวิตตัวละครมากกว่าจะยึดติดอยู่กับข้อมูลจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ส่วนอีกเรื่องที่เป็นที่กล่าวขานคือ Piagol (피아골) (1955) ภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ดันถูกกล่าวหาว่าเชิดชูคอมมิวนิสต์ เพราะตัวเนื้อเรื่องเลือกจะมองความเป็นมนุษย์ของตัวละครมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน 

เมโลดรามากลายมาเป็นสนามประลองระหว่างการปะทะกันของแนวคิดอนุรักษนิยมและเสรีนิยม ท่ามกลางสังคมเกาหลีที่เริ่มชิมลางสังคมสมัยใหม่ อย่างภาพยนตร์ Madame Freedom(자유부인) (1956) ที่ตัวละครหญิงเป็นภาพแทนของหญิงสาวสมัยใหม่ บริโภคสินค้าและเสพวัฒนธรรมตะวันตก มีฉากหญิงสามชุดฮันบกนั่งดูดซิการ์ ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวที่แต่งงานแล้วและชายแปลกหน้าเรียกเสียงฮือฮาและต่อต้านจากสังคมเกาหลี กระนั้น เนื้อหางานนิทรรศการตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตัวละครหญิงที่รักอิสระจะโดดเด่น แต่เธอก็ยังรับบทเป็นเพียงสิ่งที่มีไว้ชื่นชมหรือลงทัณฑ์โดยสังคมอยู่ดี

แม้ยุคนี้จะไม่มีกระแสสตรีนิยมโหมแรงอย่างปรากฎการณ์คิมจียอง แต่ 1950s ยังเป็นจุดกำเนิดของภาพยนตร์ที่สร้างโดยผู้กำกับสตรีคนแรก พัคนามก (Park Nam-ok) กับเรื่อง ​The Widow(미망인) (1955) 

ภาพยนตร์ตลกก็เป็นอีกหนึ่งประเภทที่เฟื่องฟูขึ้นมาในยุคนี้ สะท้อนทัศนะที่มองโลกเชิงบวกภายหลังความทุกข์โศกจากสงคราม ภาพยนตร์ The Wedding Day ภาพยนตร์ตลกว่าด้วยโชคชะตาที่พลิกผันของสาวใช้ที่ถูกจับแต่งตัวไปแทนเจ้าสาวตัวจริง เนื่องจากครอบครัวฝ่ายหญิงได้ยินข่าวลือมาว่าเจ้าบ่าวร่างกายพิการแม้จะเป็นข้าราชการระดับสูงก็จะไม่ยอมให้ลูกตัวเองไปแต่งด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ตลกยอดเยี่ยม จาก Tokyo Asia Film Festival ในปี 1957 นับเป็นเรื่องแรกที่ได้รางวัลระดับนานาชาติ ก่อนจะได้รับเชิญไปชายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เบอร์ลินในปีเดียวกัน

ชุงมูโร : ฮอลลีวูดแห่งเกาหลีใต้

อีกเกร็ดที่น่าสนใจที่เจสัน เบเชอเวส์ เล่าให้ฟัง คือเมื่อสองเกาหลีพักรบชั่วคราวในสงครามเกาหลี ฐานการผลิตภาพยนตร์ก็ย้ายจากแทกูมาอยู่ที่ย่านชงมูโรในเกาหลีใต้ มีสตูดิโอผลิตภาพยนตร์เกิดขึ้นอย่างคึกคัก กระทั่งทุกวันนี้ การอ้างอิงถึงชื่อ ‘ชงมูโร’ ในข่าว ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงวงการภาพยนตร์ เหมือนกับที่เราพูดถึงฮอลลีวูดในสหรัฐฯ

ในปี 1954 มีการนำเข้าภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามา 30 เรื่อง แล้วไม่นานก็เพิ่มมาเป็น 212 เรื่องในปี 1959 ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนั้นมาจากฮอลลีวูด เหตุการณ์นี้ทำให้คนทำหนังชาวเกาหลีเริ่มใจคอไม่ดี แต่กลยุทธ์ของพวกเขากลับกลายเป็นการประหยัดต้นทุนเพื่อทำหนังให้ได้มากๆ มาแข่งกับหนังนำเข้าที่ราคาแพงกว่า แต่กลายเป็นว่าคุณภาพกลับออกมาไม่ถึงขั้น

เบเชอเวส์ยังเอ่ยชื่อประธานาธิบดี อีซึงมัน ที่แม้จะมีบทบาทที่ไม่ดีนักในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลี แต่นโยบายงดเว้นภาษีให้กับหนังเกาหลีหรือกฎหมายเกื้อหนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศในยุคนั้น ก็เป็นรากฐานที่สำคัญ แม้จะมาพร้อมกับการควบคุมเนื้อหาอย่างเข้มงวด และเข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีกในยุคของประธานาธิบดีในรัฐบาลทหาร พัคจุงฮี 

แม้ทุกวันนี้ ผู้ผลิตภาพยนตร์ส่วนใหญ่ได้ย้ายจากชุงมูโรไปอยู่ในย่านคังนัมแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1980s เมื่อคังนัมมีธุรกิจการเงินเฟื่องฟู แต่ในภาพจำของสื่อเกาหลี ที่นี่ก็ยังเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์

“ในขณะที่โรงหนังใหญ่ๆ ไม่ฉาย Okja เพราะเป็นหนังที่ฉายในเว็บสตรีมมิงพร้อมโรง แต่เราสามารถหาดูได้ในโรงหนังเล็กๆ ย่านชุงมูโร หรือล่าสุด ก็มีโปสเตอร์ Parasite ขนาดใหญ่ยักษ์ไปติดที่นั่นเพื่อเฉลิมฉลอง” เบเชอเวส์กล่าวด้วยความตื่นเต้น

กระทั่ง 1990s วงการภาพยนตร์ของเกาหลีก็เริ่มลงทุนสร้างภาพยนตร์อย่างมีทิศทางมากขึ้น ธุรกิจใหญ่ๆ เริ่มกระโดดมาลงทุน วางแผนการตลาดและวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมายของแต่ละเรื่องก่อนเริ่มลงมือสร้าง 

สำหรับเบเชอเวส์ เขากล่าวว่าปี 2003 ถือเป็นจุดสุดยอดแห่งวงการภาพยนตร์เกาหลี มีผู้กำกับเก่งๆ หลายคนเกิดขึ้นจากการปฏิรูปวงการภาพยนตร์ในช่วงนี้ (ขณะนั้นบองจุนโฮกำกับหนังเรื่องที่สอง Memories of Murderเสร็จ)

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ชอบหนังหรือเปล่า แต่การที่ Parasite ได้รับรางวัลออสการ์ ก็น่าจะทำให้ผู้ชมจากทั่วโลกหันมามองและปัดฝุ่นผลงานภาพยนตร์เกาหลีโดยผู้กำกับฝีมือดีๆ คนอื่นๆ ที่คุณภาพสูงเช่นกัน

สนับสนุน แต่ปล่อยศิลปินให้สร้างสรรค์

ตรงช่วงรอยต่อสู่กลางทศวรรษที่ 1950s จากเดิมที่วงการภาพยนตร์เกาหลีสนใจผลิตซ้ำการเล่าประวัติศาสตร์มวลรวม ก็หันมาสนใจเล่าเรื่องราวส่วนบุคคลผ่านหนังพีเรียด หรือประวัติศาสตร์ที่มองผ่านชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่อาจแตกต่างกับมุมมองของคนอีกมากมายและผู้จัดนิทรรศการนี้มองว่าเป็นจุดเปลี่ยน จนต้องอุทิศพื้นที่ส่วนนี้เพื่อจัดนิทรรศการโดยเฉพาะ

นั่นคือการเติมสีสันให้เรื่องราวมีหลากหลายเสียง ไม่ใช่เพียงเป็นภาพยนตร์ที่จะมีเพียงเสียงพากย์เดี่ยวๆ ที่เกิดจากถูกควบคุมอย่างแน่นหนา เพื่อบอกว่าใครคือคนดี-ใครคือตัวโกงอย่างทื่อๆ หรือเพื่อป้องกันอิสรภาพแห่งการตีความ (เพราะกลัวผู้ชมเบาปัญญาเกินกว่าจะตัดสินใจเอง?)

ถ้ามีหนังหรือฉากบางฉากที่สร้างด้วยแนวคิดอย่างนั้นในศตวรรษนี้ แทนที่ผู้ควบคุมการสร้างจะจงใจให้หนังออกมาดูขึงขัง ไปๆ มาๆ ฉากในหนังที่ดูเป็นไคลแม็กซ์ปลุกใจ ก็พลันดูปลอมจนน่าเย้ยหยัน ท่ามกลางโลกที่มีจอนับหลายล้านจอให้เลือกดู

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0