โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

10 แฟรนไชส์สื่อวิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกม

Beartai.com

อัพเดต 26 ก.พ. 2563 เวลา 10.30 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 10.00 น.
10 แฟรนไชส์สื่อวิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกม
10 แฟรนไชส์สื่อวิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดของวิดีโอเกมโลกนั้นค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วกว่าสื่อบันเทิงชนิดอื่น ๆ เพราะสื่อวิดีโอเกมนั้นไม่ได้จำกัดแค่เพียงเครื่องเกมเพียงอย่างเดียวแต่มันยังรวมถึงการนำวิดีโอเกมนั้นมาอยู่ในสื่อชนิดอื่นเช่นภาพยนตร์, หนังสือ ไปจนถึงเพลง หรือจะเป็นการนำสิ่งเหล่านั้นมาใส่ในวิดีโอเกมก็สามารถทำได้ เรียกว่าเป็นสื่อที่สามารถครอบคลุมทุกความบันเทิงจึงไม่น่าแปลกใจที่วิดีโอเกมจะเติบโตได้เร็วแบบนี้ และเมื่อเราย้อนกลับมาดูเหล่าวิดีโอเกมที่สามารถแปลงเป็นสื่อบันเทิงอื่น ๆ ได้นั้นก็มีอยู่มากจนบางเกมมีรายได้จากสื่อบันเทิงอื่น ๆ มากกว่าขายเกมก็มีวันนี้เราเลยรวบรวม 10 แฟรนไชส์วิดีโอเกมที่มีรายได้จากสื่ออื่นที่นอกจากขายเกมมานำเสนอ โดยเราจะนับเฉพาะวิดีโอเกมที่มีรายได้จากสื่ออื่นที่นอกจากขายเกมเท่านั้นไม่นับสื่อวิดีโอเกมที่ขายเกมอย่างเดียวแต่มีรายได้สูงจะมีเกมอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย

แบไต๋
แบไต๋

อันดับที่ 10 Sonic the Hedgehog รายได้ 7.560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Sonic the Hedgehog
Sonic the Hedgehog

เริ่มต้นกับเกมแรกที่หลายคนตอนนี้น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะภาพยนตร์กำลังโกยเงินในฐานะวิดีโอเกมที่สร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งมีรายได้สูงที่สุดในตอนนี้กับเจ้าเม่นสีฟ้า Sonic the Hedgehog โดยเจ้าเม่นสีฟ้าตัวนี้เปิดตัวภาคแรกบนเครื่อง Mega Drive ในปี 1991 ในฐานะเกมที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเกมชื่อดังอย่าง Super Mario ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ในตอนนั้นกับรูปแบบของความเร็วในการเล่นที่ผู้เล่นต้องใช้การจับจังหวะและการควบคุมที่สูงกว่าการเล่นเกมทั่วไปในยุคนั้นจนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ที่ถ้าจะให้เห็นภาพสำหรับคนที่ไม่เคยเล่นเกมนี้ก็คงจะเป็นการเล่นแบบ Speedrun ในยุคนี้และเจ้า Sonic ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่เกมขายดีเพียงอย่างเดียวแต่มันถูกออกแบบมาเป็นตัวนำโชคของบริษัท Sega ในตอนนั้นที่อยากจะมีตัวละครเป็นของตัวเองแบบที่ Nintendo มี Mario อะไรแบบนั้น Sonic จึงถือกำเนิดขึ้นมาและเป็นแบบที่เราเห็น

Sonic the Hedgehog
Sonic the Hedgehog

ในส่วนของรายได้นั้นตัวของ Sonic มีรายได้จากการขายเกมอยู่ที่ 6.343 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักให้กับแฟรนไชส์นอกจากนี้ก็มียอดขายหนังสือการ์ตูน Sonic ที่ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องไปจนถึงการ์ตูนที่ฉายทางทีวีที่ส่งผลให้มีรายได้จากยอดขายสินค้าอื่น ๆ เช่นของเล่นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ Sonic มาติดอันดับที่ 10 และกำลังจะไต่อันดับขึ้นมาอีกในอนาคตก็เพราะรายได้จากภาพยนตร์ Sonic the Hedgehog ที่ตอนนี้กำลังกลายเป็นกระแสที่หลายคนต่างชื่นชอบจนทำรายได้สามวันแรกไปที่ 54.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จน Sonic the Hedgehog กลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากวิดีโอเกมที่ทำรายได้เปิดตัวสูงที่สุดในตอนนี้จนเอาชนะ Pokemon Detective Pikachu ไปได้อย่างขาดลอยจนถึงตอนนี้(ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด) Sonic the Hedgehog ฉบับภาพยนตร์สร้างรายรับไปกว่า 203 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเรียบร้อยคงต้องรอดูกันต่อไปว่ายอดตัวเลขภาพยนตร์จะไปจบที่ตรงไหนซึ่งถ้าจะนับเฉพาะตอนนี้แฟรนไชส์ Sonic the Hedgehog ก็มีรายได้สูงถึง 7.560 พันดอลลาร์สหรัฐฯ

Sonic the Hedgehog
Sonic the Hedgehog

อันดับที่ 9 Angry Birds รายได้ 8.432 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Angry Birds
Angry Birds

มาถึงอันดับที่ 9 กับเกมนกโกรธอย่าง Angry Birds ที่ครั้งหนึ่งเกมนี้เคยสร้างความยิ่งใหญ่สมัยที่มันออกมาในปี 2009 กับรูปแบบการเล่นที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนของการควบคุมแรงดึงของเครื่องยิงเพื่อส่งนกไปชนสิ่งปลูกสร้างของเจ้าพวกหมูสีเขียวที่ขโมยไข่ของพวกนกไป ตัวเกมสร้างความสนุกอย่างไม่น่าเชื่อจนหลายคนต่างหลงรักเกมซีรีส์นี้จนทำให้มีภาคต่อออกมาอย่างมากมายและกวาดรางวัลต่าง ๆ รวมถึงยอดดาวน์โหลดมากกว่า 3,000 ล้านครั้งในทุกแพลตฟอร์มโดยที่มาของเจ้าหมูสีเขียวในเกม  Angry Birds นั้นมีที่มาจากโรค Swine influenza หรือไข้หวัดใหญ่สุกรในปี 2009 ทางทีมพัฒนาจึงใส่หมูและให้มันมีสีเขียวที่เหมือนการอมโรคลงไปในเกมนั่นเอง

Angry Birds
Angry Birds

ในส่วนของรายได้นั้นทาง Rovio Entertainment มีรายได้จากเกมในซีรีส์ Angry Birds อยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ก็มีรายได้จากภาพยนตร์ Angry Birds Movie ทั้ง 2 ไปจนถึง DVD & Blu-ray The Angry Birds Movie แต่รายได้หลักที่แท้จริงของ Angry Birds มาจากยอดขายสินค้าอื่น ๆ เช่นของเล่นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เอาตัวละครนกโกรธมาใช้ที่สูงถึง 8.297 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเหตุนี้ทาง Rovio Entertainment จึงพยายามสร้างเกมหรือภาพยนตร์ออกมาเรื่อย ๆ ก็เพราะรายได้หลักของ Angry Birds มาจากการขายสินค้าเหล่านี้เรียกว่าถึงภาพยนตร์จะไม่ประสบความสำเร็จแต่สินค้าก็ยังขายได้แบบนี้เราคงจะได้เห็นนกโกรธในวงการเกมไปอีกนานเลยทีเดียวและถ้าเรารวมรายได้แฟรนไชส์ Angry Birds รวมกันก็จะสูงถึง 8.432 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว

Angry Birds
Angry Birds

อันดับที่ 8 Street Fighter รายได้รวม 11.500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Street Fighter
Street Fighter

เมื่อพูดถึงเกมต่อสู้ระดับตำนานที่มีอายุยาวนานมากกว่า 30 ปีหลายคนต้องคิดถึงเกม Street Fighter ที่แม้ตัวเกมจะมีภาคหลักเพียงแค่ 5 ภาคแต่ตัวเกมกลับมีภาคแยกภาคย่อยอีกหลายสิบภาคจนไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นเกม Street Fighter มาติดในอันดับที่ 8 กับรายได้สูงถึง 11.500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเกม Street Fighter นั้นปล่อยบนเครื่องเกมตู้ในปี 1987 ที่ในภาคแรกนั้นตัวเกมจะให้เราควบคุม Ryu ในการต่อสู้กับนักสู้ชาติต่าง ๆ ทั้ง 10 คนและคนสุดท้ายที่เราจะได้สู้คือนักมวยไทยในตำนานอย่าง Sagat ก่อนที่ใน Street Fighter ll ตัวเกมจะพัฒนาขึ้นและเปลี่ยนมาเป็นแนวต่อสู้ 1 ต่อ 1 ที่มีตัวละครทั้ง 8 คนมาต่อสู้กันพร้อมเปิดตัว Chun-Li ตัวละครหญิงคนแรกที่สร้างความแปลกใหม่ให้วงการเกมมาจนถึงทุกวันนี้

Street Fighter
Street Fighter

และถ้าเรานับรายได้จากวิดีโอเกมเพียงอย่างเดียวนั้นเกม Street Fighter ก็มีรายได้สูงถึง 11.279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอย่างที่เราทราบกันดีว่า Street Fighter นั้นเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วในช่วงปี 1994 จึงทำให้มีรายได้จาก Box office และ Home video(ม้วนวิดีโอ) และแผ่น Soundtrack album ที่ก็สร้างรายได้ให้ Capcom เป็นอย่างดี กับอีกหนึ่งธุรกิจที่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งสร้างรายได้อย่างงดงามให้กับค่ายเกมนั่นคือตู้ Pachinko ที่สร้างรายได้ให้ Capcom สูงถึง 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มิน่า Konami ถึงเอาเกมของตัวเองมาทำตู้ Pachinko เพราะรายได้มันสูงขนาดนี้นั่นเอง

Street Fighter
Street Fighter

อันดับที่ 7 Warcraft รายได้รวม 11.700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Warcraft
Warcraft

เมื่อพูดถึงเกม Warcraft เชื่อว่าหลายคงจะได้ข่าวถึงประเด็นเกม Warcraft ภาคใหม่อย่าง Warcraft III Reforged ที่แฟน ๆ ต่างบ่นด้วยความไม่พอใจถึงคุณภาพที่ต่ำลงของ Blizzard Entertainment ที่ปล่อยเกมออกมาไม่เหมือนกับที่เคยบอกแฟน ๆ แม้เกม Warcraft III Reforged จะเป็นข่าวเสียที่ทำลายความเชื่อใจของแฟน ๆ ที่ติดตามเกมซีรีส์นี้มากว่า 25 ปีแต่ยอดรวมรวมรายได้ของเกมชื่อ Warcraft ก็ยังแข็งแกร่งและถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เกม Warcraft ก็ได้เปิดตัวภาพยนตร์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Warcraft The Beginning ที่เป็นการเล่าเรื่องราวของจุดเริ่มต้นสงครามในเกมภาคต่อ ๆ มาที่แฟน ๆ หลายคนต่างชื่นชอบแต่สำหรับคนไม่เคยเล่นเกมหรือทราบเรื่องราวของ Warcraft มาก่อนต่างพากันนั่งเกาหัวว่าอะไรคืออะไรระหว่างดูแต่โดยรวมแล้วตัวภาพยนตร์ก็ดูสนุกและน่าสนใจมาก ๆ

Warcraft The Beginning
Warcraft The Beginning

ในส่วนของรายได้โดยรวมที่ Warcraft ทำให้กับ Blizzard Entertainment ก็ราว ๆ 11.700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นตัวเกมเพียงอย่างเดียวก็สูงถึง 11.277 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ่งที่ทำให้เกม Warcraft ติดอันดับที่ 7 คือรายได้จากภาพยนตร์ที่สูงถึง 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถึงแม้จะรวมยอดขายแผ่น DVD และ Blu-ray ไปด้วยก็ยังทำให้ภาพยนตร์ Warcraft ขนาดทุนอยู่ดีเพราะภาพยนตร์ใช้ทุนสร้างสูงถึง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหลายคนอาจจะงงว่ามันขาดทุนตรงไหน จากรายงานของ The Hollywood Reporter บอกว่าตัวภาพยนตร์ต้องเสียค่าโฆษณาและข้อสัญญาทางด้านสินค้ารวมถึงค่าลิขสิทธิ์ดิจิทัลที่ตกลงกับจีนเป็นตัวเงินราว ๆ  24 ล้านเหรียญและรายจ่ายอื่น ๆ อีกมากมายจนสรุปจบตัวเลขแล้วภาพยนตร์ Warcraft จะขาดทุนถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมาเราคงจะไม่เห็นภาพยนตร์ Warcraft ภาค 2 ไปอีกนานแสนนาน

Warcraft
Warcraft

อันดับที่ 6 Final Fantasy รายได้รวม 12.200  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Final Fantasy
Final Fantasy

คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากกับเกมในซีรีส์ Final Fantasy ที่นักเล่นเกมทุกคนที่แม้จะไม่เคยเล่นเกมในซีรีส์นี้เลยก็คงต้องรู้จักหรือเกมเห็นเกมภาคใดภาคหนึ่งจากหลายสิบภาคของเกมซีรีส์นี้ที่มีภาคหลักไปแล้วถึง 15 ภาคแต่กลับมาภาคแยกย่อยอีกมากมายจนเราสามารถเอามาแยกเป็นบทความเรื่องต่าง ๆ ได้หลายหัวข้อเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในการทำตลาดของค่าย Square Enix ที่ต้องการขยายตัวเกมไปที่เกมแนวอื่น ๆ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่รวมถึงภาพยนตร์ที่เรียกว่าเป็นการขาดทุนครั้งยิ่งใหญ่ของทั้งวงการเกมและวงการภาพยนตร์กับความล้มเหลวทางรายได้ของ Final Fantasy The Spirits Within ที่ใช้ทุนสร้างสูงถึง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ได้กลับมาเพียง 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นเล่นเอาบริษัท Square ในตอนนั้นแทบล้มละลายจนต้องรวมบริษัทกับ Enix เพื่อความอยู่รอดเลยทีเดียว

Final Fantasy The Spirits Within
Final Fantasy The Spirits Within

ในส่วนของรายได้รวมแฟรนไชส์ Final Fantasy ก็ทำรายได้สูงถึง 12.200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรายได้จากเกมอย่างเดียวก็สูงถึง 10.985 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าที่ได้รับอนุญาต เช่นของเล่นของใช้ต่าง ๆ ที่แปะตัวละคร Final Fantasy ก็สูงถึง 416.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ก็มีรายได้จาก Home video ที่เป็นภาพยนตร์ของ Final Fantasy ที่ไม่ได้มีแค่ The Spirits Within แต่ยังมีภาพยนตร์ Final Fantasy VII Advent Children และการ์ตูนที่ออกเป็นแผ่นและวิดีโอแบบเช่ารวมกันก็สูงถึง 343 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนรายได้จากภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหนังก็ทำได้เพียง 85 ล้านที่น้อยกว่ารายได้จาก Home video เสียอีกนอกจากนี้ก็มีรายได้จากการขายแผ่นประกอบเพลงและหนังสือที่รวมกันก็ทำรายได้ถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดท้ายด้วย  Card game ที่ทำรายได้ให้ Square Enix อีกทางด้วยเรียกว่าสร้างมาทีก็คุ้มค่าเลยทีเดียวคงต้องรอดูต่อไปว่า Final Fantasy VII Remake จะทำให้อันดับแซง Dragon Quest ในอันดับต่อไปได้รึเปล่า

Final Fantasy 7
Final Fantasy 7

อันดับที่ 5 Dragon Quest รายได้รวมทั้งหมด 12.900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Dragon Quest
Dragon Quest

เชื่อว่าหลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมซีรีส์ Dragon Quest ถึงมีรายได้สูงกว่าเกมซีรีส์ Final Fantasy ทั้งที่ทั่วโลกเกม Final Fantasy ก็ดูจะเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมที่สูงกว่า  Dragon Quest นั่นก็เพราะในประเทศญี่ปุ่นที่มีกำลังซื้อสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและคนญี่ปุ่นก็ชื่นชอบเกมซีรีส์  Dragon Quest มากกว่านั่นเองซึ่งความนิยมนี้มีมาตั้งแต่อดีตที่เกมนี้วางจำหน่ายภาคแรกเมื่อปี 1986 จนมาถึงตอนนี้กว่า 30 ปีที่ผ่านเกมซีรีส์ Dragon Quest ก็ยังคงได้รับความนิยมกับเนื้อเรื่องที่เป็นเทพยายเกี่ยวกับผู้กล้าการเดินทางและเรื่องราวที่ไม่เหมือนใครทั้งสนุกหักมุมซับซ้อนแต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากแถมด้วยระบบการเล่นที่ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ทุกภาคแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยอีกด้วย และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้แฟรนไชส์ Dragon Quest มีรายได้มากมายขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากความคิดและควบคุมของผู้ให้กำเนิดอย่างคุณ  Yuji Horii ที่เป็นคนแต่งเนื้อเรื่องและออกแบบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกมซีรีส์นี้ไม่ว่าจะเป็นภาคหลักทั้ง 11 ภาครวมถึงภาคแยกภาคย่อยก็มาจากความคิดของคุณ Horii เป็นคนควบคุมต่างกับเกมซีรีส์อื่นที่มักจะเปลี่ยนผู้พัฒนาเมื่อขึ้นภาคใหม่จึงอาจจะขาดความต่อเนื่องและเข้าใจซีรีส์นี้แบบต้นฉบับอย่างที่ Dragon Quest มี

Dragon Quest
Dragon Quest

และเมื่อดูจากรายได้ของซีรีส์ Dragon Quest ที่มาจากเกมนั้นก็สูงถึง 6.501 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน้อยกว่า Final Fantasy อยู่มากมายเลยทีเดียวแต่แฟรนไชส์ Dragon Quest ก็มีรายได้อื่น ๆ ที่เป็นตัวช่วยสร้างรายได้อย่าง Manga magazine หนังสือบทสรุปเกมหรือการรวมภาพสวย ๆ จากเกมที่หลายคนต่างหลงรักเกมซีรีส์นี้เพราะลายเส้นการวาดและออกแบบตัวละครของอาจารย์ Akira Toriyama ผู้ให้กำเนิด Dragon Ball ที่ทำให้เกิดการขายสินค้าต่าง ๆ จากเกมนี้มีสูงถึง 988.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ก็ยังมี Manga volumes ที่เป็นการนำตัวละครหรือเรื่องราวในเกม Dragon Quest มาทำเป็นหนังสือการ์ตูนมากมายหลายสิบเรื่องที่ดัง ๆ ในบ้านเราก็มี Doragonquesuto Daibouken หรือ ได้ตะลุยแดนเวทมนตร์ที่เรารู้จักกับ Dragon Quest สัญลักษณ์แห่งผู้กล้าโรโตะและอีกมากมายและล่าสุด Dragon Quest ก็ได้ทำฉบับภาพยนตร์ขึ้นมาครั้งแรกกับ Dragon Quest Your Story ที่ฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วที่ได้เพิ่มยอดรายได้จากการฉายและขายแผ่น DVD ได้อีกเรียกว่าขายได้หลายช่องทางจนสรุปรายได้ของแฟรนไชส์ Dragon Quest ก็สูงถึง 12.900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

Dragon Quest Your Story
Dragon Quest Your Story

อันดับที่ 4 Space Invaders รายได้รวม 13.900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Space Invaders
Space Invaders

มาถึงอันดับที่ 4 แฟรนไชส์สื่อวิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกมที่หลายคนคงจะเอามือทาบอกและอุทานออกมาดัง ๆ ว่าเกม Space Invaders เกมเก่าสมัยรุ่นคุณปู่มาติดอันดับได้อย่างไร(เชื่อเถอะว่าตอนนั้นผู้เขียนก็คิดแบบเดียวกับคุณ) ก่อนจะไปถึงตรงนั้นเรามาทำความรู้จักเกม Space Invaders กันโดยย้อนกลับไปเมื่อปี 1978 หรือราว ๆ 41 ปีที่แล้วบริษัทเกมอย่าง Taito ได้คิดเกมยานยิงรูปแบบใหม่ขึ้นมาซึ่งมันถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ Shooter games ที่เราจะต้องควบคุมยานเพื่อยิงมนุษย์ต่างดาวที่ค่อย ๆ เลื่อนลงมาให้หมดโยเราจะมีที่กำบังเพื่อหลบกระสุนอีกทาง

ตัวเกมได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงเมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกาและในประเทศต่าง ๆ ในช่วงปี 1982 จนมีรายได้สูงถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างกำไรให้ทางบริษัทถึง 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนทำให้ Space Invaders กลายเป็นผลิตภัณฑ์บันเทิงที่ทำรายได้สูงและเร็วที่สุดในโลกในตอนนั้นไปในทันทีและถ้านับมาจนถึงตอนนี้ของแฟรนไชส์เกม Space Invaders ก็มีรายได้สูงถึง 13.900 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตัวเกมนั้นจะถูกนับรวมเกมเก่าที่ถูกเอามาขายใหม่ไปจนถึงเกมใหม่ที่ใช้ชื่อ Space Invaders เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ซึ่งถ้าเกม Space Invaders มีรายได้มาจากเกมเพียงอย่างเดียวเกมนี้คงไม่ติดอันดับที่ 4 อย่างแน่นอนเพราะรายได้อีกทางของเกมซีรีส์ Space Invaders ก็มาจาก Music single ที่เป็นการขายเพลงประกอบที่สามารถหยิบมาขายได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่แผ่นเสียงม้วนเทปไปจนถึงการดาวน์โหลดที่มีมูลค่าถึง 522,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าเป็นเกมเก่าม้ามืดที่เรามองข้ามไปจริง ๆ

Space Invaders
Space Invaders

อันดับที่ 3 Pac-Man รายได้รวม 15.100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Pac-Man
Pac-Man

ยังอยู่ที่เกมเก่าสมัยคุณปู่อีกหนึ่งเกมอย่าง Pac-Man เกมเก่าระดับขึ้นหิ้งที่เป็นตำนานซึ่งนักเล่นเกมหลายคนที่แม้จะไม่เคยเล่นแต่ก็ต้องรู้จักเจ้าตัวกินจุดสีเหลืองที่โดนผีไล่เป็นอย่างดีโดยเกมนี้ถูกพัฒนาและวางจำหน่ายโดย Namco ในปี 1980 ที่ถ้านับอายุตอนนี้ก็ 40 ปีไปแล้ว และที่หลายคนไม่รู้มาก่อนคือชื่อดังเดิมของ Pac-Man ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีชื่อว่า Puck Man ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาเป็น Pac-Man สำหรับการเผยแพร่นอกประเทศญี่ปุ่นเพราะปัญหาทางด้านลิขสิทธิ์ชื่อที่มีคนใช้ไปแล้วจึงต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น Pac-Man ที่เรารู้จักและแน่นอนว่ามันได้รับความนิยมอย่างมากมายเมื่อปล่อยออกมาให้เล่นในรูปแบบเกมตู้จนถึงขนาดต้องมีพนักงานคอยมาเปิดตู้เพื่อเอาเหรียญออกเพราะคนต่อคิวเล่นเยอะจนกล่องใส่เหรียญเต็มจนเกมเล่นไม่ได้กันเลยทีเดียว

Pac-Man
Pac-Man

ในส่วนของรายได้รวมทั้งที่เกม Pac-Man ทำได้นั้นก็สูงถึง 15.100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรายได้ที่มาจากเกมเพียงอย่างเดียวก็สูงถึง 14.098 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่าเยอะมาก ๆ เมื่อพูดถึงชื่อเกมเก่าที่มีอายุกว่า 40 ปีเกมนี้ซึ่งรายได้ที่เยอะขนาดนี้ไม่ได้มาจากเกมเก่าเพียงอย่างเดียวแต่เราจะนับทั้งเกมเก่าไปจนถึงเกมภาคใหม่ที่ใช้ชื่อ Pac-Man ทั้งหมดที่ออกมาตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ นอกจากนี้ยังมีการขายสินค้าและการออกใบอนุญาตเพื่อนำตัวละคร Pac-Man ไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียวและเหมือนกับเกม Space Invaders หรือเกมเก่าในยุคอดีตที่สามารถนำทำนองเพลงในยุคนั้นมาขายแบบแผ่นเสียงแผ่น CD ไปจนถึงการดาวน์โหลดได้อีกกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใครจะไปคิดว่าเกมที่มีรูปง่าย ๆ ตัวละครบ้าน ๆ จะมีมูลค่าสูงขนาดนี้

Pac-Man
Pac-Man

อันดับที่ 2 Mario รายได้รวม 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Mario
Mario

มาถึงอันดับที่ 2 กันแล้วกับ 10 แฟรนไชส์วิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกมที่จะเป็นเกมในซีรีส์ไหนไปไม่ได้นอกจากลุงหนวด Mario ที่นักเล่นเกมหรือคนที่แม้แต่คนที่ไม่ได้เล่นเกมต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีซึ่งเราคงไม่ต้องอธิบายกันมากกับตัวละครตัวนี้ที่ถือกำเนิดมาจากมันสมองของคุณ Shigeru Miyamoto ที่ในตอนแรกนั้น Mario มีชื่อในวงการมากมายหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น Jumpman หรือ Mr. Video จนสุดท้ายก็มาได้ชื่อ Mario ที่มาจากปู่ Mario Segale เจ้าของโกดังเก็บสินค้าที่ Nintendo of America เช่าอยู่โดยเกมแรกที่ลุงหนวดเปิดตัวก็คือเกม Donkey Kong ในปี 1981 และมีชื่อเสียงอย่างมากกับเกมในชื่อของตนเองอย่าง Super Mario Bros ในปี 1985 จนมาถึงตอนนี้แฟรนไชส์ Mario ก็สร้างรายได้ไปกว่า 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

Mario
Mario

ในส่วนของรายได้นั้นกว่า 31.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากการขายเกมทุกภาคที่แปะชื่อว่า Mario ตั้งแต่อดีตมาจนถึงตอนนี้ถ้านับเฉพาะภาคหลักที่แปะหมายเลขลงท้ายก็มีเพียงแค่ 3 ภาคเท่านั้น นอกนั้นก็จะเป็นเกมซีรีส์อื่นที่มีมากมายจนคุณคิดไม่ออกทั้งเกมชื่อดังที่เราเล่นกันและมีภาคต่อเรื่อยมาจนถึงเกมที่คุณไม่รู้จักที่แม้แต่บนเครื่อง PC ในยุคอดีตก็มีนอกจากนี้ก็มีสินค้าที่ได้รับอนุญาตจาก Nintendo ทั้งของเล่นข้าวของเครื่องใช้ที่ผลิตจาก Nintendo เองไปจนถึงการขายสิทธิ์ตัวละครไปทำสินค้าต่าง ๆ มากมายที่สูงถึง 4.323 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ก็มี Manga และ Magazine ที่เป็นหนังสือบทสรุปที่คนเล่นเกมในอดีตน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีไปจนถึงการ์ตูนที่ฉายทางทีวีและในหนังสือต่าง ๆ อีกมากมายที่มีมูลค่าถึง 1.549 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงหรือลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่ง Mario ก็เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Super Mario Bros ในปี 1993 ที่ทำรายรับให้ Nintendo ไป 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นตัวเลขการขาดทุนนั่นเอง

Super Mario Bros
Super Mario Bros

อันดับที่ 1 Pokémon รายได้รวม 95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Pokémon
Pokémon

และก็มาถึงอันดับที่ 1 แฟรนไชส์สื่อวิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกมที่จะเป็นเกมอะไรไปไม่ได้นอกจากซีรีส์ Pokémon ที่เรียกว่าเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับ Nintendo ที่มากกว่า Mario เจ้าพ่อของวงการเกมที่อยู่ถึงอันดับที่ 9 แฟรนไชส์สื่อที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกโดยมี Hello Kitty เป็นอันดับที่ 2 กับ Winnie the Pooh เป็นอันดับที่ 3 แต่ในบทความนี้เราจะนับเฉพาะสื่อวิดีโอเกม(ขายเกมเป็นหลักและกำเนิดจากวิดีโอเกม) ที่มีรายได้จากทางอื่นนอกจากขายเกมอย่างเดียวซึ่ง Pokémon ก็เป็นหนึ่งในนั้นเพราะซีรีส์นี้กำเนิดขึ้นมาจากเกมในปี 1996 ด้วยมันสมองสองมือของคุณ Satoshi Tajiri และคนที่ออกแบบ Pokémon ทุกตัวในเกมนี้อย่าง Ken Sugimori ที่เป็นผู้ให้กำเนิดเกมในตำนานขึ้นมาบนเครื่อง GameBoy ที่สมัยนั้นยังเป็นขาวดำแต่กลับสร้างความสนุกได้อย่างไม่น่าเชื่อจนถึงตอนนี้ซีรีส์แฟรนไชส์ Pokémon ก็สร้างรายได้ให้ Nintendo ไปกว่า 95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Pokémon
Pokémon

และเมื่อเรามาดูในรายได้หลักของแฟรนไชส์ Pokémon นั้นจะเห็นว่ารายได้หลักจริง ๆ นั้นไม่ได้มาจากวิดีโอเกมเพราะ Pokémon สร้างได้จากเกมไปเพียง 18.538 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นซึ่งยังไม่ถึงครึ่งของ Mario เลยแต่เราก็อย่าลืมไปว่าการออกเกมภาคใหม่ก็หมายถึงการสร้างตัวละคร Pokémon ตัวใหม่ ๆ ขึ้นมาในตลาดในการขายของและเมื่อดูจากยอดขายเกมแล้ว Nintendo ก็คงจะเข็นเกมออกมาอีกเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน และรายได้หลักที่แท้จริงของ Pokémon นั้นก็จากการขายสินค้าต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตจาก Nintendo ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่แปะรูปของเหล่า Pokémon ไปจนถึงสวนสนุกหรือทุกสิ่งทุกอย่างที่แปะชื่อ Pokémon ที่สร้างรายได้สูงถึง 64.015 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ก็มีรายได้จาก Card game และยอดขายการ์ตูนทั้งแบบฉายทางทีวีกับในฉบับหนังสือที่ออกมามากมาย ยังไม่หมดยังมีรายได้จาก Box office กับ Home entertainment อีกเรียกว่าเยอะมาก ๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแฟรนไชส์ถึงมีรายได้สูงขนาดนี้

Pokémon
Pokémon

ก็จบกันไปแล้วกับ 10 อันดับแฟรนไชส์สื่อวิดีโอเกมที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกที่หารายได้นอกจากขายเกมที่เราหยิบยกมานำเสนอซึ่งต้องอธิบายก่อนว่าสถิตินี้เป็นการเรียงโดยนับจากสื่อที่กำเนิดจากวิดีโอเกมเท่านั้นและไม่นับแฟรนไชส์เกมที่ขายเกมเพียงอย่างเดียวหรือสื่ออื่นที่เกิดจากการ์ตูนหรือภาพยนตร์แต่มีเกมเป็นหนึ่งในรายได้อันนั้นเราจะไม่ขอนับ และในส่วนของตัวเลขในบทความนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้แต่อันดับก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้และถ้าใครสนใจข้อมูลเกมหรืออันดับแฟรนไชส์อื่นที่นอกเหนือจากนี้ก็ไปที่เว็บไซต์ Wikipedia หัวข้อ List of highest-grossing media franchises จะมีข้อมูลที่ต้องการในนั้นและในครั้งหน้าจะเป็นเรื่องเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับวงการเกมก็รอติดตามกันได้

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

แชร์โพสนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0