โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

10 เหตุการณ์เด่น พรรคอนาคตใหม่เปลี่ยนการเมืองไทยไปแค่ไหน

The Momentum

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 12.55 น. • เผยแพร่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 05.30 น. • ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน

In focus

 

  • การขยับของพรรคอนาคตใหม่ทำให้พรรคการเมืองเก่าทั้งหลายต้องขยับตามด้วยการชูบทบาทคนรุ่นใหม่ในพรรคมากขึ้น เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีกลุ่ม NEW DEM หรือพรรคเพื่อไทยมีกลุ่ม เพื่อไทย พลัส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มตั้งพรรคการเมืองในแบบพรรคอนาคตใหม่

  • ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 6 คน โหวตสวนมติวิปรัฐบาล ทำให้ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44  ผ่านสภาอย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ 234 ต่อ 230 ทำให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภาเป็นครั้งแรก

 

  • สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญสะท้อนมาตรฐานการทำงานขององค์กรอิสระ และทำให้สังคมเกิดคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องปฏิรูปองค์อิสระให้ทำหน้าที่อย่างอิสระและมีมาตรฐาน

ในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้คงไม่มีพรรคการเมืองไหนที่สร้างสีสันและอยู่ในพื้นที่ข่าวรายวันเท่ากับพรรคอนาคตใหม่อีกแล้ว แม้พรรคนี้เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นมาไม่นานเพียงหนึ่งปีกว่า แถมสมาชิกส่วนใหญ่ยังเป็นหน้าใหม่ในเวทีการเมือง แต่ก็ได้สร้างสิ่งที่สั่นสะเทือนต่อการเมืองไทยไว้ไม่น้อย 

และนี่คือ 10 เรื่องสำคัญที่อนาคตใหม่เขย่าการเมืองไทยเอาไว้ในเวลาขวบปีกว่าที่ผ่านมา 

  • (ผู้)นำกระแสพรรคของคนรุ่นใหม่

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่คือภาพตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนที่สุด ด้วยนโยบายที่ก้าวหน้า ผสมความคิดและบุคลิกของผู้นำพรรคที่ทันสมัยกล้าพูดถึงปัญหาของประเทศอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงวิธีการหาเสียงที่ดูเหมือนจะเข้าใจโลกออนไลน์มากกว่าพรรคการเมืองอื่น ทำให้พรรคอนาคตใหม่สามารถครองใจคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยผ่านเลือกตั้งมากก่อนที่ขณะนั้นมีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 7 ล้านคน การขยับของพรรคอนาคตใหม่ทำให้พรรคการเมืองเก่าทั้งหลายต้องขยับตามด้วยการชูบทบาทคนรุ่นใหม่ในพรรคมากขึ้น เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีกลุ่ม NEW DEM หรือพรรคเพื่อไทยมีกลุ่ม เพื่อไทย พลัส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มตั้งพรรคการเมืองในแบบพรรคอนาคตใหม่

  • เปิดยุคใหม่การเมืองไทยนำ ส.ส. แรงงาน, LGBT, ชาติพันธุ์, และผู้พิการเข้าสภา 

ก่อนการเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่สร้างความแปลกใหม่ให้กับการเมืองไทยด้วยการจัดสรรลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย 10 ลำดับแรกซึ่งคาดว่ามีโอกาสจะได้เป็น ส.ส. มีตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่ม LGBT อยู่ด้วย เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคอนาคตใหม่ได้เก้าอี้ส.ส. ถึง 80 คน เป็นพรรคการเมือลำดับที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นผลให้มี ส.ส. ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน, ส.ส. ตัวแทน LGBT, สส. ตัวแทนชาติพันธุ์, และ ส.ส. ตัวแทนผู้พิการเข้าสู่สภา นี่อาจเป็นครั้งแรกๆ ที่พรรคการเมืองไทยนำตัวแทนกลุ่มคนที่ถูกมองเป็นชายขอบในสังคมเข้าสู่สภาให้เป็นปากเป็นเสียงและให้มีศักดิ์เทียบเท่ากลุ่มคนอื่นในสังคม 

  • ท้าชนกองทัพ ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกทหารเกณฑ์

ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะกล้าชนกับกองทัพได้ถึงพริกถึงขิงเทียบเท่าอนาคตใหม่ ข้อเสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนจากบังคับเป็นสมัครใจได้ทิ่มแทงไปยังกล่องดวงใจของกองทัพ จนถูกฝ่ายตรงข้ามปิดป้ายแปะฉลากยัดข้อหา ‘ชังชาติ’ อย่างไรก็ตามพรรคอนาคตใหม่ก็กัดไม่ปล่อยประเด็นปฏิรูปกองทัพด้วยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็ได้ตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ธุรกิจที่อยู่ภายในมือกองทัพโดยเฉพาะเงินนอกงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ที่ไม่ได้ถูกส่งกลับเข้าคลัง สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ได้เสนอ ร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจไม่บังคับ และเดินหน้ารณรงค์ประเด็นนี้อย่างเต็มที่

  • เสนอกฎหมายสุราก้าวหน้า ทลายทุนผูกขาด

มีนักวิเคราะห์กล่าวกันว่าปัญหาของพรรคอนาคตใหม่ คือการชนกับคู่ชกที่ใหญ่ๆ พร้อมกันไม่ว่าจะเป็น ‘กองทัพ’ และ ‘นายทุนผูกขาด’ ซึ่งเ็นเรื่องที่ทางพรรคได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง โดยเฉพาะการปลดล็อกทุนผูกขาด โดยพรรคอนาคตใหม่ได้เริ่มรณรงค์ปลดล็อกธุรกิจสุราเป็นก้าวแรก ด้วยการเสนอร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และใช้สโลแกนในการณรงค์ว่า ‘ปลดล็อกทุนผูกขาด ปลดปล่อยสุราคนไทย เพื่อปากท้องประชาชน’ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เชื่อว่าถ้าร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าผ่านสภาได้ จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กให้เข้ามาอยู่ในธุรกิจสุราซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสและสร้างศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจนี้ จะช่วยทำให้เกิดการใช้สินค้าเกษตรในประเทศมากขึ้น และจะสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย  

  • ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ สะเทือนรัฐบาลประยุทธ์

พรรคอนาคตใหม่ได้ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรขย่มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานดี เมื่อปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เปิดประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ นำมาสู่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของ ครม. ซึ่งอาจทำให้การกระทำต่างๆ ของรัฐบาลเป็นโมฆะ กรณีนี้ทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแม้จะแก้ตัวก็ยังดูอ้ำๆ อึ้งๆ ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามถึงสองครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลี่ยงตอบ และเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้อง กลายเป็นปัญหาคาราซังจนฝ่ายค้านต้องขอเปิดญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. โดย ปิยบุตร อภิปรายประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนฯ และไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องว่า สะท้อนให้เห็นว่านายกฯ เป็นโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และมองรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองตามระบอบที่ต้องการ ถ้าเรื่องใดอ้างแล้วได้ประโยชน์ก็อ้างรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องใดถูกตีกรอบก็ไม่อ้าง 

  • ไม่เห็นด้วย พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ 

การโหวตครั้งสำคัญของพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประยุทธ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการย้ายหน่วยทหารบางส่วนของกองทัพไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ก่อนโหวตเป็นที่คาดกันว่าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ติดใจ พ.ร.ก. นี้ เตรียมพร้อมอนุมัติให้เป็น พ.ร.บ. สำหรับความง่ายในการโหวตอนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนี้คือเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องผ่าน แต่ความยากคือการโหวตไม่อนุมัติที่อาจตามมาด้วยเสียงสาบแช่งถึงความไม่จงรักภักดี ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เลือกอย่างหลัง โดยผลโหวตครั้งนี้มีเพียงแค่ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ 70 คน ที่มีมติไม่อนุมัติ 

อย่างไรก็ตามเหตุที่ต้องเลือกโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ไม่ใช่เหตุผลไม่จงรักภักดี แต่เป็นเหตุผลที่ต้องการรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะการออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหารที่กระทำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเร่งด่วน แต่ ครม. ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้มีความเร่งด่วนอย่างไร ถ้าไม่ตราจะเกิดผลร้ายอย่างไร โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป เท่ากับเรากำลังสนับสนุนการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ อยากได้กฎหมายอะไรก็ออกเป็น พ.ร.ก. ไม่ต้องมาชี้แจ้งสภา ต่อไป พ.ร.ก. ก็จะกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง  

  • กมธ. ศึกษาผลกระทบ ม.44 ทำรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา

ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ถูกเสนอโดยพรรคอนาคตใหม่ หากดูผ่านๆ แล้วญัตตินี้ไม่น่าจะผ่านสภาเพราะเป็นญัตติที่เสนอโดยฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามผลการลงมติกลับผิดคาดเมื่อที่ประชุมมติให้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ 234 ต่อ 230 นั้นทำให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา แต่ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ช่องโหว่งของข้อบังคับการประชุมด้วยการเสนอให้นับคะแนนใหม่ท่ามกลางการคัดค้านของฝ่ายค้าน สุดท้ายก็หาข้อยุติไม่ได้ ส.ส. ฝ่ายค้านจึงวอล์กเอาต์เป็นผลให้สภาล่มเป็นครั้งแรก และการประชุมในวันถัดมาสภาก็ล่มเป็นครั้งที่สอง จนการประชุมครั้งที่สามถึงมีองค์ประชุมครบและรัฐบาลโหวตไม่เห็นชอบญัตตินี้ได้สำเร็จ ความน่าสนใจของญัตตินี้คือมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 6 คน สวนมติวิปรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงความพยายามอย่างหนักของฝ่ายรัฐบาลที่จะขัดขวางญัตตินี้ โดยในการโหวตครั้งสุดท้าย ส.ส. ฝ่ายค้านจากสี่พรรคเข้าไปเป็นองค์ประชุมช่วยรัฐบาล

  • นัดแฟลชม็อบครั้งใหญ่

กล่าวกันว่าเมื่อ 14 ธันวาคม 2562 แฟลชม็อบที่นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นการรวมตัวเพื่อแสดงออกทางการเมืองที่ใหญ่สุดหลังรัฐประหารปี 2557 ตัวเลขผู้ชุมชมจะร้อยคน พันคน หรือหมื่นคนยังเป็นสิ่งถกเถียงกันไม่จบ แต่ที่แน่นอน 1 ชั่วโมงกว่า บริเวณบนสกายวอร์ก แยกปทุมวัน ล้นลงมาบริเวณหน้าหอศิลปฯ กทม. ในวันนั้นแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่ร่วมกันตะโกนโห่ร้องพร้อมกับชูสัญลักษณ์สามนิ้วให้กำลังใจธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ สลับกับการตะโกนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนว่ากลุ่มคนที่มาแสดงออกวันนั้นไม่ได้มีแต่กลุ่มคนหน้าเดิมแต่ยังมีคนหน้าใหม่ที่มาจากหลายช่วงวัย และนี้อาจเป็นการบอกกับผู้มีอำนาจว่าผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ไม่ได้อยู่แต่ในโลกออนไลน์

  • เขย่าท้องถิ่น 

แม้จะเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ไม่มีหัวคะแนน แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ได้ ส.ส. แบ่งเขตถึง 30 คน และในหลายจังหวัดแม้จะไม่ได้ ส.ส. แต่ก็ได้คะแนนนิยมค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้พรรคอนาคตใหม่จึงตดสินใจ ‘เขย่าท้องถิ่น’ ด้วยการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อบจ. กล่าวคือส่งเลือกตั้งท้องถิ่นสนามใหญ่ของแต่ละจังหวัดเพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์การเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ด้วยการใช้นโยบายพัฒนาท้องถิ่นลงไปแข่งขันในการเลือกตั้ง และลดการผูกขาดของนักการเมืองเจ้าเดิม อย่างไรก็ตามแม้การประกาศลงสนามท้องถิ่นของพรรคอนาคตใหม่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในพรรค แต่ภายนอกพรรคการตัดสินใจขยับท้องถิ่นก็ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นเดิมนั่งไม่ติดเก้าอี้ต้องเร่งสร้างผลงานเพื่อไม่ให้ประชาชนลืม  

  • มาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญ และกกต. ถึงเวลาปฏิรูปองค์กรอิสระ 

พรรคอนาคตใหม่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่น่าจะได้ถึง 88 คน แต่ กกต. ใช้สูตรคำนวณอีกแบบทำให้มีพรรคเล็กได้เข้าสภาถึง 11 พรรค จนอนาคตใหม่เหลือ ส.ส. แค่ 80 คน หรือการที่หัวหน้าพรรคอดีตว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามเข้าสภาและสุดท้ายถูกให้พ้นจากสภาพ ส.ส. ซึ่งแตกต่างจาก ส.ส. พรรคอื่นที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน และยังมีคดีต่างๆ ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญได้สะท้อนมาตรฐานการทำงานขององค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหาว่ามีที่มาจากผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน นั้นทำให้สังคมเกิดตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องปฏิรูปองค์อิสระให้ทำหน้าที่อย่างอิสระและมีมาตรฐาน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0