โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 3 ปี 2016-2019

Beartai.com

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 15.39 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 13.23 น.
10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 3 ปี 2016-2019
10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 3 ปี 2016-2019

ผ่านไป 6 ปีแล้ว มาดู 4 ปีที่เหลือของทศวรรษ 2010s หรือปี 2016-2019 กันต่อเลย

อ่านปีก่อนหน้าได้ที่นี่ 10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 1 ปี 2010-2012 และ 10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 2 ปี 2013-2015

*หนังแห่งปี เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคำนึงจากผลงาน รางวัล รายได้ การพูดถึง การสร้างปรากฏการณ์ และบางครั้งเป็นจิตวิญญาณที่สะท้อนยุคสมัยในปีนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งพิจารณารวมทั้งนานาชาติและในไทย
**หนังแห่งปีของแต่ละสำนัก จะคัดหนังที่คะแนนสูงสุดที่แต่ละสำนักจัดอันดับไว้เอง ทั้งนี้ในบางปีขออนุญาตตัดนำลำดับรองขึ้นมาแทน เพราะลำดับสูงสุดเป็นหนังที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หรือคุณสมบัติก้ำกึ่งเป็นมินิซีรีส์มากกว่า

ปี 2016 (พ.ศ.2559)

  • หนังยอดเยี่ยมของออสการ์ปีนี้มีดราม่าเล็ก ๆ เพราะมีการประกาศผิดให้ La La Land ของ ดาเมียน ชาเซล ชนะในตอนแรก ก่อนแก้ไขเป็นหนัง Moonlight หนังเกย์ผิวสีของ แบร์รี่ เจนคินส์ ชนะไป ส่วนดาเมียนก็ยังได้ผู้กำกับยอดเยี่ยมไปปลอบใจ หนังแอนิเมชันยอดเยี่ยมตกเป็นของ Zootopia ของดิสนีย์ที่ผลัดไม้ส่งชิงสลับกับพิกซาร์เป็นว่าเล่นเลย สาขาหนังต่างประเทศก็เป็น The Salesman จากอิหร่านที่ชนะไป ส่วนเวทีลูกโลกทองคำก็ไม่มีอะไรต้องเถียงเพราะ Moonlight ชนะในสาขาดราม่า แบ่งกับ La La Land ที่ได้สาขาหนังเพลง/หนังตลกไปครอง ฝั่งคานส์ก็มี I, Daniel Blake ของผู้กำกับที่มีชื่อในบ้านเราบ้างอย่าง เคน โลช ที่คว้ารางวัลสูงสุดไป
  • รายได้สูงสุดของหนังปี 2016 ได้แก่ Captain America: Civil War ทำเงินไป 1,153 ล้านเหรียญ อันดับ 2 คือ  Rogue One: A Star Wars Story ที่ทำเงิน 1,056 ล้านเหรียญ อันดับจากนั้นคือ Finding Dory (1,028 ล้านเหรียญ) และ Zootopia (1,023 ล้านเหรียญ)

 

 

  • หนังไทยสวิงกลับมาเป็นที่ของหนังอินดี้อีกครั้ง เพราะหนังยอดเยี่ยมตกเป็นของหนังทดลองการเล่าเรื่องประวัติการเมืองไทยอย่างยอกย้อนใน ดาวคะนอง ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ โดยมีการสอดแทรกในสายรางวัลด้วยหนังของผู้กำกับขวัญใจมหาชนอย่าง บรรจง ปิสัญธนะกูล เรื่อง แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว ที่เดินตามความสำเร็จของ กวน มึน โฮ ในแบบที่โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมองโลกตามความจริงมากขึ้น และยังนับเป็นหนังไทยเรื่องแรกจากค่าย GDH อีกด้วย หลังจาก GTH แตกไปในปีก่อน ส่วนหนังอินดี้ที่ควรพูดถึงก็มี ปั๊ม น้ำ มัน A GAS STATION ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่เล่าเรื่องได้สนุกอยู่ไม่น้อย
  • ด้านรายได้สูงสุดของหนังไทยปีนี้ต้องยกให้ หลวงพี่แจ๊ส 4G ที่กวาดไปกว่า 164 ล้านบาท ทิ้งที่ 2 อย่าง แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว ซึ่งทำรายได้ 111 ล้านบาทไปห่างพอควร ส่วนหนังเรื่องอื่น ๆ ก็มี ขุนพันธ์ (61 ล้านบาท) และที่ต้องบันทึกเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของเมืองไทยเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคมปีนี้เองทำให้ปลายปีหนังบันเทิงต่างเลี่ยง ๆ กันไป โดยมีหนังจากค่าย GDH ออกมาเฉลิมพระเกียรติในเรื่อง พรจากฟ้า และจุดกระแสคนไทยได้พอสมควรทำรายได้ไป 42 ล้านบาท

หนังแห่งปีของแต่ละสำนักหนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้า ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ *Moonlight * (สดไป 98%)
  • IMDb ให้แอนิเมชันญี่ปุ่นเรื่อง Kimi no na wa. หรือ Your Name. (8.4/10)
  • Metacritic ให้ Moonlight (99/100)

หนังตัวแทนแห่งปี 2016 Kimi no na wa.เป็นอีกปีที่ตัดสินใจลำบาก ที่จะเลือกหนังสักเรื่องมาเป็นตัวแทนของปีนั้น ๆ และสำหรับ Kimi no na wa. นั้นก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในหลายข้อพอแก่การยกตำแหน่งนี้ให้ หนึ่งคือเป็นแอนิเมชันฝั่งเอเชียที่สร้างกระแสไปทั่วโลกได้เรียกว่านับตั้งแต่ Spirited Away ของจิบลิเคยทำได้ก็น่าจะมีเรื่องนี้ล่ะ ยิ่งในบ้านเราต้องบอกว่าสร้างปรากฏการณ์ถล่มทลายไปเลย อีกประการคือหนังว่าด้วยการสูญเสียและความหวัง การพลัดพรากและการพบกันใหม่ มันชูความรู้สึกอันหดหู่ของสังคมไทยได้ประมาณหนึ่งเลยนะหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ แน่นอนมันว่าด้วยโชคชะตาและธรรมชาติของการเกิด-ตายอย่างเปี่ยมด้วยความหวังที่ทำให้เรายอมรับกับการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างดีด้วย

Go to top

ปี 2017 (พ.ศ.2560)

  • ออสการ์ปีนี้ยังคงเป็นปีของผู้กำกับจากเม็กซิโกเพราะกีเยร์โม เดล โตโร สามารถคว้าไปได้ทั้งหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากหนัง The Shape of Water ในขณะที่สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมก็เป็นของ Coco จากพิกซาร์ที่พูดเรื่องชีวิตและความตายได้อย่างน่าสนใจ หนังต่างประเทศได้ A Fantastic Woman จากชิลีคว้ารางวัลไป ส่วนที่น่าสนใจก็มี Get Out ของ จอร์แดน พีล ที่สร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาจนแทรกเข้ามาท้าชิงหลายรางวัลแม้จะได้แค่รางวัลบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปก็ตาม แต่ก็ทำให้ทุกคนดูถูกหนังสยองขวัญซีเรียสจากผู้กำกับสายตลกไม่ได้แล้วล่ะ และสำหรับคริสโตเฟอร์ โนแลน ก็มีหนังDunkirk เข้ามาชิงเช่นกันแม้จะพลาดไปก็ตาม
  • ทางเวทีลูกโลกทองคำก็กลายเป็นที่ให้กับหนังน่าสนใจอย่างหนังดราม่าตลกร้ายกาจ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ของ มาร์ติน แมคโดนา ที่ได้เฉิดฉายในสาขาดราม่า ส่วนสาขาหนังเพลง/หนังตลกก็ตกเป็นของ Lady Bird ผลงานของ เกรตา เกอร์วิก ที่กลายเป็นหนังขวัญใจของใครหลายคนทั้งสองเรื่อง ฝั่งปาล์มทองคำก็เป็นของหนังตลกวิพากษ์ศิลปะเรื่อง The Square ซึ่งบ้านเราก็มีคนซื้อมาฉายด้วยเช่นกัน
  • หนังรายได้สูงสุดปีนี้ก็ได้แก่ Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi ตอกย้ำว่าแฟนสตาร์วอร์สนั้นเหนียวแน่นขนาดไหน แม้หนังจะมีดราม่าให้แฟน ๆ เสียงแตกพอสมควรก็ตามโดยเฉพาะตอนจบของหนัง แต่ก็ทำเงินไปถึง 1,332 ล้านเหรียญ  ส่วนอันดับที่เหลือก็ตามมา คือ Beauty and the Beast (1,263 ล้านเหรียญ) The Fate of the Furious (1,236 ล้านเหรียญ) และDespicable Me 3 (1,034 ล้านเหรียญ)
  • เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ เพราะ ฉลาดเกมส์โกง (จริง ๆ ต้องสะกดว่า เกม นะที่ถูกน่ะ) คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมของทุกสถาบันไปครองอย่างเอกฉันท์ ส่วนอินดี้น่าจับตามองต้องยกให้ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่สร้างปรากฏการณ์หนังภูมิภาคได้สำเร็จ จะว่าเป็นป่าล้อมเมืองสำเร็จอีกเรื่องก็ว่าได้ หนังได้รับคำชมและเงินไปพอควร จนตอนนี้มีจักรวาลไทบ้านออกมาอีกเพียบเลย
  • รายได้สูงสุดของหนังไทยปีนี้ตกเป็นของ ฉลาดเกมส์โกง ที่กวาดไปถึง 112 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2-3 ก็คือ ส่ม ภัค เสี่ยน (76 ล้านบาท) และ มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ (71 ล้านบาท) ส่วนหนังเรื่องอื่นก็ทำรายได้กันไม่ค่อยดีนัก แต่มี ไทบ้านเดอะซีรีส์ และ ส่ม ภัค เสี่ยน นั่นเองที่เปิดความหวังให้ค่ายหนังเห็นการทำหนังเจาะกลุ่มเฉพาะให้ฮิตก็ทำเงินได้คุ้มโดยไม่ต้องลงทุนสูงก็ได้แต่ต้องโดนใจ อย่าง ไทบ้านฯ นั้นลงทุนไปแค่ 2.5 ล้านบาท ไม่มีนักแสดงมีชื่ออะไรเลยแต่เก็บรายได้จากภาคอีสานถิ่นเกิดไปถึง 30 ล้านบาทก่อนจะมาเก็บในกรุงเทพได้อีก 7 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จสูงทีเดียว

หนังแห่งปีของแต่ละสำนักหนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้า ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ Lady Bird (สดไป 99%)
  • IMDb ให้ Coco (8.4/10)
  • Metacritic ให้หนังสารคดีเกี่ยวกับ อาเญส วาร์ดา ผู้กำกับหญิงรุ่นลายครามใน Faces Places (95/100)

หนังตัวแทนแห่งปี 2017 ฉลาดเกมส์โกงเมื่อหนังนอกไม่เปรี้ยง (จริง ๆ ก็มีลังเลกับเรื่องอื่นนิดหน่อยเหมือนกัน) ก็ขออนุญาตชาตินิยมหน่อยละกัน เพราะส่วนตัวในฐานะที่วิจารณ์หนังมาหลายปี เราอดภูมิใจกับหนังเรื่องนี้ไม่ได้จริง ๆ เพราะมันส่งสัญญาณกับทั้งตลาดเมืองไทยว่า หนังแนวอื่นนอกจากตลกกับผีมันก็ขายได้นะ คนดุเมืองไทยก็ไม่ได้โง่นะเลิกดูถูกคนดูด้วยหนังตีหัวเข้าบ้านอย่างเดียวได้แล้ว แถมหนังยาก ๆ อย่างหนังธริลเลอร์ฉลาด ๆ เนี่ยไม่ใช่แค่ฝรั่งเท่านั้นที่ทำได้ดี คนไทยถ้าจะทำก็ทำได้เหมือนกัน แล้วหนังก็เป็นเซอร์ไพรส์ฮิตในหลายประเทศที่ไปฉายทั้งฉายโชว์อย่างที่อเมริกา หรือฉายเอาตังค์อย่างที่จีนก็ทำเงินถล่มทลายไปกว่า 1,300 ล้านบาท เป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์หนังไทยอีกหน้าเลยทีเดียว สุดยอด ขอปรบมือ

Go to top

ปี 2018 (พ.ศ.2561)

  • สายรางวัลเมืองนอกก็ขอเปิดด้วยหนังฟีลกูดขวัญใจผู้ชมอย่าง Green Book ของปีเตอร์ ฟาร์เรลลี ที่คว้าหนังยอดเยี่ยมไปครองแบบเฉือนตัวเต็งอย่าง Roma ของ อัลฟอนโซ กัวรอน ไปเหนือความคาดหมาย แต่หนังก็คว้าหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม และกัวรอนก็ได้ผู้กำกับยอดเยี่ยมไปแทนล่ะนะ (ถ้าได้หนังยอดเยี่ยมด้วยคงสร้างประวัติศาสตร์เลยล่ะ) ด้านสาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมตกเป็นของ Spider-Man: Into the Spider-Verse จากโซนี่ที่เปิดมิติใหม่ของแอนิเมชันชิงรางวัลของจริง และทำให้เวลาทีนี้น่าสนใจขึ้นมากเลยหลังจากพิกซาร์สลับมือกับดิสนีย์ครองพื้นที่มาด้วยหนังคล้าย ๆ เดิมมาพักใหญ่ ส่วนที่น่าพูดถึงก็คือ Black Panther กลายเป็นหนังมาร์เวลเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมด้วย ยกระดับหนังฮีโรจากที่คนดูถูกขึ้นมาได้สูงทีเดียว
  • ส่วนเวทีลูกโลกทองคำก็เป็นชัยชนะฝั่งหนังดราม่าของ Bohemian Rhapsody ผลงานชีวิตของ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ นักร้องวงควีนที่มีเพลงเยอะมากแต่ดันเข้าชิงสาขาดราม่า (ฮา) ส่วนสาขาหนังเพลง/หนังตลกก็เป็น Green Book ที่คว้าไป และสำหรับปาล์มทองคำก็เป็นอีกครั้งที่รางวัลวนกลับมาในมือหนังเอเชียจากญี่ปุ่นอย่าง Shoplifters ของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ นั่นเอง
  • หนังที่ทำเงินสูงสุดแห่งปีคือ Avengers: Infinity War ที่ทำเงินถล่มทลายไป 2,048 ล้านเหรียญ เอาชนะเพื่อนร่วมค่ายอย่าง Black Panther ที่ตามมาด้วยรายได้ 1,346 ล้านเหรียญ  ส่วนอันดับที่เหลือได้แก่ Jurassic World: Fallen Kingdom (1,308 ล้านเหรียญ) Incredibles 2 (1,242 ล้านเหรียญ) และ Aquaman (1,148 ล้านเหรียญ) ซึ่งเปิดโอกาสให้หนังดีซีกลับมามีความหวังครั้งใหญ่ได้เสียทีเพราะเรื่องก่อนหน้าที่เป็นตัวความหวังไม่ถึงยอดที่ตั้งไว้เท่าใดนัก

 

  • มะลิลา คือหนังไทยที่คว้ารางวัลสูงสุดจากทุกสำนักไปครอง เป็นการกลับมาทวงบัลลังก์ของหนังอินดี้อีกครั้ง (จริง ๆ จะมองอีกมุมคือหนังไทยแมสจากค่ายใหญ่คุณภาพไม่ถึงเองก็ได้) และก็ทำให้ อนุชา บุญยวรรธนะ คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองด้วย ส่วนหนังที่น่าพูดถึงก็คือเป็นปีที่หนังสารคดีทำออกมาได้ดีทั้งด้านคำชมและรายได้ทั้ง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว สารคดีพี่ตูนวิ่งช่วยชาติของ ณฐพล บุญประกอบ  หรือจะสารคดีโอตะล้วงความคิดไอดอลอย่าง BNK48 GIRLS DON’T CRY ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ก็ตาม
  • ด้านรายได้สูงสุดก็เป็น นาคี ๒ ของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่เป็นเซอร์ไพรส์ใหญ่ทำงเงินไปถึง 159 ล้านบาท ส่วนอันดับ 2 ตกเป็น น้อง . พี่ . ที่รัก ด้วยรายได้ 146 ล้านบาท อันดับจากนั้นก็ได้แก่ Homestay (67 ล้านบาท) ไบค์แมน ศักรินทร์ ตูดหมึก (67 ล้านบาท) และแอนิเมชันไทยที่มาตรฐานโลกอย่าง ๙ ศาสตรา ก็ทำเงินไปได้ถึง 52 ล้านบาททีเดียว ส่วนหนัง ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่ปล่อยมาในปีนี้ถึง 2 ภาคคือ 2.1 และ 2.2 ก็ทำเงินรวมกันไป 53 ล้านบาททีเดียว โดยหนังน่าจะได้กระแสจากการแบนของกองเซ็นเซอร์ในฉากพระเซียงร้องไห้หน้าโลงศพไปด้วยจนเป็นข่าวดังทีเดียว

 

หนังแห่งปีของแต่ละสำนักหนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้า ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ Black Panther (สดไป 97%)
  • IMDb ให้Avengers: Infinity War (8.5/10)
  • Metacritic ให้ Roma (96/100)

หนังตัวแทนแห่งปี 2018 Black Panther เหมาะสมมาก ๆ ทั้งการเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่คะแนนวิจารณ์สูง ทั้งยังได้เข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขาหนังยอดเยี่ยมด้วย ไหนจะรายได้ที่เป็นอันดับ 2 ของปีอีก และจะให้พูดถึงบริบททางสังคมมันก็เป็นหนังคนผิวสีล้วนที่ได้พื้นที่หนังเทียบเท่าหนังคนขาวอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่ในเมืองไทยเองมันก็ยังสะท้อนปรากฏการณ์เปลี่ยนแผ่นดินที่กำลังเกิดขึ้นด้วยว่าการเป็นกษัตริย์มันมีมากกว่าอำนาจ แต่มันคือความรับผิดชอบ และภาระอันยิ่งใหญ่ที่มากกว่าแค่เรื่องครอบครัว แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์มวลรวมไม่เพียงประชากรในประเทศของตนแต่คือของโลกด้วยนั่นเอง (แต่ส่วนตัวอีกใจอยากให้ Avengers: Infinity War เช่นกัน ด้วยรายได้อันดับ 1 ของปีที่ทะลุหลัก 2 พันล้านเหรียญสำเร็จนับตั้งแต่ Avatar มา ทั้งความกล้าหาญที่จะทิ้งคนดูบนความอึนและสร้างกระแสอารมณ์ขนาดใหญ่ขึ้นได้ทั่วโลก มีกี่ครั้งล่ะที่คนเงียบทั้งโรงในฉากนั้นจนเราได้ยินเสียงหายใจ หนังมันเลยจุดแค่หนังฮีโรไปแล้วล่ะ)

Go to top

ปี 2019 (พ.ศ.2562)

  • หนังสายรางวัลของปี 2019 มีที่เปิดไปแล้วก็เพียงปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ที่ Parasite ของ บองจุนโฮ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกาหลีใต้สำเร็จ ทั้งยังทำการตลาดอย่างหนักเพื่อลุ้นเข้าชิงออสการ์ในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม หรือแม้แต่หนังยอดเยี่ยมตามรอย Roma ด้วย ซึ่งเมื่อดูจากกระแสทั้งหลายก็ถือว่าหนังเด่นและน่าลุ้นไม่ใช่น้อยทีเดียว
  • สำหรับรางวัลลูกโลกทองคำประกาศผู้เข้าชิงไปในเดือนนี้ วัดกำลังจากกระแสนักข่าวนักวิจารณ์ที่เป็นผู้โหวตหลักของงานนี้ ตัวเต็งฝั่งดราม่าน่าจะเป็น Joker ของ ทอดด์ ฟิลลิปส์ บี้กับ  Marriage Story ของ โนอาห์ บอมบาค และฝั่งหนังเพลง/หนังตลกก็น่าจะเป็น Once Upon a Time in Hollywood ของ เควินติน ทาแรนติโน
  • ส่วนหนังในสายรางวัลน่าจับตามองที่มีสิทธิ์เบียดขึ้นแชมป์ก็ยังมี 1917 ของ แซม เมนเดส  Avengers: Endgame ของ สองพี่น้อง รุสโซ  The Irishman ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่  Ford v Ferrari ของ เจมส์ แมนโกลด์ Us ของ จอร์แดน พีล และ Knives Out ของ ไรอัน จอห์นสัน Rocketman ของ เดกซ์เตอร์ เฟลตเชอร์ เป็นต้น
  • ส่วนสายลุ้นรางวัลที่บ้านเรายังไม่ค่อยคุ้นก็มีทั้ง Little Women ของ เกรตา เกอร์วิก Jojo Rabbit ของ ไทกา ไวทีที  Dolemite Is My Name ของ เครก บรูว์เออร์ A Beautiful Day in the Neighborhood ของ มาเรียลล์ เฮลเลอร์  Richard Jewell ของ คลินต์ อีสต์วูด The Farewell ของ ลูลู่ หวัง The Two Popes ของ เฟอร์นานโด เมอเรลเลซ และ A Hidden Life ของ เทอร์เรนซ์ มาลิก ก็เชื่อว่าผู้ชนะทั้งเวทีลูกโลกทองคำและออสการ์น่าจะอยู่ในรายชื่อทั้งหมดที่ว่ามานี่ล่ะ
  • หนังทำเงินสูงสุดแห่งปีอาจรีบสรุปได้เลยว่าคงไม่มีใครแซง Avengers: Endgame ที่ทำเงินไปกว่า 2,797 ล้านเหรียญซึ่งตอนนี้เป็นหนังทำรายได้สูงสุดตลอดกาลไปแล้วด้วย
  • ในขณะที่อันดับรองลงมาก็ทำเงินทะลุพันล้านเหรียญกันเป็นกอบเป็นกำทั้ง The Lion King (1,656 ล้านเหรียญ) Spider-Man: Far from Home (1,131 ล้านเหรียญ) Captain Marvel (1,128 ล้านเหรียญ) Toy Story 4 (1,073 ล้านเหรียญ) Joker (1,054 ล้านเหรียญ) Aladdin (1,050 ล้านเหรียญ)
  • และที่น่าจะทำเงินทะลุพันล้านเหรียญในอนาตเพราะหนังเพิ่งเข้าฉายอย่างFrozen II ตอนนี้ก็ทำเงินไปแล้ว 919 ล้านเหรียญ มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว ส่วนเรื่องที่ยังไม่เข้าฉายแต่น่าจะทำรายได้เกินพันล้านเหรียญก็มี Star Wars: : Episode IX – The Rise of Skywalker ที่จะเข้าฉายกลางธันวาคมนี้นั่นเอง
  •  หนังไทยปีนี้น่าจะเป็นการชิงชัยกันในสายรางวัลระหว่าง ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์  ดิว ไปด้วยกันนะ ของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล แสงกระสือ ของ สิทธิศิริ มงคลศิริ และ WHERE WE BELONG ‘ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า’ ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี  เป็นอีกปีที่เวทีแข่งขันมีหนังคุณภาพหลากหลายแนวมาแข่งกันสนุก โดย แสงกระสือ ภาษีดีหน่อยตรงเป็นตัวแทนไปชิงออสการ์ของไทย ส่วน WHERE WE BELONG ‘ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า’ ก็ไปล่ารางวัลจากหลายเวทีเมืองนอกมาเข้าทฤษฎีป่าล้อมเมือง และที่ตัดไม่ได้ก็คงเป็นงานของ นวพล และ ชูเกียรติ ซึ่งเป็นลูกรักเวทีรางวัลในไทยเสมอเช่นกัน แต่ส่วนตัวมองว่าปีนี้น่าจะเป็นปีของ WHERE WE BELONG ‘ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า’ ที่ได้รางวัลใหญ่ไป
  • รายได้สูงสุดแม้ยังไม่จบปีแต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นการวัดพลังกันระหว่าง Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (130 ล้านบาท) และ ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะ เฟค (ข้อมูลทางการล่าสุดอยู่ที่ 65 ล้านบาทจากการฉาย 4 วันแรก และน่าจะเกินร้อยล้านเรียบร้อยแล้วตอนนี้ทั้งที่ยังไม่ถึง 1 สัปดาห์) ส่วนหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ปีนี้โดนหนังนอกตีแรงทำเงินกันแผ่วกว่าปกติทั้งนั้น ที่รายได้พอดูดีหน่อยก็มีเซอร์ไพรสส์ฮิตอย่าง แสงกระสือ (37 ล้านบาท) และหนังภาคต่อที่รับประกันด้านรายได้แต่ก็ไม่เปรี้ยงเท่าภาคแรก ไบค์แมน 2 (35 ล้านบาท) ส่วน ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ นี่ยังวัดยากว่ากระแสตอนฉายจริงจะออกมาเปรี้ยงหรือปกติ ๆ ตามแบบเต๋อ ก็คงต้องดูต่อไป แต่แววแชมป์รายได้ก็คงไม่พ้น 2 เรื่องแรกที่บอกไป

หนังแห่งปีของแต่ละสำนักหนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้าจนถึงวันนี้ ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ Avengers: Endgame (สดไป 94%)
  • Metacritic ให้ Marriage Story (94/100)

*ซึ่งหลังจากนี้มีโอกาสบ้างเหมือนกันที่คะแนนจะขยับเปลี่ยนตำแหน่ง แต่ก็พอเห็นเค้าโครงหนังแห่งปีของแต่ละเจ้าล่ะนะ

หนังตัวแทนแห่งปี 2019 หนังตัวแทนแห่งปี 2019 ขอยกให้ Avengers: Endgameอย่างไม่ค่อยมีข้อสงสัยเท่าไหร่ ด้วยรายได้ที่ทำจนสูงสุดตลอดกาลไปแล้ว และยังปิดฉาก Infinity Saga ของหนังมาร์เวลที่ยาวนานมากว่า 10 ปีด้วย จริง ๆ จะบอกว่าเป็นหนังแห่งทศวรรษนี้เลยก็ได้ล่ะนะ เพราะคือบทสรุปช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งหนังมาร์เวลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ชมภาพยนตร์ทั้งทางตรงทางอ้อมแบบแน่นเหนียวทีเดียว

Go to top แชร์โพสนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0