โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

10 สาเหตุ โรคลมพิษ (urticaria) ที่คุณควรรู้

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 31 ส.ค. 2565 เวลา 07.47 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 13.41 น.
dlf05221061p1

โรคลมพิษเป็นโรคหนึ่งที่ได้ยินบ่อย ๆ บางคนเคยเกิดกับตัวเอง บางคนเคยเห็นคนรอบข้างเป็น โรคลมพิษอาจมีทั้งสามารถทราบสาเหตุการเกิดโรค และในบางรายก็ไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจแปรผันไปตามสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล อีกทั้งสภาวะอากาศที่แปรเปลี่ยนอย่างกะทันหันในยุคปัจจุบันก็อาจเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคลมพิษได้

ดังนั้น การมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตตัวเองและบุคคลใกล้ชิด

เมื่อรู้จักสังเกตตัวเองและรู้สาเหตุการเกิดโรคก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการเกิดโรคได้มากขึ้น

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า โรคลมพิษ (urticaria) เป็นอาการทางผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5-10 ซม. มักกระจายตามร่างกายอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามบริเวณที่มีผื่นขึ้นโดยทั่วไป แต่ละผื่นจะอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ของร่างกายได้อีกเช่นกัน

ชนิดของโรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • โรคลมพิษเฉียบพลัน (acute urticaria) ผื่นลมพิษที่จะเกิดขึ้นตามร่างกายในระยะเวลาติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
  • โรคลมพิษเรื้อรัง (chronic urticaria) ผื่นลมพิษที่จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป

จากข้อมูลทางสถิติของผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังในประเทศไทย ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวที่คลินิกโรคลมพิษ ภาควิชาตจวิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบว่ากลุ่มของผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 35 ปี ซึ่งตลอดช่วงชีวิตของคนทั่วไปจะมีโอกาสเกิดโรคลมพิษเรื้อรังได้ประมาณร้อยละ 0.5-1

โรคลมพิษมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกังวลต่อการดำเนินชีวิตตลอดเวลา ดังนั้น การหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผู้ป่วยลมพิษจำนวนมากอาจจะไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างแน่ชัด

ดังนั้น การมีความรู้เบื้องต้นว่าสาเหตุของโรคลมพิษมาจากสาเหตุใดได้บ้าง จึงนับเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้ผื่นที่มีอยู่มีอาการมากขึ้น หรือช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น

10 สาเหตุโรคลมพิษ

ศ.พญ.กนกวลัยยกตัวอย่าง 10 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ ดังนี้

  • อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด

2. ยา ปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นลมพิษได้

3. การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ อาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้

4. โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์

5. อิทธิพลทางกายภาพในผู้ป่วยบางราย ผื่นลมพิษอาจเป็นผลจากปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด การออกกำลังกาย เป็นต้น

6. การแพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยาง (Iatex) ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น

7. ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้ง ต่อต่อย

8. มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกาย

9. ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น

10. สาเหตุอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคลูปัส หรือผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบ บางรายอาจมีผื่นลมพิษแต่มีข้อสังเกต คือ แต่ละผื่นอยู่นานมักเกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อผื่นหายไป มักจะทิ้งรอยดำเอาไว้

การรักษาโรคลมพิษ

คุณหมอให้ข้อมูลอีกว่า แนวทางการรักษาโรคลมพิษในกรณีที่สามารถสืบค้นจนทราบสาเหตุและแก้ไขสาเหตุได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮิสตามินไปแล้วผื่นลมพิษมักหายได้เร็ว แต่หากหาสาเหตุไม่พบหรือเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้โดยง่าย แพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษให้สงบลงได้

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0