โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

10 ธันวาคม 1901 มอบรางวัลโนเบลเป็นครั้งแรก รางวัลแห่งมวลมนุษยชาติ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 ธ.ค. 2565 เวลา 06.44 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2565 เวลา 17.46 น.
nobel-2166136

การมอบรางวัลโนเบลทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของนายอัลเฟร็ด โนเบล ผู้มอบเงินสนับสนุนตั้งรางวัลโนเบล รางวัลที่มอบให้กับผู้ที่คิดค้นและค้นพบสิ่งเป็นประประโยชน์กับมนุษยชาติในหลายศาสตร์หลายสาขา

รางวัลนี้ เริ่มจากนายอัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) (21 ตุลาคม 1833-10 ธันวาคม 1896) เกิดที่กรุงสต็อกโฮม สวีเดน เป็นนักเคมี วิศวกร และนักอุตสาหกรรม เขาเรียนวิศวกรรมพื้นฐานจากพ่อและเรียนกับครูสอนตัวต่อตัว ทำให้มีความสามารถด้านเคมีอย่างเพียงพอ หลังจากนั้นได้ทำงานเป็นวิศวกรและนักประดิษฐ์ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้เข้าทำงานในโรงงานของพ่อที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) รัสเซีย

สิ่งที่ทำให้โนเบลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มาจากการเป็นผู้ประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมต์ ระเบิดนี้เป็นสิ่งที่ทันสมัยมีอานุภาพที่รุนแรงการผลิตระเบิดทำให้เขาร่ำรวยแต่เขาไม่เคยคิดถึงผลกระทบของมัน

จนกระทั่งพี่ชายของโนเบลเสียชีวิต หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเข้าใจว่าโนเบลเสียชีวิตจึงลงข่าวพาดหัวว่า “The merchant of death is dead.” (พ่อค้าความตายได้ตายไปแล้ว) เมื่อนั้นจึงทำให้เขาเข้าใจว่าตนเองรวยขึ้นจากการสร้างระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งเป็นวิธีฆ่าคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ข่าวนั้นทำให้เขาเกิดแรงจูงใจที่จะใช้ชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อรางวัลโนเบล รางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ

ในปี 1985 โนเบลสั่งให้นำทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขามาจัดเป็นเงินทุนสำหรับมอบรางวัลโนเบลมีทั้งหมด 5 สาขาคือ ฟิสิกส์ (physics) เคมี (chemistry) การแพทย์และสรีรวิทยา (physiology or medicine) วรรณกรรม (literature) และสันติภาพ (peace) โดยพิธีมอบรางวัลโนเบลจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม ปี 1901

การมอบรางวัลจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดนทรงเป็นผู้พระราชทานรางวัลโดยมีผู้ได้รับรางวัลในปีแรกนั้นประกอบด้วย

1. วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Konrad Roentgen) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จากการค้นพบรังสีเอ็กซ์ ในสาขาฟิสิกส์

2. ยาโกบึส แฮ็นรีกึส วันต์โฮฟฟ์ (Jacobus Henricus van’t Hoff) นักชีวเคมีชาวเนเธอแลนด์ จากการคิดค้นกฎของความดันออสโมซิส ในสาขาเคมี

3. เอมิล อดอล์ฟ ฟอน เบริง (Emil von Behring) นักสรีรวิทยาชาวเยอรมันจากการพัฒนาการรักษาโรคคอตีบ ในสาขาการแพทย์และสรีรวิทยา

4. ซูว์ลี พรูว์ดอม (Sully Prudhomme) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ในสาขาวรรณกรรม

5. อ็องรี ดูว์น็อง (Henri Dunant) นักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ชาวสวิส ด้วยผลงานการจัดตั้งองค์การกาชาด (Red Cross) และเฟรเดริก ปาซี (Frédéric Passy) ชาวฝรั่งเศส ผู้รณรงค์ให้มีการจัดตั้งองค์กรอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในสาขาสันติภาพ

วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีนอกจากจะเป็นวันมอบรางวัลโนเบลเพื่อยกย่องผู้ที่ทำประโยชน์ให้มนุษยชาติแล้ว ยังเป็นวันระลึกถึงการจากไปของอัลเฟร็ด โนเบล ชายผู้ริเริ่มการมอบรางวัลโนเบล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ที่มา :

Nobel Prize AWARD, Encyclopaedia Britannica,สืบค้นจาก https://www.britannica.com/topic/Nobel-Prize,(เข้าถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2562).

Amy Tikkanen,7 Nobel Prize Scandals,Encyclopaedia Britannica,สืบค้นจาก https://www.britannica.com/list/7-nobel-prize-scandals,(เข้าถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2562).

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0