โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

10 คำทำนายของประกันชีวิต ในยุคดอกเบี้ยต่ำ

สยามรัฐ

อัพเดต 22 ต.ค. 2562 เวลา 03.35 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 03.14 น. • สยามรัฐออนไลน์
10 คำทำนายของประกันชีวิต ในยุคดอกเบี้ยต่ำ

ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำ เป็นปัญหาที่หนักใจกับมนุษย์เงินเดือนและคนอีกหลายคนที่ต้องการให้เงินออมงอกเงยได้ในทุก ๆ เดือน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจและวางแผนในการซื้อประกันชีวิต ลองอ่านคำทำนายเหล่านี้ และเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตให้ดีครับ

คำทำนายที่ 1 – แบบประกันตัวใหม่ในท้องตลาดจะมีเบี้ยประกันที่แพงขึ้น และที่จะแพงขึ้นมากก็คือ แบบประกันสะสมทรัพย์ที่มีเงินคืน ซึ่งก็รวมไปถึงประกันบำนาญที่ผลประโยชน์ทุกอย่างจ่ายแบบการันตีด้วย เพราะแบบประกันเหล่านี้จะต้องนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในพันธบัตรเพื่อที่จะการันตีเงินคืนให้กับลูกค้าได้ (เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกัน) ทำให้มีผลกระทบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเงินที่เก็บเข้ามานั้นไม่สามารถทำให้เงินทำงานงอกเงยออกมาได้เหมือนเดิม แบบประกันเหล่านี้จะไม่สามารถอยู่รอดได้ ยกเว้นแต่การปรับค่าเบี้ยให้แพงขึ้น

คำทำนายที่ 2 - ประกันชีวิตแบบดั้งเดิม ที่การันตีผลประโยชน์ทั้งหมด จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบที่มีส่วนร่วมในเงินปันผลมากขึ้น ซึ่งแทนที่ทุกอย่างจะจ่ายเป็นเงินสดคืน ก็จะกลายเป็นจ่ายเป็นเงินสดคืนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนจะกลายเป็นรูปแบบเงินปันผล ที่ไม่การันตี (ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัท) เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันจัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากพันธบัตรได้มากขึ้น

คำทำนายที่ 3 – คอมมิชชั่นของตัวแทนและผลประโยชน์ของแบบประกันแบบดั้งเดิม (โดยเฉพาะแบบสะสมทรัพย์และประกันบำนาญ) จะลดน้อยลง เนื่องจากแบบประกันแบบดั้งเดิมไม่สามารถลงทุนได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ จึงมีการปรับลดโครงสร้างค่าใช้จ่ายของแบบประกันที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบบประกันตัวใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นแต่การการันตีเงินคืนจะมีผลตอบแทนที่ต่ำและไม่จูงใจในการขายอีกต่อไป

คำทำนายที่ 4 – แบบประกันในรูปแบบสะสมทรัพย์ที่การันตีเงินคืนต่างๆ ที่เคยซื้อมาก่อนแล้วนั้น จะได้รับผลประโยชน์และเงินคืนตามที่บริษัทประกันได้การันตีในสัญญาเอาไว้ ไม่ว่าบริษัทประกันจะขาดทุนจากการลงทุนขนาดไหน ก็ยังจะต้องยึดถือคำมั่นสัญญาเอาไว้ กรมธรรม์เหล่านี้จะกลายเป็นของล้ำค่ำ โดยเฉพาะแบบประกันที่การันตีดอกเบี้ยให้ลูกค้านำเงินฝากสะสมไว้กับบริษัทได้

คำทำนายที่ 5 - อัตราการขาดอายุกรมธรรม์ของแบบประกันสะสมทรัพย์จะน้อยลงมาก (สำหรับคนที่ซื้อไปก่อนหน้านี้) ถ้าไม่เดือดร้อนติดหนี้อะไรจริง ลูกค้าจะพยายามชำระเบี้ยประกันไม่ให้ขาดอายุ หลายคนจะต้องเตือนตัวเองให้ชำระเบี้ยให้ตรงเวลา เพื่อรักษาสิทธิ์ผลประโยชน์ที่ได้การันตีเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่ซื้อประกันมา ในทางกลับกัน การยกเลิกกรมธรรม์เดิมเพื่อนำเงินมาซื้อกรมธรรม์ใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด

คำทำนายที่ 6 – ไม่มีใครอยากใช้สิทธิ์การกู้เงินตามกรมธรรม์อีกต่อไป เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ของกรมธรรม์ในท้องตลาดทั้งหมดเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (fix rate) ซึ่งเป็นอัตราที่ตั้งขึ้นในสมัยที่ดอกเบี้ยยังสูงอยู่ และคงไม่มีใครที่ต้องการกู้เงินตามกรมธรรม์ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงในยุคดอกเบี้ยต่ำตอนนี้ เว้นเสียแต่ว่า ลูกค้าลืมจ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งแบบประกันส่วนใหญ่จะตั้งให้ตัดเงินอัตโนมัติจากการกู้เงินตามกรมธรรม์ให้ตัวเองเพื่อชำระเบี้ยประกันให้ (ดังนั้น ลูกค้าควรชำระเบี้ยให้ตรงเวลา เพื่อที่จะไม่ต้องโดนดอกเบี้ยจากการกู้เงินตามกรมธรรม์โดยไม่จำเป็น) ในทางกลับกัน บริษัทประกันชีวิตจะไม่สามารถคาดหวังรายได้จากช่องทางการให้กู้เงินตามกรมธรรม์นี้ได้อีกต่อไป

คำทำนายที่ 7 – บริษัทประกันบางแห่งที่เคยมุ่งเน้นแต่การขายแบบประกันสะสมทรัพย์หรือประกันบำนาญนั้นจะประสบกับภาวะการไม่ผ่านการทดสอบภาวะความเพียงพอของหนี้สิน ทำให้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ขาดทุนได้ เนื่องจากการตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะต้องนำดอกเบี้ยมาเป็นตัวแปรในการคำนวณด้วย ถ้าในยุคดอกเบี้ยต่ำ ก็แปลว่าเงินทำงานได้น้อยลงกว่าที่เคยคาดหวังเอาไว้ ทำให้กรมธรรม์ที่บริษัทประกันได้เคยขายไปแล้วในปัจจุบัน จะต้องตั้งหนี้สินให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อที่เงินจะได้วิ่งทันไปจ่ายผลประโยชน์ที่ได้การันตีเอาไว้ (ส่วนของหนี้สินที่ต้องตั้งสูงขึ้น จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ยังผลให้ขาดทุนได้)

คำทำนายที่ 8 – บริษัทประกันจะหันมาขายสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายไปกับการขายกรมธรรม์สะสมทรัพย์ไปด้วย เนื่องจากสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การคุ้มครองอุบัติเหตุ คุ้มครองสุขภาพ หรือคุ้มครองโรคร้ายแรง จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ จึงเป็นสาเหตุที่บริษัทประกันจะนำมาทำเป็นแพคเกจขายคู่กับแบบประกันสะสมทรัพย์ไปด้วย และบริษัทประกันจะจูงใจให้คอมมิชชั่นกับสัญญาเพิ่มเติมเหล่านี้ในรูปแบบแคมเปญต่างๆ ในแง่ดีคือบริษัทประกันจะเน้นมาขายแบบที่เน้นความคุ้มครองมากขึ้น ซึ่งเป็นการเน้นคุณค่าของประกันจริงๆ

คำทำนายที่ 9 – มีแน้วโน้มที่ดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนาน เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเงินส่วนที่ไปอยู่ในมือของคนสูงอายุจะกลายเป็นเงินออมสำหรับเกษียณและไม่ค่อยนำออกมาใช้จ่าย และเมื่อมีการใช้จ่ายน้อย สินค้าก็ขายไม่ได้ดี เศรษฐกิจก็เลยไม่ขยับ คนเห็นแบบนั้นก็เลยยิ่งไม่กล้าใช้สอยเข้าไปใหญ่ การกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยิ่งยาก และยิ่งมีคนอยากเก็บออมมาก ดอกเบี้ยก็ไม่เคยง้อใคร ยิ่งจะลดต่ำลงไปอีก (ตามหลักอุปสงค์ อุปทาน) ซึ่งยุคดอกเบี้ยต่ำจะเกิดกับสังคมไทยเราเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น

คำทำนายที่ 10 - ทางออกของประกันชีวิตสำหรับผู้บริโภคจึงกลายเป็นการหาแบบประกันที่จัดพอร์ตการลงทุนที่ไม่เน้นพันธบัตรอีกต่อไป (ผลประโยชน์เงินคืนในรูปแบบการันตีก็จะน้อยลง) หรือไม่ก็ต้องฉีกออกไปเพื่อปลดล็อคศักยภาพการลงทุนให้ลูกค้าเป็นคนเลือกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเอง โดยยูนิตลิงค์ (หรือ ประกันควบการลงทุน) จะถูกหยิบมานำเสนอเป็นทางเลือกมากขึ้น เพราะเป็นแบบประกันที่ไม่ได้การันตีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอีกต่อไป แต่เป็นการปลดล็อคให้ลูกค้ามีอิสระให้เงินทำงานในกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ซื้อมาได้ แต่ก่อนจะซื้ออะไรนั้น ศึกษาเพื่อความเข้าใจให้ดีก่อน สามารถศึกษาและอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “อย่าซื้อประกันยูนิตลิงค์ จนกว่าจะได้อ่านบทความนี้”

แหล่งที่มา : https://actuarialbiz.com/th

โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิระดับเฟลโล่
อาจารย์พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (อาจารย์ทอมมี่)นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0