โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

10 ข้อควรรู้ป้องกัน ไฟไหม้บ้าน พร้อมวิธีหนีไฟ ที่ถูกต้อง ปลอดภัย

MThai.com - Decor

เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2561 เวลา 08.12 น.
10 ข้อควรรู้ป้องกัน ไฟไหม้บ้าน พร้อมวิธีหนีไฟ ที่ถูกต้อง ปลอดภัย
อย่าละเลยตรวจเช็กอุปกรณ์หรือถอดปลั๊กไฟหลังใช้งาน ที่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอัคคีภัย

“โจรปล้นบ้าน 10 ครั้ง ไม่เท่า ไฟไหม้บ้าน แค่ครั้งเดียว” สำนวนไทยนี้บรรยายความรุนแรงของความสูญเสียไว้ครบจบในประโยคเดียว

เพราะแม้โจรจะปล้นบ้านแต่ก็ทำได้เพียงเอาเงินทองและทรัพย์สินไปได้เท่าที่สามารถขนย้ายได้ แต่ทรัพย์สินขนาดใหญ่และตัวบ้านยังคงอยู่ แต่ไฟไหม้บ้านนั้นสามารถทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือ สามารถนำความเสียหายไปสู่บ้านเรือนใกล้เคียงได้อีกหลายหลัง

ซึ่งจากสถิติช่วงที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2558 มีสถิติการเกิดเพลิงไหม้หรืออัคคีภัยจำนวน 646 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 681 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 783 ครั้ง และในปี 2561 นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม มีจำนวนการเกิดเหตุทั้งหมด 137 ครั้ง โดยในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 14 ราย ปี 2559 จำนวน 11 ราย และในปี 2560 จำนวน 23 ราย และดูเหมือนว่ายิ่งนับวันเราจะพบการนำเสนอข่าวการเกิดไฟไหม้อยู่บ่อยครั้งและดูจะเพิ่มความถี่ขึ้นจากหลายๆ ปีก่อนหน้านี้

และจากงานแถลงข่าว “การประสานความร่วมมือในการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน กทม.” ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้พบข้อเท็จจริงว่า สาเหตุหลักของการเกิดไฟไหม้กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

โดย นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ยังเผยว่า “เหตุไฟไหม้ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ชุมชน บางชุมชนเสียบปลั๊กพ่วงต่อกันเป็นทอดๆ เป็น 10 – 20 ราง ตรงนี้เป็นต้นเหตุของการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร”

เพื่อเป็นการให้ความรอบรู้และเป็นการป้องกันการเกิดไฟไหม้ ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงนำความรู้จากอินโฟกราฟิก ที่ สสส. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อสังคม ภายใต้โครงการ ยิ่งรู้ยิ่งรอดปลอดอัคคีภัย มาเผยแพร่ค่ะ

10 ข้อควรรู้เพื่อป้องกันเพลิงไหม้

  1. หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย หากชำรุดให้รีบซ่อมแซม

  2. เลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

  3. ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังเลิกใช้งานแล้วทุกครั้ง

  4. หมั่นตรวจสอบเตาและถังก๊าซหุงต้ม ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ปิดวาล์วที่หัวถังทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

  5. หน้าต่างที่ติดเหล็กดัด ต้องมีช่องทางออกฉุกเฉินที่เปิดได้อย่างน้อย 1 บาน ทุกห้อง

  6. ควรติดตั้งถังดับเพลิงภายในบ้านในจุดที่เห็นเด่นชัด ปราศจากสิ่งกีดขวาง และคนในบ้านต้องใช้ถังดับเพลิงเป็นทุกคน

  7. ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟ เพื่อช่วยป้องกันไฟฟ้ารั่วและอัคคีภัย

  8. วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงไวไฟทุกชนิด ต้องเก็บให้ห่างจากความร้อนและเปลวไฟ

  9. เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ เช่น ดับธูปเทียนให้สนิท

  10. ควรติดเบอร์โทร 199 และเบอร์โทรศัพท์สถานีดับเพลิงในพื้นที่ไว้ในที่มองเห็นเด่นชัด

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในบ้าน

  1. เมื่อเกิดเพลิงไหม้ อย่าเปิดประตู-หน้าต่างออก เพราะออกซิเจนจะทำให้ไฟลุกไหม้มากขึ้น หากเส้นทางหนีไฟมีควันไฟปกคลุม ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกหรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์มาครอบศีรษะเพื่อป้องกันการสำลักควัน และให้มอบคลานต่ำไปตามเส้นทางอพยพที่ปลอดภัย

  2. ไม่ควรเข้าไปหลบหนีไฟบริเวณที่ที่เป็นจุดอับ เช่น ห้องน้ำ เพราะเป็นที่ที่มีหน้าต่างน้อย อาจสำลักควันไฟหรือถูกไฟคลอกเสียชีวิต

การใช้ปลั๊กพ่วงอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงไหม้

  1. ควรใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

  2. ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงแบบม้วนสายในตลับกลม ควรใช้แบบรางที่มีสวิตซ์เปิด-ปิด และฟิวส์ช่วยป้องกันการใช้ไฟเกิน

  3. ห้ามนำปลั๊กพ่วงที่ชำรุดมาใช้งาน

  4. ห้ามใช้ปลั๊กพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก เช่น ตู้เย็น ปั๊มน้ำ ควรเสียบกับเต้ารับโดยตรง

  5. ห้ามนำรางปลั๊กพ่วงไปติดตั้งแบบถาวร หรือเดินสายไฟปลั๊กพ่วงติดกับผนังห้องฝ้าเพดาน ใต้พื้น และใต้พรม เพราะปลั๊กไฟถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานชั่วคราว

  6. ปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาเสียบกับปลั๊กพ่วงต้องแน่น ไม่หลวม

  7. ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงต่อพ่วงกันหลายเส้น เพื่อให้สายยาวขึ้น

  8. ควรถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ และควรถอดปลั๊กพ่วง ออกจากเต้าเสียบหลักที่ผนัง อย่าเสียบทิ้งไว้

  9. ควรปิดสวิตซ์ก่อนเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้ากับปลั๊กพ่วง เพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟ

  10. ถ้ามีสิ่งผิดปกติขณะใช้งาน เช่น สายไฟร้อน มีเสียงดัง เกิดประกายไฟ ให้หยุดใช้งานทันที แล้วปิดสวิตซ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และถอดปลั๊กพ่วงที่ติดกับผนังออกเพื่อความปลอดภัย

อย่าปล่อยละเลยตรวจเช็กอุปกรณ์หรือถอดปลั๊กไฟหลังใช้งาน ที่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอัคคีภัย ที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะต้องใช้เวลาในการกู้กลับคืนมาทั้งสิ่งของและสภาพจิตใจ หากตรวจเช็กก่อนออกจากบ้านสักนิดก็จะเป็นการป้องกันและบรรเทาเมื่อยามที่ภัยมาได้นะคะ

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.Thaihealth.or.th

ข้อมูลประกอบจาก : อินโฟกราฟิกชุด ‘10 ข้อควรรู้เพื่อป้องกันเพลิงไหม้’ และ ‘การใช้ปลั๊กพ่วงอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงไหม้’

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0