โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

10 วิธี บอกลาปัญหา “หัวนมแตก” ของคุณแม่มือใหม่

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 10.30 น. • Motherhood.co.th Blog
10 วิธี บอกลาปัญหา “หัวนมแตก” ของคุณแม่มือใหม่

10 วิธี บอกลาปัญหา "หัวนมแตก" ของคุณแม่มือใหม่

"หัวนมแตก" เป็นปัญหาหนึ่งที่คุณแม่มือใหม่ต้องพบเจอในช่วงสัปดาห์แรกของการให้นมแก่ทารกน้อย ซึ่งสาเหตุก็มีมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการให้นมลูก หรือการดูดนมของลูกน้อยที่ดูดไม่ถูกวิธี มาเรียนรู้ถึงสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขอาการกันค่ะ

หัวนมแตกเพราะอะไร ?

อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุหากเราแก้ไขได้ก็จะช่วยให้อาการหมดไป แต่บางสาเหตุอาจต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยสาเหตุที่มักพบ ได้แก่

อาการหัวนมแตกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
อาการหัวนมแตกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
  • ท่าทางในการกินนมและการดูดนมของทารกที่ผิด คุณแม่มือใหม่บางคนที่ยังไม่ชำนาญในการให้นมลูกน้อย อาจจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม และทารกเองก็อาจดูดหัวนมแม่ผิดวิธี คือปากของทารกอยู่ตื้นเกินไป ขอบปากของทารกครอบไปไม่ถึงลานนม ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กดื่มนมได้ไม่เต็มที่ ก็ยังส่งผลให้หัวนมแตกได้
  • การติดเชื้อรา หากทารกมีเชื้อราในช่องปาก การให้นมอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หัวนม และกลายเป็นปัญหาหัวนมแตกได้ เราสามารถสังเกตว่าเกิดการติดเชื้อหรือไม่จากอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการคัน หรือเจ็บบริเวณหัวนม หัวนมมีลักษณะแดงและเงาผิดปกติ นอกจากนี้ อาจมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ ขณะให้นมร่วมด้วย
  • การใส่อุปกรณ์ปั๊มนม การใช้งานเครื่องปั๊มน้ำนมประเภทต่าง ๆ หากใส่ไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมได้ โดยสาเหตุเกิดจากการเร่งความเร็วในการปั๊มนมมากเกินไป ปรับความแรงมากเกินไป หรือใช้หัวปั๊มที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้คับ จึงทำให้หัวนมแตก
  • ภาวะผิวหนังอักเสบบริเวณหัวนม อาการอักเสบของผิวหนังบริเวณหัวนมอาจทำให้ผิวหนังตกสะเก็ดและเป็นผื่นแดง จนนำไปสู่อาการคันและเจ็บบริเวณหัวนม หากไม่ดูแลรักษาให้ดีก็จะทำให้หัวนมแตกได้
  • ภาวะพังผืดใต้ลิ้นทารก (Ankyloglossia) เป็นภาวะความผิดปกติภายในช่องปากของทารกที่การเคลื่อนไหวของลิ้นถูกจำกัด เนื่องจากเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างลิ้นและพื้นล่างของปากมีขนาดสั้น หรือเกิดขึ้นล้ำมาทางด้านหน้าของปากมากเกินไป ทำให้เมื่อเด็กดูดนมแม่ลิ้นของทารกจะไม่สามารถขยับให้อยู่ในท่าดูดที่เหมาะสมได้ และทำให้เกิดเป็นแผลแตกที่หัวนมในที่สุด

ถึงแม้ว่าอาการหัวนมแตกจะไม่ส่งผลร้ายแรง แต่มันก็อาจรบกวนการให้นมได้ เพราะในบางกรณีที่หัวนมแตกจนมีเลือดไหลนั้น น้ำนมอาจมีเลือดเจือปนด้วย ทำให้ทารกกลืนนมที่มีเลือดเจือปน จนถึงขั้นพบเลือดเจือปนในอุจจาระของทารกหรือในนมที่เขาสำรอกออกมาได้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อเด็ก

แต่หากอาการรุนแรงมากก็อาจทำให้คุณแม่ให้นมลูกได้ไม่ต่อเนื่อง ทารกจะไม่อิ่มเพราะได้รับนมไม่เพียงพอ ทำให้ทารกเกิดอาการงอแงได้ ดังนั้น คุณแม่อาจต้องใช้การปั๊มนมเพื่อทกแทนการเข้าเต้าไปก่อนจนกว่าจะหายดี และควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมแม่เพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา

ปากทารกควรครอบไปถึงลานนม
ปากทารกควรครอบไปถึงลานนม

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์ ?

หากอาการไม่รุนแรงนัก คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องเลิกให้นมหรือไปพบแพทย์ แต่หากพบว่ามีการอาการเจ็บที่หัวนมอย่างรุนแรง หรือพยายามบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

10 เทคนิคแก้ปัญหาหัวนมแตก

  • ถ้าลานนมตึงหรือแข็ง ให้บีบน้ำนมออกก่อน จากนั้นนวดลานนมให้นิ่มก่อนให้ลูกดูดนม พร้อมทั้งลองเปลี่ยนท่าอุ้มหรือเปลี่ยนตำแหน่งลูก เช่น ท่าอุ้มฟุตบอล  ท่านอน เมื่อเปลี่ยนท่า มุมที่เข้าเต้าจะเปลี่ยนไปทำให้ไม่ดูดทับรอยแผลที่แตกเดิม
  • ให้ลูกดูดนมแม่ในท่าที่ถูกต้อง ควรจำไว้ว่าจมูก แก้ม และคางของลูกควรสัมผัสกับเต้านม ริมฝีปากทั้งด้านบนและด้านล่างของลูกควรแบะออกเหมือนปากปลา
  • เริ่มให้ลูกดูดนมจากข้างที่เจ็บน้อยที่สุดก่อน เพราะเมื่อทารกเริ่มดูดนม เขาจะดูดแรง ถ้าให้ดูดข้างที่เจ็บก่อนก็จะยิ่งเป็นแผลมากขึ้น ถ้าทั้งสองข้างเจ็บเหมือนกัน ให้เอาผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบและนวดเต้านมเบา ๆ เพื่อให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา
  • โดยปกติแล้วเมื่อลูกดูดนมแม่อิ่ม ส่วนใหญ่ลูกจะหลับและคายปากออกจากเต้าเอง แต่หากลูกยังไม่หลับหรือหลับไปทั้งที่ยังงับเต้านมอยู่ การถอนนมออกจากปากลูกก็ต้องทำให้ถูกวิธี คือ เมื่อให้นมเสร็จ อุ้มลูกให้กระชับกับหน้าอกเพื่อไม่ให้เขาดึงหัวนม จากนั้นใช้นิ้วมือสอดเข้าที่มุมปากลูก โดยให้นิ้วอยู่ระหว่างเหงือกของลูก เพื่อลดแรงดูดของลูกลง แล้วจึงค่อย ๆ ถอนหัวนมออกมา
  • ไม่จำเป็นต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูดนม เพราะการล้างด้วยน้ำเปล่าบ่อยเกินไปจะทำให้ผิวแห้ง และควรไม่ใช้น้ำอุ่นหรือร้อนเช็ดทำความสะอาดหัวนม
  • หลังจากให้นมลูกทุกครั้ง บีบน้ำนม  2-3 หยดทาบริเวณลานนมและหัวนมทั้งสองข้าง แล้วผึ่งลมให้แห้งก่อนสวมเสื้อชั้นใน เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารต้านการอักเสบจึงช่วยให้แผลหายเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องทาครีมหรือยาอื่น ๆ แต่ถ้าอยากให้ผิวชุ่มชื่น คุณแม่อาจจะใช้ลาโนลิน (ไขมันขนแกะบริสุทธิ์) หรือครีมหาหัวนมโดยเฉพาะ ทาได้เล็กน้อยเพื่อช่วยป้องกันแผลตกสะเก็ด แต่อย่าใช้สบู่ ครีม หรือน้ำมันชนิดอื่นโดยเด็ดขาด
  • ถ้าเจ็บมาก ให้ลูกงดดูดนมสัก 1-2 วัน และบีบน้ำนมทาแผล ผึ่งลมให้แห้ง อาจรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดได้ ระหว่างงดให้นม ให้บีบน้ำนมออกทุก 2-3 ชั่วโมง และป้อนนมด้วยถ้วยหรือช้อนไปก่อน แต่ยังไม่ควรให้ลูกดูดจากขวดนม เพราะจะทำให้เด็กเกิดความสับสนและติดการดูดจุกนมได้
  • หากยังพอสามารถให้นมได้แต่ยังต้องรับประทานยาแก้ปวด ควรรับประทานก่อนให้นมอย่างน้อย 30 นาที จะช่วยลดอาการปวดและบวมขณะให้นม
  • หากมีแผลเปิดและต้องงดให้นมบุตรชั่วคราว ควรใช้ยาทาชนิดป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียทาหลังจากล้างทำความสะอาด จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่มีวางขายทั่วไปตามร้านขายยาหรือยาตามใบสั่งแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
  • ในกรณีที่ต้องปิดแผล อาจจะใช้ปทุมแก้วครอบหัวนมชั่วคราว เพราะมันถูกออกแบบเพื่อรักษาแผลบริเวณหัวนมโดยเฉพาะ ป้องกันการระคายเคืองจากการสัมผัสกับเสื้อชั้นใน ซึ่งจะช่วยให้อาการเจ็บและแผลหายได้ในระยะเวลาอันสั้น ควรทำความสะอาดบริเวณแผลให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้วยมือและรีบปิดแผลเพื่อป้องกันเชื้อเข้าไปในแผล อีกทั้งยังควรเปลี่ยนที่ปิดแผลบ่อย ๆ
หากใช้ที่ปิดแผลก็ต้องหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ เพื่ออนามัย
หากใช้ที่ปิดแผลก็ต้องหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ เพื่ออนามัย

ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรทำอย่างไรต่อไป ?

หากอาการหัวนมแตกยังไม่ทุเลาลงหรือมีอาการเจ็บมาก คุณแม่อาจหยุดให้นมหรือปั๊มนมชั่วคราวเพื่อให้อาการดีขึ้นเสียก่อน และยังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีที่จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถดื่มนมแม่ได้โดยไม่ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บ และในระหว่างนี้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเสียดสีที่บริเวณหัวนมเพื่อให้แผลค่อย ๆ รักษาตัวเอง อย่าลืมปิดบาดแผล เพราะหากปล่อยให้แผลเปิดอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อจนเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นเต้านมอักเสบได้

จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้คุณแม่หัวนมแตกนั้นมีอยู่มากมาย ทางแก้ที่ดีที่สุดนั้นต้องเริ่มจากการให้นมที่ถูกท่าและถูกวิธี นอกจากนั้นการเลือกใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการให้นม ที่จะช่วยให้คุณแม่และทารกอยู่ในท่าทางของการให้นมที่ถูกต้องนั้นก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้อีกทางหนึ่ง แต่ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรจะเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมแม่เสียตั้งแต่เนิ่ม ๆ เป็นการปูพื้นฐานความรู้ และเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการให้นมแม่

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0