โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

1,000 เดียวเที่ยว "เชียงคาน" รับมาตรการแจกเงินเที่ยวของลุงตู่

Manager Online

เผยแพร่ 21 ส.ค. 2562 เวลา 09.22 น. • MGR Online

Facebook:Travel @ Manager

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวกับ "มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้" อันเป็นไอเดียของรัฐบาลชุดนี้ที่จะแจกเงินให้กับนักท่องเที่ยวคนละ 1,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังคงเป็นมาตรการที่หลายๆ คนยังเอียงคอสงสัยว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด เม็ดเงินจะไปตกอยู่กับใคร และเงิน 1,000 บาทนี้เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่

***(เงิน 1,000 นี้ไม่ได้แจกเป็นเงินสด แต่แจกผ่านระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ ไม่สามารถเบิกออกมาได้ และใช้จ่ายกับโรงแรมร้านค้าที่ร่วมรายการ สามารถอ่านเงื่อนไขและรายละเอียดในการรับเงิน 1,000 บาทได้ด้านล่าง)

เรื่องความคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร ขอให้เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิเคราะห์ได้วิพากษ์กันไป แต่วันนี้เราจะมาแจกแจงกันว่าเงิน 1,000 บาทนี้จะสามารถกิน-เที่ยว-ช้อป ได้จริงหรือไม่ โดยขอยกตัวอย่างการท่องเที่ยวที่ “เชียงคาน” ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเลยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดทัศนียภาพและบรรยากาศอันสงบงาม ถูกใจนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปใช้เวลาแบบสโลว์ไลฟ์ โดยเฉพาะในตัวเมืองเชียงคานยังมีเรือนไม้เก่าแก่ริมแม่น้ำโขงที่น่ารักน่าอยู่ชวนให้หลายคนอยากไปสัมผัส จนทุกวันนี้เชียงคานกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ซึ่งเราจะพาไปสำรวจกันว่าจะสามารถใช้เงิน 1,000 บาทเพื่อท่องเที่ยวในเชียงคานเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ได้หรือไม่ (ทั้งนี้ขอไม่รวมค่ายานพาหนะที่จะเดินทางไปยังเชียงคาน เพราะน่าจะเกินงบแน่ๆ)

สำหรับที่พักในเชียงคานส่วนใหญ่แล้วจะอยู่บริเวณถนนชายโขงเป็นหลัก โดยสองข้างทางของถนนสายนี้มีบ้านไม้เก่าแก่ที่ปรับปรุงแปรสภาพมาเป็นโรงแรมเล็กๆ เป็นเกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ รวมไปถึงร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึก อีกทั้งในยามเย็นย่ำค่ำคืนถนนสายนี้ก็จะเปิดเป็นถนนคนเดินให้นักท่องเที่ยวมาเลือกซื้อเลือกชิมสารพัดอาหารและของฝากของที่ระลึก สองข้างทางบนถนนชายโขงและในซอยย่อยจึงเต็มไปด้วยที่พักราคาหลักร้อยที่หาไม่ยาก อาทิ โรงแรมพูลสวัสดิ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมเรือนไม้แห่งแรกของเชียงคาน มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 600 บาท หรือจะเป็นบ้านพักชานเคียง บ้านพักน่ารักมีสไตล์ริมโขงทีมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 500 บาท และแม้แต่โรงแรมแคปซูลที่เชียงคานแห่งนี้ก็มีเช่นกันคือที่ แคปซูล โฮสเทล เชียงคาน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่คนละ 390 บาท เท่านั้น

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังสามารถเสาะหาที่พักราคาประมาณ 600-800 บาท ที่เชียงคานได้อีกเพียบ (ทั้งนี้บางแห่งไม่มีเครื่องปรับอากาศ และเป็นห้องน้ำรวม ต้องสอบถามกับทางที่พักก่อน)

ส่วนเรื่องอาหารการกินที่เชียงคานก็ไม่น่าห่วงเพราะมีของกินพื้นถิ่นราคาไม่แพงให้เลือกเพียบ ทั้ง “ตำด๊องแด๊ง” ที่หน้าตาคล้ายส้มตำปกติทั่วไป แต่ใส่เส้นด๊องแด๊งที่ทำมาจากแป้งขนมจีนตำรวมกับเครื่องส้มตำ เคี้ยวเส้นด๊องแด๊งหนึบหนับเข้ากับส้มตำดี หรือจะเป็น “ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว” เป็นเมนูอาหารเช้าพื้นบ้านดั้งเดิมที่หน้าตาคล้ายกับก๋วยเตี๋ยวน้ำใสแต่ใส่เส้นขนมจีนแทนเส้นก๋วยเตี๋ยว พร้อมด้วยเครื่องในหมูสารพัดอย่างในน้ำซุปใสหอมหวานอร่อยดี หรือจะเป็นเมนูง่ายๆ ที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง "ข้าวเปียกเส้น" จัดเต็มเครื่องทั้งหมูยอ กระดูกหมู โรยด้วยหอมเจียว นอกจากนั้นก็ยังมีแหนมคลุก จุ่มนัว ข้าวจี่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้หาชิมกันได้ในราคาราว 20-50 บาท

หรือหากใครมาเดินเล่นถนนคนเดิน ก็อยากให้ลองชิม “กุ้งแม่น้ำโขงย่าง-ปูย่าง” ซึ่งเป็นกุ้งปูตัวเล็กๆ จับมาจากแม่น้ำโขงนำมาเสียบไม้ย่างบนเตาถ่านร้อนๆ หอมๆ เคี้ยวกินได้ทั้งตัวในราคาไม้ละ 20 บาท

และถ้ามาถึงเชียงคานแล้วจะสามารถไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง และมีค่าใช้จ่ายเท่าไร? นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวเชียงคานมักจะชอบมาเสพบรรยากาศอันเงียบสงบ ใช้ชีวิตช้าๆ แบบสโลว์ไลฟ์ นอนอ่านหนังสือในที่พัก แดดร่มลมตกก็ออกไปเดินเล่นริมแม่น้ำโขง เดินไปเที่ยววัดไหว้พระที่อยู่ในตัวเมืองอย่างวัดท่าคก วัดมหาธาตุ หรือวัดศรีคุณเมือง จากนั้นก็ช้อปปิ้งชิลๆ บนถนนคนเดิน เรียกได้ว่าไม่ต้องเสียเงินกับค่าเดินทางระหว่างเที่ยวในเชียงคานเลยก็ยังได้

หากใครไม่อยากเดินแต่อยากจะปั่นจักรยาน ตามที่พักต่างๆ ก็มีบริการให้เช่าจักรยานโดยมีค่าเช่าประมาณวันละ 50 บาท สามารถปั่นเที่ยวเล่นริมโขง หรือหากใครไม่เหนื่อยจะไปไกลกว่านั้นให้ถึง "แก่งคุดคู้" ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของเชียงคานที่อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปราว 5 กิโลเมตรก็ได้

แต่ถ้าอยากจะไปดูทะเลหมอกยามเช้าที่ "ภูทอก" จุดชมทะเลหมอกและวิวแม่น้ำโขงของเชียงคานซึ่งอยู่นอกเมืองออกไป ก็สามารถเหมารถสกายแล็ปไปได้โดยมีราคาไป-กลับประมาณคนละ 100 บาท จากนั้นไปต่อรถกระบะของชาวบ้านอีกคนละ 25 บาท เพื่อไปยังจุดชมทะเลหมอก และหากอยากจะท่องเที่ยวหลายๆ จุดก็สามารถเหมารถสกายแล็ปได้ในราคาประมาณคนละ 150-200 บาท โดยมีจุดท่องเที่ยวหลักๆ ได้แก่ ภูทอก วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน และแก่งคุดคู้

สรุปค่าใช้จ่ายของการท่องเที่ยวเชียงคาน 2 วัน 1 คืน (โดยไม่รวมค่ายานพาหนะไปยังเชียงคาน) โดยมีงบ 1,000 บาท/คน พบว่าสามารถเป็นไปได้ โดยหากได้พักโรงแรมราคา 600 บาท อาหาร 5 มื้อในราคามื้อละ 60 บาท รวมเป็น 300 บาท ค่าเช่าจักรยาน 1 วัน ราคา 50 บาท รวมค่าใช้จ่ายเป็น 950 บาท/คน ทั้งนี้หากไปกับเพื่อน 2 คน เมื่อแชร์ค่าโรงแรมกันก็จะเหลือเงินสำหรับค่าอาหารและเหมารถสกายแล็ปไปดูทะเลหมอกที่ภูทอกได้ หรือเหลือเงินสำหรับช้อปปิ้งได้อีกนิดหน่อยด้วย

นี่เป็นตัวอย่างสำหรับการใช้เงิน 1,000 บาทจากมาตรการแจกเงินเที่ยวของรัฐบาล เผื่อใครที่อยากจะลงทะเบียนไปเที่ยวเชียงคานกันจะได้ทราบค่าใช้จ่ายคร่าวๆ กันก่อนไป

สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 1,000 บาท จะต้องเป็นคนไทยที่มี อายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน และลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) (ยังรอยืนยัน) ด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และต้องเลือก 1 จังหวัดที่จะเดินทางไป โดยเป็นจังหวัดใดก็ได้ที่ไม่ซ้ำกับที่อยู่ตามบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 23 กันยายน-15 พฤศจิกายน 2562 หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด (จำกัด 10 ล้านสิทธิ์เท่านั้น) และจะต้องเดินทางท่องเที่ยวภายในวันที่ 27 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2562

ผู้ที่ลงทะเบียนกับเว็บ ททท. แล้วจะได้รับ SMS ยืนยันหลังจากลงทะเบียนไม่เกิน 3 วันทำการ จากนั้นการรับเงินจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ (g-Wallet) โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ซึ่งหากมีบัญชีธนาคารกรุงไทยอยู่แล้วสามารถสมัครใช้งานแอปฯ เป๋าตังได้ด้วยตัวเอง โดยใช้หมายเลขบัตรเอทีเอ็ม/เดบิต หรือ รหัสผู้ใช้งาน KTB netbank เดิม ก็สามารถใช้งานได้ทันที

และเมื่อได้รับสิทธิ์แล้วจะต้องเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ ภายใน 14 วันหลังได้รับ SMS (หากเกินเวลาเงินจะถูกดึงกลับ) และใช้จ่ายเงินผ่านค่าโรงแรมที่พัก ค่าอาหาร และการซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยร้านค้าต้องเป็นร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และรับชำระเงินผ่านแอปฯ ถุงเงิน (แอปฯ สำหรับร้านค้า) หรือมีเครื่อง EDC เชื่อมกับธนาคารกรุงไทย โดยสินค้าต้องเป็นสินค้าท้องถิ่น เช่น สินค้าโอทอป สินค้าวิสาหกิจชุมชน สินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้าน THAIDEN ส่วนที่พักก็ต้องเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม โฮมสเตย์ ตามรายชื่อของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่กอง บก.ข่าวท่องเที่ยวแฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่Facebook:Travel @ Manager

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0