โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“True” คว้าสัมปทาน 30 ปี บริหารท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดินทั่ว กทม. TDRI ชี้ซ้ำเติมปัญหาผูกขาด

TODAY

อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 09.14 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 09.05 น. • Workpoint News
“True” คว้าสัมปทาน 30 ปี บริหารท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดินทั่ว กทม.  TDRI ชี้ซ้ำเติมปัญหาผูกขาด

ทรู อินเตอร์เน็ตฯ คว้าสัญญาสัมปทานระยะเวลา 30 ปีจาก กทม. ในการดำเนินการบริหารท่อร้อยสายเคเบิ้ลทั่วกรุงเทพฯ และมีออปชั่นขยายระยะเวลาสัมปทานไปอีก 15 ปี  ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ ปัญหาการผูกขาดกำลังเกิดขึ้นซ้ำในวงการโทรคมนาคมไทย

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช. ในการร่วมมือกันนำสายเคเบิ้ลสื่อสารลงใต้ดินทั่ว กทม.  โดยทาง กทม. ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม. เอง เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างวางท่อร้อยสายใต้ดินทั่ว กทม. ความยาวรวม 2,450 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท  และจะต้องให้แล้วเสร็จใน 2 ปี หรือก็คือภายในปี 2564

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของ กทม. เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศ กทม. "เรื่องการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535" ที่ประกาศในวันที่ 11 มิ.ย. 62 โดยใจความสำคัญระบุว่า การวางสายเคเบิ้ลไว้บนเสาไฟฟ้าต่อไปจะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และถ้าหากในพื้นที่ใดที่มีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้ว การจะนำสายเคเบิ้ลไปแขวนไว้กับเสาไฟฟ้าย่อมไม่มีเหตุจำเป็นอีกและผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินดังกล่าวแล้วเสร็จ จะต้องมีผู้บริหารจัดการต่อ โดยทาง กทม. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายที่มีใบอนุญาตจาก กสทช. ยื่นข้อเสนอ ผลปรากฏว่า บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอปอเรชั่น จำกัด ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และสุดท้ายผ่านการพิจารณา จึงได้รับสัมปทานสิทธิในการบริหารจัดการท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดินทั่ว กทม. เป็นระยะเวลา 30 ปี  โดยมีออปชั่นในการขยายสิทธิสัมปทานดังกล่าวไปอีก 15 ปี รวมเป็น 45 ปี

ทางด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Somkiat Tangkitvanich ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวที่ให้สิทธิบริษัทเดียวผูกขาดเป็นเวลา 30 ปี อาจซ้ำเติมปัญหาการผูกขาดในวงการโทรคมนาคมไทย เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่ง อาจเกิดความเสี่ยงเช่นผู้ประกอบการรายดังกล่าวกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งให้ไม่สามารถใช้ท่อร้อยสายเคเบิ้ลดังกล่าวได้ หรือคิดค่าบริการการใช้ท่อร้อยสายแพงๆ หรือให้บริการช้าๆ จนคู่แข่งไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0