โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“บลจ.ต่างชาติ” ศักยภาพระดับโลก...กับ ‘โจทย์ที่ท้าทาย’ ในการบุกตลาดกองทุนไทย !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 10 ส.ค. 2566 เวลา 03.33 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2564 เวลา 15.58 น. • สรวิศ อิ่มบำรุง

ครั้งนี้จะพามาส่องกลุ่ม “บลจ.ต่างชาติ” กันบ้าง ซึ่งถือเป็นกลุ่มบลจ.ที่เป็นระดับภูมิภาคหรือระดับโลกที่บุกเข้ามาลุยธุรกิจกองทุนรวมในไทย ถือเป็นบลจ.ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านเลยทีเดียว จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ “บลจ.ลูกประกัน” กับ “บลจ.ลูกบลจ.” โดยตรง
และเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับ2 รองจาก “บลจ.ลูกแบงก์” อีกด้วย ช่วง 4 เดือนแรก “บลจ.ต่างชาติ” มีสินทรัพย์สุทธิรวมกัน 675,775.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.64% จากสิ้นปี20 ถือเป็นกลุ่มบลจ.ที่มีการเติบโตน้อยที่สุดในช่วง 4 เดือนแรกนี้อีกด้วย
ปัจจุบันมี ‘ส่วนแบ่งการตลาด’ ในธุรกิจกองทุนรวมอยู่ที่ 12.92% ลดลงจากสิ้นปี20 ที่ 13.07%
นอกจากนี้ยังมี “บลจ.เอ็มเอฟซี” ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเพราะถือหุ้นโดย “ภาครัฐ” ผ่าน ‘ธ.ออมสิน’ และ ‘ก.คลัง’ รวมกัน 41.17% ที่ 4 เดือนแรกก็มีสินทรัพย์ 273,936.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.39% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่โตเพียง 3.83% เท่านั้น
วันนี้ ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับบลจ.กลุ่มนี้มาอัพเดทกัน

“บลจ.ต่างชาติ” มี 2 ค่ายใหญ่…‘ลูกประกัน’ และ ‘ลูกบลจ.’

กลุ่ม “บลจ.ต่างชาติ” แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1.“บลจ.ลูกประกัน” ได้แก่ บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย), บลจ.ทหารไทย, บลจ.ธนชาต และบลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ซึ่งบริษัทแม่ที่เป็นประกันเองนั้นก็จะมีทั้งธุรกิจประกันและธุรกิจจัดการลงทุนทั้งคู่ เรียกว่าครบวงจร ล่าสุดทาง “พรูเด็นเชียล” ก็เข้ามาซื้อบลจ.ทหารไทยและบลจ.ธนชาตไปเรียบร้อยแล้ว และในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะรวมกันเหลือเพียงบลจ.เดียวภายใต้ชื่อใหม่ โดยจะให้ธุรกิจด้านจัดการลงทุนเป็นผู้มาดูแลบลจ.ลูกเหล่านี้เป็นหลัก
“ล่าสุดในส่วนของ ‘บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย)’ บริษัทแม่ก็ขายธุรกิจให้กับ ‘บมจ.คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) หรือ ‘KWG’ กลุ่มบริษัทจากฮ่องกงที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ปัจจุบันทำธุรกิจที่หลากหลายทั้งด้านประกันชีวิต ประกันวินาศภัยทั่วไป การจัดการสินทรัพย์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการเข้าซื้อบลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) แล้วเสร็จไปแล้วเมื่อ 31 มี.ค. 21 ที่ผ่านมา”

2.“บลจ.ลูกบลจ.” ได้แก่บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย), บลจ.พรินซิเพิล และบลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย)
“กลุ่ม ‘บลจ.ต่างชาติ’ เองแม้จะมีจุดเด่นในเรื่องความเป็นระดับโลกอยู่ แต่เมื่อมาบุกไทยหลายแห่งก็เจอปัญหาการทำตลาดเพราะไม่มีเครือข่ายสาขา และในอดีตการลงทุนขั้นต่ำก็ค่อนข้างใช้เงินลงทุนสูง จึงทำให้ขยายตลาดได้ยาก โดยเฉพาะในกลุ่ม ‘บลจ.ลูกประกัน’ จนต้องบ๊าย บายไปแล้วหลายราย เช่น ไอเอ็นจี หรือแมนูไลฟ์ก็ตาม ในขณะที่ข้อจำกัดนี้ไม่เป็นอุปสรรคของกลุ่ม ‘พรูเด็นเชียล’ ที่จะได้เครือข่ายสาขา ‘ธ.ทหารไทยธนชาต (TTB)’ มาช่วยขายให้ต่อเนื่อง หรือกลุ่มเอไอเอเองก็โฟกัสไปที่การตอบโจทย์ลูกค้าประกันเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ได้โฟกัสการทำตลาดนักลงทุนทั่วไปแต่ประการใด”
เช่นเดียวกับ “บลจ.ลูกบลจ.” อย่างบลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) และบลจ.พรินซิเพิล ก็จะมีเครือข่าย ‘ธ.ยูโอบี’ และ ‘ธ.ซีไอเอ็มบี’ เป็นช่องทางขายที่สำคัญให้เช่นกัน จะมีเพียงบลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) ที่จะมีจุดด้อยในเรื่องนี้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและโมเดลธุรกิจของแบงก์ที่ทำ Open Architecture มากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดจุดด้อยนี้ได้ อีกทั้งบลจ.ต่างชาติส่วนใหญ่ก็ยังมีการพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ ตลอดจนพัฒนา Mobile App ของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงง่ายขึ้นอีกด้วย”

“บลจ.เอไอเอ (ปทท.)” แชมป์โตสุดกลุ่ม ‘บลจ.ต่างชาติ’ 14.97%

ปัจจุบันมี “บลจ.ต่างชาติ” 7 แห่ง ช่วง 4 เดือนแรกมีสินทรัพย์สุทธิ 675,775.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.64% จากสิ้นปี20 ถือว่าโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ โดยมี 4 บลจ. คิดเป็น 57.14% จากทั้งหมดที่โตกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม ในขณะที่อีก 3 บลจ.คิดเป็น 42.86% ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในจำนวนนี้มี 2 บลจ.ที่โตลดลง ได้แก่ บลจ.ธนชาตและบลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย)
“โดยบลจ.ที่มีการเติบโตดีสุด ได้แก่ บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์สุทธิ 28,461.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.97% ในขณะที่บลจ.ที่โตน้อยสุด ได้แก่บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์สุทธิ 3,307.55 ล้านบาท ลดลง -2.96%

“บลจ.ทหารไทย” แชมป์ส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 4.31%

ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาด “บลจ.ต่างชาติ” เรียงลำดับ ดังนี้
1.“บลจ.ทหารไทย” มีส่วนแบ่งการตลาด 4.31%
2.“บลจ.ธนชาต” มีส่วนแบ่ง 3.39%
3.“บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่ง 2.56%
4.“บลจ.พรินซิเพิล” มีส่วนแบ่ง 1.52%
5.“บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย)” มีส่วนแบ่ง 0.54%
6.“บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่ง 0.53%
7.“บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่ง 0.06%
“ทั้งนี้ภายหลังการรวมกันระหว่างบลจ.ทหารไทยและบลจ.ธนชาตแล้ว จะทำให้บลจ.ใหม่ลูกประกันแห่งนี้ มีสินทรัพย์สุทธิรวมกัน 402,929.67 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 7.70% จะเลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่อันดับ5 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม ในทำเนียบ Top5 ในทันที”

“บลจ.เอ็มเอฟซี” 4 เดือนแรกโตสวนศก.ซบ 6.39% สูงกว่าอุตสาหกรรม

สุดท้าย “บลจ.เอ็มเอฟซี” ซึ่งเป็นบลจ.ที่มี ‘ภาครัฐ’ ถือหุ้นทั้งทางตรงและอ้อมกว่า 41.17% นั้น ในช่วง 4 เดือนแรกก็โตได้ดีกว่า 6.39% มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 273,936.27 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 5.24% เป็นบลจ.ที่มีเครือข่ายสาขาแบงก์ออมสินอยู่ในมือ มีโปรดักต์ที่แตกต่าง มีการพัฒนาระบบออนไลน์ รวมถึง Mobile App เพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ถือเป็นอีกบลจ.ที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นบลจ.เดียวในอุตสาหกรรมกองทุนที่จดทะเบียนซื้อขายใน “ตลาดหุ้นไทย” ในปัจจุบันด้วย
กลุ่ม “บลจ.ต่างชาติ” ถือว่าเป็นกลุ่มที่มาจากระดับภูมิภาคและระดับโลก ค่อนข้างครบเครื่องในทุกศักยภาพถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตา แม้ในแง่การเติบโตอาจไม่ดีเท่าไรนัก อาจเพราะฐานนักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงอิงแอบกับแบงก์เป็นส่วนใหญ่ จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการเจาะตลาดของบลจ.กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0