โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แฟชั่น บิวตี้

“Citizen of Love” สยามพิวรรธน์เปิดพื้นที่แห่งความรัก จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้ด้อยโอกาส

Manager Online

เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 16.57 น. • MGR Online

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ “ไอคอนสยาม” เดินหน้าโครงการ “Citizen of Love” เปิดให้ใช้พื้นที่ในโครงการของสยามพิวรรธน์และบริษัทในเครือ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลิตขึ้นมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและวางจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

โครงการ “Citizen of Love” ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา ภายใต้แนวความคิดว่า ในฐานะองค์กรที่เกิดในประเทศไทยอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีบนแผ่นดินอันเปี่ยมด้วยความรัก และการทำความดีด้วยหัวใจเพื่อผู้อื่น จึงตั้งปณิธานที่จะสืบสานและแบ่งปันความรัก มอบโอกาสในการสร้างความภาคภูมิใจและความเท่าเทียมให้กับคนทั้งมวลอย่างทั่วถึง ซึ่งทางสยามพิวรรธน์ได้สนับสนุนและให้โอกาสกับผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ เด็กพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส ได้มาใช้พื้นที่ในโครงการของสยามพิวรรธน์และบริษัทในเครือ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลิตขึ้นมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและวางจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด

อีกทั้งโครงการนี้ยังช่วยตอกย้ำการทำงานของสยามพิวรรธน์ที่ยึดมั่นในการทำให้ธุรกิจ ด้วยการสร้างคุณค่าและเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านผู้คน ด้านชุมชนและสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การเป็นสถานที่ที่จะมอบความสุข และโอกาสให้แก่ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ รวมถึงกลุ่มคนผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ เด็กพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส

ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้นำเรื่องการทำอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในอาคารอย่างครบวงจรเป็นรายแรก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้ทุพพลภาพรวมถึงผู้สูงอายุและคนทั้งมวลให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น การทำทางเข้า-ออกอาคารที่เชื่อมโยงกับทางเดินและทางลาดรอบอาคารและเชื่อมต่อกับอาคารจอดรถ การติดตั้งนวัตกรรมอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคารในพื้นที่วันสยาม (OneSiam) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุหรือผู้ใช้รถเข็นทุกประเภทสามารถสัญจรไปมาเชื่อมต่อระหว่าง 3 ศูนย์การค้า ลิฟต์ขนาดกว้างใหญ่สำหรับรถเข็นทุกประเภท มีห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ทุพพลภาพที่ได้มาตรฐานบริการทุกชั้น นอกจากนี้การออกแบบตัวอาคารของไอคอนสยามทั้งอาคารก็ยังใช้แนวคิด “อารยสถาปัตย์” และการออกแบบท่าเรือไอคอนสยามซึ่งจัดให้มีทางลาดขึ้นลงของผู้พิการและผู้ทุพพลภาพโดยเฉพาะแยกจากผู้โดยสารอื่นและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล

การใช้สถานที่เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และก่อให้เกิดรายได้ โดยเราได้มีการจัดสรรพื้นที่ในทุกโครงการของสยามพิวรรธน์และบริษัทในเครือ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลพิเศษได้แสดงความสามารถ หรือนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลิตขึ้นมาวางจำหน่ายได้อย่างเท่าเทียมคนทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการต่อยอด สร้างรายได้ และให้พวกเขารู้สึกมีความภาคภูมิใจในความสามารถของตน รวมทั้งมีการจ้างงานนักกีฬาเฟสปิกเกมส์ (FESPIC GAMES) มาเป็นพนักงานประจำตามนโยบายขององค์กร

ท้ายสุดคือการมอบประสบการณ์ให้กับผู้ด้อยโอกาส อย่างการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาความคิด ความรู้ให้แก่น้องๆอยู่เสมอ อาทิ นำเด็กกำพร้าจากภาคใต้ เรียนรู้ชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเล ณ SeaLife Bangkok Ocean World นำเด็กพิการจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ สร้างจินตนาการ เปิดโลกทัศน์เรียนรู้หลากหลายอาชีพแบบผู้ใหญ่ในเมืองเสมือนจริง ณ คิดส์ซาเนีย (Kidzania) พร้อมสัมผัสความตื่นตาตื่นใจไปกับสยามพารากอน รวมทั้งการจัดแคมเปญเพื่อให้ลูกค้าร่วมกับสยามดิสคัฟเวอรี่ มอบของขวัญปีใหม่ให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาส โดยเราเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 15 ปี

และล่าสุดได้เปิดโซน “Made By Beautiful People” ซึ่งได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของ ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) ชั้น 4 และ ชั้น 5 ไอคอนสยาม และ ร้าน ODS (Objects of Desire Store) ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ ให้เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาส และสร้างอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยสยามพิวรรธน์ทำการบริหารจัดการขายสินค้าและทำการตลาดอย่างครบวงจร โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่ที่สร้างกำลังใจ ที่จะแสดงผลงาน เผยแพร่ความสามารถ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา ให้เป็นที่ประจักษ์และยกย่องทั้งในหมู่คนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาเยี่ยมชม โดยตอนนี้ได้เปิดพื้นที่ให้แก่ 7 องค์กรนำร่อง ได้แก่

1. ศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน นำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยฝีมือจากคนพิการ 100% นำเอกลักษณ์ลายผ้าขาวม้า มาตัดเย็บและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

2. มูลนิธิแสงสว่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (Light for the Disabilities Foundation)ผลิตภัณฑ์โดยผู้พิการทางสมองและปัญญา ตุ๊กตาจากผ้าขนหนูโดยผู้พิการ เพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการด้วยการว่าจ้างให้มีรายได้ และยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาคนพิการมาร่วมทำผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยการพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด

3. โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ ผลงานการทอผ้าโดยนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ภายใต้แบรนด์ Thitipawin แบรนด์กระเป๋าที่ตัดเย็บจากผ้าทอซาโอริ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 รายได้จากการจำหน่ายสินค้านำไปใช้เพื่อการศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินต่อไป

4. โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ Heartist โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากการบำบัดของบุคคลพิเศษ สร้างสรรค์กระเป๋าผ้าเพื่อสังคมที่มีเพียงใบเดียวในโลกทำมาจากผ้าผืนทอมือจากเด็กพิเศษ ชื่อแบรนด์เป็นการรวมคำระหว่างคำว่า “heart” + “artist” หมายถึง ความเชื่อว่าแค่มีใจ ทุกคนบนโลกเป็นศิลปินได้ แบรนด์นี้ก่อตั้งโดย วริศรุตา ไม้สังข์ หญิงสาวอายุเพียง 25 ปี ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานอาสาสมัคร ทำให้กลายเป็นแบรนด์ที่พัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากการบำบัดของบุคคลพิเศษ

5. มูลนิธิออทิสติกไทย Art Story by Autistic Thai คือองค์กรสาธารณประโยชน์ ดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และบุคคลออทิสติก เป็นธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มเด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกที่ร่วมกันรังสรรค์พรสวรรค์ และจินตนาการผ่านภาพวาดลายเส้น ผลงานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลก สู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ โดยการสนับสนุนของศูนย์ฝึกอาชีพออทิสติกไทย ภายใต้มูลนิธิออทิสติกไทย ที่มุ่งมั่นส่งเสริมคุณค่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กพิเศษอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

6. มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ร่วมกับ Cheevit Water น้ำดื่มชีวิต เปิดโอกาสให้เด็กที่มีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษ ได้แสดงออกผ่านการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ขวดน้ำดื่มบรรจุขวด ในโครงการ Cheevit Water Series II by Gifted or Talented Child Ryukin – ปริญญา – Nattee โดยทุกการซื้อน้ำดื่มชีวิต 1 ขวด จะร่วมสมทบทุน 1 บาท เมื่อมอบให้มูลนิธิ ณ กิตติคุณ เพื่อนำไปสร้างโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ในกลุ่มอาการออทิสติก ดาวน์ซินโดรม สมองพิการ ต่อไป

7. มูลนิธิสิกขาเอเชีย ชาวบ้านในชุมชนคลองเตย และดีไซเนอร์จิตอาสาชาวญี่ปุ่น ชื่อ ฟูจิตะ ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ FEEMUE (ฝีมือ) แบรนด์ฝีมือ โดยแบรนด์นี้เกิดขึ้นมาจากวิถีของคนในสังคมชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตัดเย็บโดยกลุ่มสตรีที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการเปลี่ยนภาพลักษณ์เชิงลบของชุมชนคลองเตยด้วยพลังแห่งการออกแบบ นอกจากนี้ FEEMUE (ฝีมือ) ยังได้รับรางวัล Good Design Award 2017 แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0