โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“CPLI” บ่มเพาะดีเอ็นเอผู้นำ เคลื่อนธุรกิจซีพีสู่อนาคต

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 18.00 น.

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2555 เป็นปีเริ่มก่อสร้าง"สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์" (CP. Leadership Institute :CPLI)ก่อนเปิดดำเนินการในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน กลายเป็นศูนย์บ่มเพาะทายาทธุรกิจในอาณาจักรซีพี ตามวิสัยทัศน์ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองไทย ในปี 2561 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ตระกูลเจียรวนนท์ถือครองทรัพย์สินมูลค่าราว 9.37 แสนล้านบาท

ด้วยวิสัยทัศน์การทำธุรกิจที่กว้างไกลของเจ้าสัวธนินท์ ทำให้วันนี้ธุรกิจในเครือไปปักธงลงทุนกว่า 20 ประเทศ และขยายธุรกิจครอบคลุมกว่า 100 ประเทศ มีรายได้รวมมากกว่า 5 ล้านล้านบาทจากใน 8 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย ทั้งธุรกิจเกษตรอาหาร ธุรกิจการตลาดและโลจิสติกส์ ธุรกิจโทรคมนาคมและมีเดีย ธุรกิจเวชภัณฑ์ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจการเงิน

การเติบโตที่รวดเร็ว กว้างไกลเช่นนี้จึงต้องพัฒนากองทัพ ในการพาธุรกิจในเครือบุกโลก การจะทำให้กลุ่มธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง จึงต้องผลิตผู้นำที่เยีี่ยมยุุทธ์ในแบบเจ้าสัวอีกหลายคน เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนองค์กร ผ่านหลักสูตรพัฒนาผู้นำแห่งนี้เพื่อพร้อมเป็นหัวเรือบริหารองค์กรขนาดใหญ่ในอนาคต

"อนาคตของซีพีที่สำคัญที่สุดคือ"คน"ซีพีจะยืนหยัดมั่นคงได้ จะต้องมี"ผู้นำรุ่นใหม่"ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งจะนำพาให้คนในเครือฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน" นี่คือวิสัยทัศน์ของเจ้าสัวธนินท์ ที่มองว่าทุนมนุษย์สำคัญที่สุด

จึงเป็นที่มาของการลงทุนสร้างโรงเรียนผู้นำที่ตั้งอยู่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาที่ถือได้ว่ามาตรฐานดีทัดเทียมระดับโลก โดยการทุ่มงบลงทุนสูงกว่า 7,000 ล้านบาท ในเนื้อที่กว่า 440 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สร้างอาคารสถาปัตยกรรมคลาสสิคสไตล์ยุโรป 5 หลังสำหรับการเรียนที่ล้ำหน้าทันสมัย และห้องพักกว่า 240 ห้องใน145 ไร่ ผลิตผู้นำรวม 4 รุ่น เฉลี่ยรุ่นละ 200-400 คน ซึ่งไม่ใช่เพียงสถานที่อบรมผู้นำในกลุ่มธุรกิจในเครือ แม้แต่องค์กรอื่นๆ ก็เข้ามาอบรมที่นี่

ดร.วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณรองผู้อำนวยการ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI) เล่าถึงการแปลงวิสัยทัศน์ในการสร้างสถาบันผู้นำ เพื่อบ่มเพาะ ผู้นำในนิยามของซีพี จะต้อง"เก่ง-ดี-มีพลัง"โจทย์อันท้าทาย CPLI ต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้พร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าว นำทัพธุรกิจแห่งอนาคตก้าวไปทั่วโลก

โดยหลักสูตรมีเบ้าหลอมการพัฒนาผู้นำที่ถอดสูตรมาจากองค์กรระดับโลกอย่าง GE - General Electricรวมถึงสถาบันการศึกษาระดับโลกเข้ามาช่วยร่างหลักสูตร จึงเป็นการพัฒนาระบบการเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติงาน (Action Learning Program) เพื่อให้ได้ทดลองนำไอเดียแนวคิดใหม่ๆ มาทดลองทำ โดยมีอาวุโสในเครือมาเป็นที่ปรึกษาชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ

"การพัฒนาผู้นำของที่นี่เป็นหลักสูตรเฉพาะตัวมาตรฐานสากล มุ่งเน้นให้บุคลากรมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่มิติแห่งอนาคต ผ่านหลักการง่ายๆ คือการลงมือทำงานจริง หรือวิธี Action Learning Program"

รองผู้อำนวยการสถาบันฯยังขยายความถึงกระบวนการAction Learning Programจะมีลักษณะของการให้ทีมผู้นำรุ่นใหม่ของเครือซีพีลงมือทำโครงการจริงๆ ให้มีอำนาจการตัดสินใจจริง โดยไม่จำเป็นต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตลอดเวลา แต่ใช้กระบวนการรายงานเป็นระยะ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่มากเกินไปและอาจแก้ไขไม่ทัน โดยที่ทุกโครงการสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้

หลักสูตร Action Learning Program จึงถือเป็นกุญแจสำเร็จแห่งการเรียนรู้การพัฒนาคนและสร้างผู้นำแห่งโลกธุรกิจอนาคต ที่จะต้องถูกบรรจุเข้าในหลักสูตรการพัฒนาผู้นำ โดยถูกออกแบบให้แตกต่างกันไปในแต่ละระดับผู้นำในเครือ

สำหรับหลักเกณฑ์วัดผลความเป็นผู้นำของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะใช้มาตรวัด 2 แกนหลัก คือ1. วัด DNA ความเป็นผู้นำ และ 2. วัดจากผลประกอบการทางธุรกิจ

โดยการวัด DNA"ความดี"ของผู้นำซีพีจะล้อตามคุณค่าหลัก (Core Values) ประกอบไปด้วย มีความเสียสละ,ให้เครดิตคนอื่นก่อน, มีความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นเป็นต้นซึ่งจะประเมินโดยผู้ร่วมงานทุกระดับทั้ง ลูกน้อง หัวหน้า อย่างครบถ้วนทั้ง 360 องศา

ส่วนการวัด"ความเก่ง"ผู้นำซีพีต้องมีความเป็นเถ้าแก่หรือความเป็นเจ้าของกิจการ สามารถเชื่อมโยงทรัพยากรต่างๆมาทำให้งานประสบความสำเร็จ อาทิ หากเชี่ยวชาญด้านใดก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่เชี่ยวชาญ ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วย แล้ววัดผลลัพธ์กันเป็นรายโปรเจค รวมถึงการวัดความเก่งตามค่านิยมองค์กร เช่น การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย การยอมรับและนำการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วย

การวัดภาวะความเป็นผู้นำอีกด้านดือ"ความมีพลัง"โดยดูจากการดึงดูดคนเข้ามาทำงานด้วย ซึ่งผู้นำจะมีพลังในการโน้มน้าวใจคน และกระตุ้นคนให้ฮึกเหิม ปลุกทีมให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆไปด้วยกันโดยไม่ย่อท้อ นี่คือ มาตรวัดภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership)

ส่วนมาตรวัดทางธุรกิจ มีแนวทางการประเมิน (Key Performance Indicator -KPI) ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Business Model ใหม่ๆ ผลกำไร-ขาดทุน หรือการพัฒนาในด้านต่างๆ ตลอดจนพิจารณาถึงความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจที่คิดมา

ปัจจุบัน CPLI กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาผู้นำในรุ่นที่ 4 หลังจบหลักสูตรไปแล้ว 3 รุ่น ซึ่งพบว่าทั้งหลักสูตร ทั้งผู้เรียน ล้วนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรที่ใช้ในแต่ละรุ่น จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ มีการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่จะทำให้ผู้นำรุ่นใหม่ไม่ต้องผิดซ้ำรอยเดิมอีก

"ความสำเร็จที่ชัดเจนคือ โมเดลธุรกิจของผู้นำรุ่นใหม่ในไทย มีผู้นำรุ่นใหม่จากประเทศจีนที่ผ่านหลักสูตร ได้นำไปขยายผลในประเทศจีน เกิดเป็นร้านอาหารรุ่นใหม่หลากหลายแบรนด์ กลายเป็นธุรกิจจริง ด้วยฝีมือน้องๆคนรุ่นใหม่ที่น่าภาคภูมิใจ"ดร.วรรณวิรัช กล่าวและว่า

ซีพี เริ่มต้นสร้างสถาบันผู้นำระดับโลก และสร้างหลักสูตรสั่งสมความรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อบ่มเพาะ DNA ความเป็นผู้นำที่ เก่ง-ดี-มีพลัง แก่บุคลากรในองค์กรให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ซึ่งโมเดลนี้จะไม่หยุดนิ่ง ส่งต่อความเป็นผู้นำไปยังคนรุ่นใหม่ ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอาณาจักรซีพีขนาดมหึมา ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0