โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“5รัฐวิสาหกิจ”ไม่มาตามนัด แก้4ปีไม่พ้นแผนฟื้นฟู

Money2Know

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 02.05 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
“5รัฐวิสาหกิจ”ไม่มาตามนัด แก้4ปีไม่พ้นแผนฟื้นฟู

ความพยายามฟื้นฟู หรือปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจมีมานานหลายยุคหลายสมัย แต่รัฐวิสาหกิจที่มีฐานะย่ำแย่ จนต้องทำแผนฟื้นฟู โดยปกติแล้ว จะเป็นกลุ่มบริการสาธารณะ แต่ปรากฏว่ามีรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ที่ไม่เคยมีปัญหาหนักมาก่อน มีอาการย่ำแย่ นั่นคือ ทีโอที กสท และ การบินไทย

ความพยายามฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ มีมาตั้งแต่ต้นรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้าบริหารประเทศ ในปลายปี 2557 ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อรื้อใหญ่บรรดารัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีผลประกอบการย่ำแย่

มีการ "ลิสต์" รัฐวิสาหกิจที่มีอาการหนักว่าทำท่าจะไปไม่รอด 7 แห่ง โดยให้บรรดารัฐวิสาหกิจทำแผนฟื้นฟู แต่ปรากฏว่าในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่าน มีรัฐวิสาหกิจเพียง 2 แห่งที่สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ นั่นคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

เป็นที่รู้กันว่าธนาคารทั้งสองแห่งเป็นแหล่ง"หาประโยชน์"จากบรรดานักการเมืองมานาน จนหนี้เสียพุ่งทะยาน ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มทุนและส่งมืออาชีพเข้าไปบริหาร จนสามารถฝ่าวิกฤติมาได้

แต่อีก 5 แห่งที่ทำท่าจะไปไม่รอด เพราะยังไม่สามารถทำแผนฟื้นฟู และ ยังไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพจนออกจากแผนฟื้นฟูได้ เพราะเมื่อมีการประชุมคนร.แต่ละครั้งในช่วงเกือบ 4 ปี ก็แทบไม่มีอะไรขยับ

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท)

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดศ.) ได้รายงานความก้าวหน้าในการควบรวม บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท  โดยการดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะติดเพียงเรื่องคดีความข้อพิพาทต่างๆ ที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไป โดยพนักงานทั้งหมดของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท จะโอนมาเป็นพนักงานของบริษัทใหม่

ทั้งนี้ บริษัทใหม่จะมีทั้งหมด 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) โครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ 3) บรอดแบนด์และโทรศัพท์พื้นฐาน 4) โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 5) การให้บริการด้าน Digital

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะทำงานเตรียมการรวมกิจการของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจของบริษัทใหม่ระหว่างปี 2562-2567 แล้ว สำหรับการจัดตั้งบริษัทใหม่จะสามารถจัดตั้งและเริ่มดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน นับจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.)

บกท. ได้นำเสนอแผนในการแก้ไขเพิ่มเติมที่จะช่วยให้มีผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย โดย คนร. ได้มอบหมายให้ บกท. เร่งจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวาง และสร้างความชัดเจนถึงการดำเนินการร่วมกับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งให้ บกท. ดำเนินการตามแผนงานที่ได้นำเสนออย่างเคร่งครัด

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

รฟท. ได้รายงานการดำเนินการตามแผนต่างๆ ทั้งในด้านการลงทุนต่างๆ การบริหารทรัพย์สิน และการจัดตั้งบริษัทลูกในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงและการบริหารทรัพย์สิน รวมทั้ง ปัจจุบัน รฟท. ได้นำส่งงบการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ คนร. ให้ รฟท. นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างทางคู่และทางสายใหม่ทั้งหมดให้ได้ภายในปีนี้ และให้มีการนำเชื้อเพลิง B20 มาใช้ด้วย

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ปัจจุบัน ขสมก. รับมอบรถโดยสาร NGV มาแล้ว จำนวน 300 คัน และคาดว่าจะรับมอบส่วนที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะสามารถจัดหารถครบ 3,000 คัน ได้ภายในปี 2565 และได้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถที่มีอยู่ในปัจจุบันครบถ้วนแล้ว

สำหรับการนำน้ำมัน B20 มาใช้ คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกคันในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ แต่ยังคงมีความล่าช้าในการติดตั้งระบบ E-Ticket

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก. ได้นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้กระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ปัญหาของ 5 รัฐวิสาหกิจใหญ่ของไทย มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไป ในขณะที่ในปีนี้อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่เมื่อดูจากขนาดของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ยังไม่รู้ว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ในรัฐบาลไหน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0