โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ไร่เลย์” ใช้นวัตกรรมควบคุมเรือเข้าออก รับนักท่องเที่ยววิถีใหม่

Manager Online

เผยแพร่ 14 ก.ค. 2563 เวลา 15.11 น. • MGR Online

“ไร่เลย์” หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ จ.กระบี่ เคยมีเรือนำนักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนมากถึงวัน 600 ลำ และเรือสามารถเทียบท่าที่ฝั่งใดก็ได้ แต่การท่องเที่ยววิถีใหม่จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก เพราะการควบคุมความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวจะเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการสร้างความปลอดภัยจากการระบาดโควิด-19

แอปพลิเคชันคิวคิว (QueQ) เป็นนวัตกรรมของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีไทยที่ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำร่องเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ โดยสนับสนุนการใช้งานแก่ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล

นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานบริหาร บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) อธิบายว่า แอปพลิเคชันคิวคิวคือแอปฯ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจองคิวร้านอาหารโดยไม่ต้องรอ และสามารถประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ อีก เช่น การสั่งอาหารกลับบ้าน การนัดหมายร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สปาหรือคลีนิก และการทำจุดรับของของซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสด รวมถึงการจัดการของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

นายรังสรรค์กล่าวว่า แอปพลิเคชันคิวคิวได้ช่วยแก้ปัญหาของชาติ โดยในจำนวนอุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง มีอุทยานแห่งชาติที่นำแอปพลิเคชันคิวคิวไปใช้เพื่อควบคุมความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวตามวิถีใหม่หลังคลายคล็อคดาวน์แล้ว 127 แห่ง ส่วนการนำมาใช้งานที่ จ.กระบี่ โดยเฉพาะในส่วนของไร่เลย์นั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆ

เนื่องจากไร่เลย์นั้นเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างภาคเอกชนและอุทยานแห่งชาติ มีหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยซีอีโอบริษัทคิวคิวได้ยกตัวอย่างการควบคุมจำนวนเรือเข้าออกไร่เลย์ ซึ่งเดิมนั้นมีพื้นที่จอดเรือหลายแห่ง แต่หลังวิกฤตโควิด-19 ได้จำกัดให้มีท่าจอดเรือเพียงแห่งเดียว และก่อนหน้านั้นมีจำนวนเรือเข้าพื้นที่มากถึง 600 ลำ หากไม่มีการบริหารจัดการจะเกิดความโกลาหล

“เปรียบเหมือนมีเครื่องบินหลายลำที่รอเข้าจอด ดังนั้น จึงต้องมีระบบจัดการเหมือนสนามบิน ซึ่งจะทำให้เป็นระเบียบ ลดความโกลาหล รวมถึงทำทุ่นไว้ด้านนอกเพื่อให้เรือเข้าคิวรอเข้าท่า แต่เอาจริงๆ ตรงหน้างาน การให้คนรับเอาเทคโนโลยีไปใช้งานนั้นยากกว่าเยอะ การจะทำให้คนใช้งานให้คล่องและใช้เยอะ เพื่อเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นยากกว่า” นายรังสรรค์กล่าว

นอกจากการควบคุมหน้าแน่นของเรือที่เข้าพื้นที่แล้ว แอปพลิเคชันคิวคิวยังช่วยนักท่องเที่ยวในการจองคิวเข้าพื้นที่และทำกิจกรรมอื่นๆ บนไร่เลย เช่น กิจกรรมปีนผา การเข้าชมทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งหรือลากูน (lagoon) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะปิดการจองในระบบเมื่อยอดจองเต็ม ส่วนนักท่องเที่ยวจะเข้าพื้นที่ได้เมื่อแสดงคิวเข้าพื้นที่แก่เจ้าหน้าที่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายรังสรรค์ยังเห็นความหวังว่าทางไร่เลย์นั้นมีชมรมที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมารวมตัวกัน จึงเป็นโอกาสให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดผล ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้เกิดความเชื่อมั่น และหากเทคโนโลยีช่วยควบคุมความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวได้จริงๆ ก็จะขยายงานไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้

“หวังว่าไม่ใช่แค่คิวคิวตัวเดียว หากเทคโนโลยีนี้ช่วยแก้ปัญหาได้จริง ก็จะเกิดการเปิดรับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ อีกด้วย ประเทศเราก็จะสามารถให้บริหารเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบแก่คนได้จริงๆ ไม่ต้องพึ่งการแก้ปัญหาจากเทคสตาร์ทอัพ (Tech Start Up) ของต่างชาติ” นายรังสรรค์กล่าว

ในส่วนของปัญหาเรื่องคนยังไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ นายรังสรรค์มองว่าเป็นเรื่องปกติ ตัวอย่างการใช้งานแอปพลิเคชันสั่งอาหารในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันคิวคิวที่มีการใช้งานมากขึ้น และได้เข้าไปช่วยอุทยานแห่งชาติแก้ปัญหาในการควบคุมความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เข้าไปการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วย

ทางด้าน นายสมบูรณ์ หว้าฝา ประธานชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล กล่าวถึงบทบาทของชมรมว่า เป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและกำกับดูแลการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความสะอาดโดยรวมของพื้นที่ รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง

สำหรับอ่าวไร่เลย์แหลมพระนางนั้น นายสมบูรณ์ระบุว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางธรรมชาติและอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน ทว่าเมื่อการท่องเที่ยวที่เติบโตและคับคั่งทำให้เกิดมลภาวะอย่างมากมาย จึงเกิดแนวคิดจัดระเบียบพื้นที่ใหม่ภายใต้โครงการ “ไร่เลย์โมเดล” ซึ่งจัดระเบียบและพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์แหลมพระนางจากปัญหาต่างๆ ที่พบ

ตัวอย่างปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาการเข้าออกเรือบริเวณหน้าหาดอ่าวไร่เลย์ฝั่งทิศตะวันตกและหาดพระนาง ปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเนื่องจากเรือเข้าออกตลอดวัน ส่งผลให้การพักผ่อน การทำกิจกรรทางน้ำ การว่ายน้ำ ดำน้ำ พายเรือคายัคของนักท่องเที่ยวไม่ปลอดภัย ปัญหาขยะที่มากับเรือนักท่องเที่ยว ปัญหาการใช้พื้นที่ชายหาดเกินความจำเป็น มีเรือนักท่องเที่ยวทำกิจกรรมยามวิกาลแล้วส่งเสียงดังโดยไม่เคารพพื้นที่

ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณฝั่งทิศตะวันตกและหาดพระนางของอ่าวไร่เลย์แหลมพระนางนั้น เป็นหาดที่สวยที่สุดติดอันดับโลก ซึ่งนายสมบูรณ์คาดหวังว่าโครงการไร่เลย์โมเดลจะเป็นตัวอย่างในการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติของประเทศไทย โดยนอกจากการจัดระเบียบเรือทั้ง 3 หาด คือ หาดอ่าวไร่เลย์ทิศตะวันตก หาดอ่าวไร่เลย์ทิศตะวันออก และหาดพระนางแล้ว ยังมีมาตรการห้ามนำขยะหรือขวดน้ำเข้าพื้นที่เพื่อลดปัญหาขยะ ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วยการติดกล้อง CCTV ในเส้นทางสาธารณะ และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกต่อธรรมชาติแก่นักท่องเที่ยวและเยาวชน

สำหรับ บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของคนไทยที่ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ภายใต้โครงการบ่งเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) และได้รับทุนสนับสนุนในโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (Startup Voucher) ของ สวทช. และโครงการ BIC ยังมีบทบาทในการสนับสนุนการจับคู่นวัตกรรม (Innovation Matching) ระหว่างเจ้างของนวัตกรรมและผู้ใช้งานจริง ตัวอย่างเช่น บริษัทคิวคิวและชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์ฯ

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0