โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ไม่ใช่ความผิดของฉัน ไม่ใช่ที่ที่ฉันอยู่ และไม่ใช่เพราะการแต่งตัว” เพลงประท้วงวัฒนธรรมข่มขืนของชิลี กลายเป็นไวรัลทั่วโลก

The MATTER

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 00.21 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 12.00 น. • Brief

แม้ว่ากระแสของสตรีนิยม หรือ #Metoo จะทำให้สิทธิของผู้หญิง และประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศถูกพูดถึง และเป็นที่ตระหนักมากขึ้นในสังคมโลก แต่ข่าวการข่มขืน และวัฒนธรรมการลวนลามเพศหญิงก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นเป็นประจำ ซึ่งก็มีกลุ่มชุมนุมในชิลี ที่ได้แต่งเพลงประท้วงวัฒนธรรมการข่มขืน ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นไวรัลทั่วโลก

‘Un Violador en Tu Camino’ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘A Rapist in Your Path’ เพลงประท้วงของชิลี เกี่ยวกับวัฒนธรรมการข่มขืน และการทำให้เหยื่ออับอาย ซึ่งทั้งเพลงนี้ วิดีโอ และท่าเต้นประกอบเพลง กลายเป็นไวรัล และถูกใช้กระจายไปทั่วละตินอเมริกา และโลก โดยมีการชุมนุม และแสดงเพลงนี้ครั้งแรกในชิลี เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน จากการจลาจลทั่วประเทศต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคม ซึ่งความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ถูกนำมาเป็นประเด็นพูดถึงด้วยเช่นกัน

เนื้อเพลงภาษาสเปนนี้ ได้พูดถึงวิธีการที่สถาบันต่างๆ ทั้งตำรวจ โครงสร้างตุลาการ และอำนาจทางการเมือง ส่งเสริมการละเมิดสิทธิสตรีอย่างเป็นระบบ ด้วยท่อนที่ร้องว่า “ผู้ข่มขืนคือคุณ ตำรวจ ผู้พิพากษา รัฐ ประธานาธิบดี” และมีท่อนไฮไลต์ที่พูดถึงการที่สังคมมักกล่าวโทษผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ว่า “ไม่ใช่ความผิดของฉัน หรือว่าฉันอยู่ที่ไหน และไม่ใช่ที่การแต่งตัวของฉัน ผู้ข่มขืนคือคุณ” โดยกลุ่มผู้หญิง มักจะมัดผ้าปิดคาดตา และเต้นท่า ที่ชี้ไปข้างหน้า ในท่อนผู้ข่มขืนคือคุณ

เพลงนี้เขียนขึ้นโดย Lastesis ที่เป็นกลุ่มโรงละครสตรีที่ตั้งอยู่ในเมือง Valparaíso ซึ่งให้เครดิตผู้ประท้วงหญิงในชิลีที่ช่วยให้เพลงนี้กลายเป็นไวรัลทั่วโลก ซึ่งพอลล่า โคเมต้า (Paula Cometa) พูดในนามของกลุ่มว่า “ไม่เคยตั้งใจจะให้มันเป็นเพลงประท้วง – แต่กลุ่มผู้หญิงที่เดินขบวนเปลี่ยนมันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น”

เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ ริต้า รอล่า เซเกโต (Rita Laura Segato) นักสตรีนิยม และศาสตราจารย์ชาวอาร์เจนตินา สร้างแฟลชม็อบ ที่แสดงว่า การข่มขืนไม่เพียงแต่เป็นอาชญากรรมต่อผู้หญิงแต่ละคน ทั้งไม่ใช่ปัญหาศีลธรรม แต่เป็นปัญหาทางการเมือง และปัญหาสังคมที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งเพลงนี้ก็ถูกนำไปเป็นการเต้นแฟลชม็อบประท้วงทั้งในเม็กซิโก, โคลัมเบีย, ฝรั่งเศส, สเปนและสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

ชิลี ประเทศที่เริ่มต้นของเพลงนี้ เป็นหนึ่งในประเทศที่ปัญหา และวัฒนธรรมการข่มขืนฝังรากลึกในสังคม จากสถิติที่รวบรวมโดยเครือข่ายความรุนแรงต่อผู้หญิงในชิลีพบว่า มีรายงานการถูกทารุณกรรมทางเพศ 42 คดีต่อวัน (ประมาณ 2 คดี ต่อชั่วโมง) และในปี 2018 มีเพียง 25.7% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ไปถึงการดำเนินคดีตัดสินจากศาลด้วย

ขณะที่ในไทย สถิติความรุนแรงทางเพศเองก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจากการสำรวจในปี 2018 พบว่า เหยื่อที่อายุน้อยที่สุกที่ถูกข่มขืนคือ 5 ขวบถูกข่มขืน และเหยื่อกว่า 60% คือกลุ่มเด็กและเยาวชนวัย 5-20 ปีด้วย

.

อ้างอิงจาก

https://www.theguardian.com/world/2019/dec/06/chilean-anti-rape-anthem-becomes-international-feminist-phenomenon

https://qz.com/1758765/chiles-viral-feminist-flash-mob-is-spreading-around-the-world/

https://chiletoday.cl/site/a-rapist-on-your-way-a-feminist-voice-in-the-chilean-crisis/

http://www.voicetv.co.th/read/rktQe3Bj7

พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน

#Brief #TheMATTER

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0