โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“ไฟป่าแอมะซอน” บั่นทอน“นิเวศโลก”

สยามรัฐ

อัพเดต 22 ส.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 22 ส.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
“ไฟป่าแอมะซอน” บั่นทอน“นิเวศโลก”

ยังคุมไม่หยุด ยังหยุดไม่อยู่ สำหรับ “ไฟป่า” ที่กำลังพิโรธโกรธา “ผืนป่าแอมะซอน” พนาไพรในแดนแซมบา ประเทศบราซิล ณ เวลานี้

โดยเมื่อกล่าวตามการเปิดเผยของ “สถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล” หรือ “ไอเอ็นพีอี” ซึ่งอ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียม ระบุว่า ปรากฏการณ์ไฟป่าที่แอมะซอนปีนี้นั้นหนักเหลือ ยิ่งกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า เป็นประวัติการณ์ได้เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ทาง “ไอเอ็นพีอี” ซึ่งติดตามสถานการณ์ข้างต้น เปิดเผยว่า ไฟป่าที่แอมะซอนเกิดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. ที่เป็นฤดูหนาวในพื้นที่ ซึ่งมีสภาพอากาศแห้ง ก็ส่งผลให้ “แอมะซอน” ที่เป็นป่าแบบป่าดิบชื้น ต้องมีสภาพอากาศแห้งไปถนัดใจ ทำให้ง่ายต่อการเกิดไฟป่า โดยเมื่อนับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึง ส.ค. นี้ ก็ต้องบอกว่า ปริมาณเกิดเหตุไฟป่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วคิดเป็นถึงร้อยละ 83 ด้วยจำนวนที่เกิดไฟป่ามากถึง 72,000 จุด หรือครั้ง เอาเฉพาะเมื่อช่วงในรอบ 7 วัน ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คือ ระหว่างวันที่ 15 – 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็มีจำนวนถึง 9,500 จุด หรือครั้ง เข้าไปแล้ว

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ไฟป่าในผืนป่าแอมะซอน ประเทศบราซิล
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ไฟป่าในผืนป่าแอมะซอน ประเทศบราซิล

อย่างไรก็ดี ทาง “ไอเอ็นพีอี” ก็ไม่ได้ชี้นิ้วปักโทษไปที่ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” ว่า เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าในครั้งนี้สักเท่าไหร่ แต่ระบุในทำนองว่า น่าจะเป็นฝีมือของมนุษย์เราเองเสียมากกว่า

พร้อมอ้างเหตุผลจากปริมาณน้ำฝน หยาดพิรุณที่ตกลงมาสู่ผืนโลกในปีนี้ว่า น้อยกว่าปีที่แล้วไม่มากนัก จนไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลัก

ทว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไฟป่าครั้งประวัติการณ์ในผืนป่าแอมะซอน ก็น่าจะมา “เปลวไฟ” ที่มนุษย์เราก่อประกายจุดเผา นั่นเอง

ภาพมุมสูงแสดงการตัดไม้ในผืนแอมะซอนของบราซิล
ภาพมุมสูงแสดงการตัดไม้ในผืนแอมะซอนของบราซิล

จุดไฟเผาป่าเพื่ออะไร ก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เพื่อทำผืนป่าที่ได้ชื่อว่า “ปอดของโลก” ให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางเกษตรอย่างน่าสุดสะพรึง ซึ่งปรากฏว่า ควันไฟป่าจากน้ำมือมนุษย์ที่ว่า ก็ลอยตามลมมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศไปไกลหลายพันกิโลเมตร ยกตัวอย่างเช่น ที่นครเซาเปาโล อยู่ห่างจากจุดไฟป่าถึง 2,700 กิโลมตร ประชาชนคนที่นั่น ก็ยังหายใจด้วยความยากลำบาก เพราะสูดควันไฟป่าเข้าไปในปอดด้วย

โดยทาง “ไอเอ็นพีอี” ได้ยกตัวเลขอ้างอิงแบบสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกว่า การตัดไม้ทำลายป่าของผืนป่าดิบชื้นแอมะซอน เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย และมีนัยยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ปืนป่าดิบชื้อแอมะซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 88 เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คือ 2561

พลันที่ ทาง “ไอเอ็นพีอี” เผยแพร่รายงานข้างต้นออกไป ก็ปรากฏว่า “นายริคาร์โด กัลเวา” มีอันต้อง “ตกงาน” ไปในทันที่ เพราะถูก “ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ผู้นำบราซิล” สั่งปลดเขาออกจากตำแหน่ง “ผอ.สถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล” โดยทันที โทษฐานที่สถาบันที่เขาบริหารกล่าวหานายโบลโซนาโรอยู่กลายๆ จากการที่ผืนป่าถูกทำลายมากขึ้นในยุคสมัยที่เขา “ขึ้นครองเมือง” คือ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแดนแซมบา นั่นเอง

ภาพที่ถูกระบุว่า มีคนงานกำลังเผาป่าในแอมะซอนของบราซิล
ภาพที่ถูกระบุว่า มีคนงานกำลังเผาป่าในแอมะซอนของบราซิล

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ทางอดีต ผอ.ไอเอ็นพีอี จะมีแนวร่วม สวนทางกับประธานาธิบดีโบลโซนาโร ที่ถูกบรรดานักนิเวศวิทยา หรือพวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนเหล่านานาชาติที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก พากันส่งเสียงก่นประณามกันแบบถล่มยับ เพราะตัวเลขที่ทางไอเอ็นพีอี เปิดเผยมานั้น สอดรับกับ “นโยบายแปลงผืนป่าเป็นพื้นที่ทางการเกษตร” ของรัฐบาลประธานาธิบดีโบลโซนาโร ซึ่งผืนป่าดิบชื้นแอมะซอน กำลังทุกข์ระทม จากการถูกทำลายลงอย่างหนัก ชนิดทุกเมื่อเชื่อวันทันทีที่ประธานาธิบดีผู้นี้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง

คนงานใช้รถไถปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของผืนป่าแอมะซอนให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร
คนงานใช้รถไถปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของผืนป่าแอมะซอนให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร

โดยล่าสุด ก็เป็นรายของ “นอร์เวย์” ที่ประกาศระงับเงินบริจาคแก่บราซิลจำนวน 33.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการสมทบทุนช่วยอนุรักษ์ “แอมะซอน” ผืนป่าที่ได้ชื่อว่า “ปอดของโลก” ท่ามกลางความคาดหมายจะมีนานาชาติรายอื่นๆ ร่วมระงับในทำนองเดียวกับนอร์เวย์ตามมา

ภาพตกแต่งแสดงการตำหนิประณามในนโยบายของประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ผู้นำบราซิล กับการแปลงผืนป่าแอมะซอนให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร
ภาพตกแต่งแสดงการตำหนิประณามในนโยบายของประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ผู้นำบราซิล กับการแปลงผืนป่าแอมะซอนให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร

ใช่แต่เท่านั้น บรรรดาประชาชาวโซเชียลมีเดีย ก็ร่วมกันติดแฮชแท็ก ภายใต้ชื่อว่า “#PrayforAmazonia” สวดมนต์ให้ผืนป่าแดนแซมบา รอดพ้นจากหายนะไฟป่าในครั้งนี้ด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0