โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“แม่ชี” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งว่า "ไม่มีคนไหนเป็นหญิงบริสุทธิ์"!?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ม.ค. 2565 เวลา 08.18 น. • เผยแพร่ 30 เม.ย. 2564 เวลา 12.48 น.
แม่ชี ชี
แม่ชีร่วมฟังการปราศรัยทางการเมืองเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2010 (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

เรื่องราวของคนธรรมดาๆ มักไม่ได้มีการจดบันทึกในเอกสารโบราณของไทย เรื่องราวของคนชายขอบอย่าง “แม่ชี” สตรีที่ปฏิบัติตนเยี่ยงนักบวชแต่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักบวชในศาสนาพุทธนิกายเถรวาทก็เช่นกัน แต่ในสมัยอยุธยายังมีชาวต่างชาติช่างสังเกตได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ชีเอาไว้ โดยให้รายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ

ปีเตอร์ สกิลลิง (Peter Skilling) ซึ่งทำการศึกษาเรื่องราวของแม่ชีบอกว่า ชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางมาถึงอยุธยา แต่น่าเสียดายที่ถึงทุกวันนี้ยังไม่มี (หรืออาจจะยังไม่เจอ) หลักฐานของพวกเขาที่เขียนถึงแม่ชีเอาไว้เลย

หลักฐานที่เก่าที่สุดเป็นของพวกดัตช์ คนแรกก็คือโยส เซาเต็น (Joost Schouten) ผู้จัดการบริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ซึ่งเดินทางมายังแผ่นดินสยามครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม เมื่อปี ค.ศ. 1624-1629 (พ.ศ. 2167-2172) และอีกครั้งในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1633-1636 (พ.ศ. 2176-2179)

เซาเต็น ได้กล่าวถึงแม่ชีเอาไว้ว่า “พวกชีเหล่านี้จะอยู่ในวัดตลอดเวลา และร่วมในพิธีต่างๆ ในการบูชาพระเจ้า ทั้งนี้เพื่อจะมีส่วนร่วมในการกุศลนั้นการที่พวกชีปฏิบัติตนเช่นนี้ ก็กระทำด้วยใจสมัครหามีกฎเกณฑ์ข้อใดมาบังคับให้กระทำไม่” (สำนวนแปลของ ขจร สุขพานิช)

ส่วนเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือที่คนไทยเรียกว่า“วันวลิต” พ่อค้าดัตช์ที่เข้ามาดูแลกิจการในอยุธยาต่อจากเซาเต็น ก็เล่าถึงแม่ชีไว้ไม่ต่างกัน เพียงแต่มีรายละเอียดขยายความเพิ่มขึ้นมาอีกนิดว่า “ไม่พบหญิงสาวบริสุทธิ์ หรือหญิงมีครรภ์” มาเป็นแม่ชี

ในยุคถัดมาชาวต่างชาติที่เข้ามามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอยุธยามากก็คือพวกฝรั่งเศส โดย นิโกลาส์ แชร์แวส ซึ่งเดินทางมายังแผ่นดินสยามในรัชสมัยของพระนารายณ์ เป็นอีกคนที่ให้ความสนใจการใช้ชีวิตของแม่ชีไทย โดยนำไปเปรียบเทียบกับแม่ชีคาทอลิกได้อย่างน่าสนใจว่า

“สตรีสยามต่างหลงใหลในเสรีภาพแห่งตนมากเกินกว่าที่ยอมขังตัวเองเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับวัดกับวาเหมือนอย่างแม่ชีของเราที่จะต้องสละเวลาให้ตลอดชั่วชีวิต พวกนาง (แม่ชีไทย) จะหันหน้าเข้าสู่พระศาสนาก็ต่อเมื่อเข้าถึงช่วงอายุที่ไม่เหมาะกับโลกภายนอกอีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากพวกนางต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับพระภิกษุอยู่บ่อยครั้ง พวกนางจึงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นชีจนกว่าจะอายุได้ห้าสิบปี เพื่อเลี่ยงปัญหาฉาวโฉ่ทั้งปวง”

ส่วนบทบาทของแม่ชีโดยหลักนอกเหนือไปจากการสวดมนต์ถือศีลแล้วก็คือการปรนนิบัติพระภิกษุ ตามแต่ภิกษุจะใช้สอยตั้งแต่การหุงหาอาหารไปจนถึงการจัดหาปัจจัยที่จำเป็นประการอื่นมาให้แก่พระสงฆ์ด้วยการออกตระเวณรับบริจาคจากญาติโยมทั้งหลาย

จากหลักฐานที่ปรากฏ แม่ชีจึงมีมานานอย่างน้อยๆ ก็เกือบสี่ร้อยปี และสถานะของแม่ชีในอดีตจากคำบอกเล่าของฝรั่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ที่น่าสงสัยก็คือคำบอกเล่าของแชร์แวส เรื่องข้อห้ามไม่ให้ “หญิงสาว” บวช แถมระบุอายุชัดเจนว่าจะบวชได้ก็ต่อเมื่ออายุถึง 50 ปี เพราะกลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่เหมาะไม่ควรระหว่างกันขึ้น

ซึ่งต่างไปจากปัจจุบันที่แม้แม่ชีส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสูงอายุ แต่หญิงอายุน้อยก็มิได้ถูกห้ามบวชแต่ประการใด จึงน่าคิดว่าเรื่องที่แชร์แวสอ้างนั้นจริงหรือไม่ มีหลักฐานอื่นพอที่จะยืนยันข้อเท็จจริงเดียวกันได้หรือเปล่า?

อ้างอิง :

Skilling, Peter. “Female Renunciants (nang chi) in Siam. According to Early Travellers’ Accounts”. The Journal of The Siam Society 83 Parts 1&2 (1995):55-61. Print.

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0