โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“แผนการเงิน” ที่ดี...ต้องนำสู่ ‘การปฏิบัติ’ ให้ได้

Wealthy Thai

อัพเดต 04 ม.ค. 2563 เวลา 20.04 น. • เผยแพร่ 04 ม.ค. 2563 เวลา 20.05 น. • wealthythai
“แผนการเงิน” ที่ดี...ต้องนำสู่ ‘การปฏิบัติ’ ให้ได้

“การวางแผนทางการเงิน” ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกคนที่อยากมีทั้งความมั่นคงในวันนี้ และความมั่งคั่งในอนาคต อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับขั้นตอนในการวางแผนทางการเงินว่า ต้องทำอย่างไรกันบ้าง ในที่นี้จึงจะขออธิบายให้ทราบอย่างคร่าวๆ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในทางปฏิบัติกันได้อย่างถูกต้องครับ โดยเริ่มต้นจาก

 

  • ศึกษาหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเงินการลงทุนให้เข้าใจเสียก่อน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ อย่างน้อยควรที่จะมีความรู้ในสิ่งที่ตนกำลังจะลงมือวางแผนนั่นเองครับ ยกตัวอย่างเช่น รู้ว่าจะหาเงินได้อย่างไร รายจ่ายมีกี่ประเภท อันไหนที่จำเป็น อันไหนไม่จำเป็น ต้องมีเงินออมสำรองเผื่อฉุกเฉินในสัดส่วนเท่าใด เป็นต้น

*        *

นอกจากนี้ต้องสามารถแยกแยะได้ว่า ‘สินทรัพย์’ ที่ตนเองมีอยู่นั้นแตกต่างจาก ‘หนี้สิน’ ซึ่งเป็นพันธะผูกพันที่ตนเองก่อขึ้นอย่างไร เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง ‘การออมเงิน’ และ ‘การลงทุน’ ตลอดจนศึกษาทางเลือกในการลงทุนแต่ละประเภทว่า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง และเหมาะสมกับตนเองหรือไม่

        

“แน่นอนว่า หากเรารู้ในสิ่งที่กำลังจะลงมือทำเป็นอย่างดี ก็ย่อมจะช่วยลดผลกระทบทางลบที่เกิดจากความไม่แน่นอนในการวางแผนการเงินลงได้ครับ”

 

 

  • กำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้บรรลุผลสำเร็จไว้ล่วงหน้า โดยเป้าหมายทางการเงินของคนแต่ละคนก็ย่อมที่จะ‘แตกต่างกันไป’ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานชีวิต ช่วงอายุ ความต้องการ ทัศนคติ และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวคนๆ นั้น โดยคนแต่ละคนอาจมีเป้าหมายที่หลากหลาย และมีเป้าหมายที่มากกว่าหนึ่งเป้าหมายก็เป็นได้ นอกจากนี้ คนแต่ละคนก็ยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายแต่ละเป้าหมายแตกต่างกัน

        

 

“ดังนั้น จึงควรพิจารณาถึงลำดับความสำคัญก่อนหลังของเป้าหมายที่ได้กำหนดขึ้นนั้นด้วย เพื่อที่จะได้วางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับความสามารถทางการเงิน และความจำเป็นในแต่ละช่วงชีวิตที่แต่ละคนต้องการนั่นเอง”

 

 

  • ทำการประเมินสถานะทางการเงินของตนเอง โดยจัดทำ ‘งบดุลส่วนบุคคล’ เพื่อพิจารณาว่า ตนเองมีฐานะการเงินมั่นคงเพียงใด มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่ และจัดทำ ‘งบรายได้รายจ่ายส่วนบุคคล’ เพื่อจะได้ทราบถึงความสามารถในการหาได้ พฤติกรรมการออม ตลอดจนอุปนิสัยการใช้จ่ายของตนเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

        

“นอกจากนี้ ควรพิจารณาเพิ่มเติมว่า ตนเองมีข้อจำกัดในเรื่องใดบ้าง สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยในระดับใด ต้องการได้รับผลตอบแทนในรูปแบบใด และมีความต้องการสภาพคล่องในอนาคตมากน้อยเพียงใด”

 

  • พัฒนาจัดทำ ‘แผนการเงินส่วนบุคคล’ ขึ้นโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ข้างต้น แน่นอนว่า แผนการเงินที่จัดทำขึ้นนี้ควรบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน และต้องคลอบคลุมทั้งในเรื่องการอุปโภคบริโภค การออมเงิน การลงทุน การประกันความเสี่ยง การวางแผนภาษี การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ และการถ่ายโอนมรดก อีกทั้งยังต้องสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าได้ด้วยครับ

  • ปฏิบัติตามแผนการเงินที่ได้จัดทำขึ้น อย่ารีรอ หรือผัดวันประกันพรุ่ง ควรที่จะเริ่มต้นลงมือทำในทันที เพื่อที่จะได้นำมาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติจริงนั้นมาใช้เป็น Feedback สำหรับเปรียบเทียบวิเคราะห์หาเหตุผล โดยเฉพาะในกรณีที่ผลลัพธ์นั้นไม่ได้เป็นไปตามแผนการเงินที่ได้กำหนดเอาไว้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดในการวางแผนทางการเงินครับ

ทั้งนี้ก็เพราะ ไม่ว่าแผนการเงินที่จัดทำขึ้นจะดีเลิศประเสริฐศรีปานใดก็ตาม หากไม่มีการนำไปปฏิบัติจริงก็ย่อมไม่มีความหมายแต่อย่างใด คงเป็นได้แค่เพียงแผนที่ถูกวางไว้เฉยๆ เท่านั้น”

 

  • หมั่นสำรวจ และทบทวนแผนการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการวางแผนทางการเงินเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง (Continuous Process) หลายๆ สิ่งในชีวิตของคนเราไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย ทัศนคติ ช่วงอายุ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบๆ ตัวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงควรต้องมีการปรับปรุงแผนการเงินให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นๆ ด้วยครับ

*   *

ทั้งนี้หากทุกคนเริ่มต้น ‘วางแผนทางการเงิน’ และ ‘ลงมือปฎิบัติ’ กันอย่างจริงจังตั้งแต่ในวันนี้โดยไม่ชักช้า ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง เชื่อแน่ว่า หนทางที่จะนำไปสู่ ‘ความมั่นคง’ และ ‘ความมั่งคั่ง’ ตามที่ได้ปรารถนาไว้ก็คงจะไม่ไกลเกินเอื้อมเป็นแน่แท้!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0