โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“แบรนด์” สำคัญแค่ไหน?

ลงทุนแมน

อัพเดต 17 ม.ค. 2562 เวลา 12.09 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

“แบรนด์” สำคัญแค่ไหน? / โดย ลงทุนแมน

เคยสงสัยไหม?
น้ำเปล่า ทำไมเพียงแค่ติดโลโก้ที่ต่างกันถึงมีราคาไม่เท่ากัน?
เสื้อยืด ทำไมบางตัวขายได้เพียงหลักร้อย แต่บางตัวขายได้ถึงหลักหมื่น?

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากยอมจ่ายเงินแพงขึ้น?
หลายคนคงตอบว่าก็เพราะ “แบรนด์”

แบรนด์ เปรียบเหมือนการใส่เรื่องราวลงไปให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้าที่ดูเหมือนๆ กันมีความพิเศษและโดดเด่นขึ้นมา

ดังนั้นแม้ว่าแบรนด์จะดูเหมือนสิ่งที่ไม่มีตัวตนและจับต้องไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่มีมูลค่า

แล้วแบรนด์ไหนมีมูลค่ามากที่สุดในโลกนี้?

แบรนด์ที่ถูกประเมินจาก Forbes ว่ามีมูลค่ามากสุดในโลกเมื่อปี 2018 คือ Apple โดยคิดเป็นมูลค่ามากถึง 5.8 ล้านล้านบาท

หากเปรียบเทียบกับบริษัทที่ใหญ่สุดในประเทศไทยอย่าง ปตท. แบรนด์ Apple ถือว่ามีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของบริษัท ปตท. ทั้งบริษัทถึง 4 เท่า

เรียกได้ว่าแม้ราคาสมาร์ตโฟนของ Apple จะสูงกว่าแบรนด์อื่นในตลาด แต่ก็ยังสามารถครองอันดับต้นๆ ได้อยู่

กรณีตัวอย่างของธุรกิจที่มีการลงทุนในแบรนด์อย่างจริงจังก็คือ Coca-Cola และ Pepsi

ปัจจุบันแบรนด์ Coca-Cola มีมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนแบรนด์ Pepsi มีมูลค่าเกือบ 6 แสนล้านบาท

โดยส่วนแบ่งการตลาดของทั้ง 2 แบรนด์ในตลาดน้ำอัดลมกลิ่นโคลาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Coca-Cola มีสัดส่วน 17.8%
Pepsi มีสัดส่วน 8.4%

จากตัวเลขนี้เราอาจตีความได้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบรสชาติของโค้กมากกว่าเป๊ปซี่

แต่ในปี 2011 มีการทดลองโดยให้คนมาชิมน้ำโคลาของทั้ง 2 แบรนด์ โดยที่ไม่บอกว่าแก้วไหนคือโค้กหรือเป๊ปซี่ ซึ่งผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ให้คำตอบว่าเป๊ปซี่อร่อยกว่า

ถ้าเป๊ปซี่อร่อยกว่าทำไมยอดขายโค้กจึงสูงกว่า?

เรื่องนี้อาจสรุปได้ว่าคนเราอาจจะคิดว่าเราเลือกซื้อสินค้าจากคุณภาพ แต่ความจริงแล้วเราเลือกซื้อโดยอ้างอิงจากเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านแบรนด์มากกว่า

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนอาจบอกว่าแบรนด์สำคัญที่สุดในโลกธุรกิจ

แต่ในบางครั้งแบรนด์ก็อาจไม่สำคัญ.. ถ้ามีปัจจัยอื่นมาทดแทนได้..

เราลองมาดูตัวอย่างกรณีของ Pizza Hut และ The Pizza Company

สำหรับประเทศไทยแบรนด์ที่สามารถครองตลาดพิซซ่าได้เป็นอันดับ 1 ในตอนนี้ก็คือ The Pizza Company โดยครองสัดส่วนประมาณ 70% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ส่วนอันดับ 2 คือ Pizza Hut ที่ได้ส่วนแบ่งตลาดไปประมาณ 20%

เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หากมองในแง่ของแบรนด์ Pizza Hut ถือเป็นแบรนด์ระดับโลก ต่างจาก The Pizza Company ที่เกิดขึ้นมาเพียง 18 ปี

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนบริษัทที่นำ Pizza Hut เข้ามาในประเทศไทยก็คือบริษัทเครือ Minor โดยเริ่มเปิดร้าน Pizza Hut สาขาแรกในปี พ.ศ. 2524

ในขณะนั้น Pizza Hut ได้กระแสการตอบรับดีมาก ทำให้สามารถขยายสาขาอย่างรวดเร็ว

จนกระทั่งในปี 2544 ทางบริษัทแม่ของ Pizza Hut ต้องการจะมาเปิดสาขาในประเทศไทยโดยตรง โดยไม่ต่อสัญญาแฟรนไชส์กับทาง Minor

เหตุการณ์นี้ทำให้ Minor ตัดสินใจปลดป้าย Pizza Hut ที่มีทั้งหมดเกือบ 100 สาขา และเปลี่ยนเป็นร้าน The Pizza Company

ด้วยรสชาติที่ถูกปรับปรุงให้ถูกปากคนไทยและนโยบายการตลาดต่างๆ ทำให้ปัจจุบันแบรนด์ไทยอย่าง The Pizza Company เอาชนะแบรนด์ระดับโลก Pizza Hut ไปอย่างขาดลอย

หลังจากอ่านเรื่องนี้จบ
อาจจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ

การมีแบรนด์ที่ดีก็อาจเป็นตัวช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า

แต่การจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีหลายองค์ประกอบ ทั้งคุณภาพสินค้า ความคุ้มค่าของราคา ช่องทางการจำหน่าย และ การตลาด

เพราะถ้าขาดองค์ประกอบเหล่านั้นไป จากแบรนด์ที่ดีในอดีต ก็อาจจะกลายเป็นแบรนด์ที่ถูกลืมในปัจจุบัน อย่างเช่น NOKIA

ปิดท้ายด้วยคำถามที่น่าคิด..

ถ้าวันหนึ่ง 7-11 ต้องการมาทำธุรกิจในประเทศไทยโดยตรงโดยไม่ผ่าน CP เหมือนกรณี Pizza Hut

ถึงตอนนั้น 7-11 ของเมืองนอก หรือ ร้านสะดวกซื้อ CP ภายใต้แบรนด์ใหม่ จะขายดีกว่ากัน?
———————-
แล้วแบรนด์ของคนไทยที่ดังในต่างประเทศ มีอะไรบ้าง? ติดตามได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5ba8bc33da311003d07a3f1a

ติดตามเรื่องราวบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
———————-

References
-https://www.forbes.com/powerful-brands/list/#tab:rank_header:position
-https://money.cnn.com/2018/02/20/news/companies/cola-wars-coke-pepsi/index.html
-https://www.psychologytoday.com/intl/blog/subliminal/201205/why-people-choose-coke-over-pepsi
-http://www.thaismescenter.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0