โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“เอ-ไทม์” ต่อยอดคอนเทนท์ ยึดทุกแพลตฟอร์มปั๊มรายได้

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 13.30 น.

โดยผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงวิทยุมานานร่วม 3 ทศวรรษ ทั้งสมโรจน์วสุพงศ์โสธรกรรมการผู้จัดการ,สุธาสีสุขพรสินชัยรองกรรมการผู้อำนวยการด้านการตลาด และศิริกาญจน์วินัยพานิชรองกรรมการผู้อำนวยการด้านการผลิต บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) บริหาร 3 คลื่นวิทยุดังทั้ง กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม , อีเอฟเอ็ม 94 และชิล ออกมาผนึกกำลังการันตีว่าธุรกิจ"วิทยุไม่มีวันตาย"โดยยกเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคยังคงฟังเพลงผ่านวิทยุเต็มไปด้วยเสน่ห์ ได้แก่"เพลง"และตามติด"ดีเจ"ในดวงใจ

"ถ้าคนยังฟังเพลง ยังไงก็ยังฟังวิทยุ และแม้ว่าสตรีมมิ่งหรือการฟังเพลงผ่านออนไลน์ แต่บางครั้งฟังแค่เพลย์ลิสต์อย่างเดียว ก็เหงา ไม่มีคนคุยด้วย การมีดีเจ ถือว่าเป็นเพื่อนคุยกับคนฟัง รวมทั้งวิทยุมีการำเสนอข่าวคราวใหม่ๆ อัพเดทเร็วทุกต้นชั่วโมง"สมโรจน์ ย้ำพฤติกรรมการฟังวิทยุของคนไทย

ขณะเดียวกันวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ จากเดิมผ่านเครื่องรับ ได้เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปยังอุปกรณ์ใหม่ๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ และสื่อออนไลน์ โดยการรับฟังวิทยุเฉลี่ยอยู่ที่ 52 นาทีต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 48 นาทีต่อคนต่อวัน

สถานการณ์ตลาดเปลี่ยน เอ-ไทม์ ต้องปรับตัว เพื่อหาทางสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางจากนี้ไป คือการลุยกลยุทธ์ 360 Media Solutions หรือองศาที่เป็นมากกว่าวิทยุด้วยการขยายธุรกิจสู่ 6 เสาหลัก ประกอบด้วยวิทยุ, โชว์บิส และคอนเสิร์ตและอีเวนท์, เว็บไซต์ ออนไลน์, แอพลิเคชั่น, โซเชียลมีเดีย และธุรกิจใหม่ (New Business)เช่น ผู้พัฒนาคอนเทนท์หรือคอนเทนท์ ครีเอเตอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่ปัจจุบันจะซื้อสื่อโฆษณาไม่ได้มองแค่ขายสินค้าบนช่องทางเดียวอีกต่อไป แต่มองภาพรวมให้มีความครบเครื่อง เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

"เราต้องการต่อยอดคอนเทนท์จากรายการวิทยุที่มี ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต แพลตฟอร์มออนไลน์ ทำได้หมด อนาคตมีสื่ออะไรใหม่ที่น่าสนใจเราก็จะไป ซึ่งการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล เราไม่ได้เพิ่งเริ่มทำ แต่ทำมานานแล้ว เนื่องจากมองเห็นพฤติกรรมผู้ฟังวิทยุเปลี่ยนไป เราก็ปรับตัวตาม เช่น ตั้งโจทย์คนฟังเพลงเวลาทำงานผ่านทางไหน พอรู้อินไซต์ว่าฟังผ่านคอมพิวเตอร์ เราก็เริ่มทำการบรอดแคสต์ผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น"

ทั้งนี้ เสาหลักใหม่ๆที่น่าสนใจ คือต่อยอดแบรนด์และคอนเทนท์ของคลื่นวิทยุรายการฮิตติดลมบน เช่น แฉแต่เช้า, พุธทอล์ค พุธโทร และ อังคารคลุมโปง ฯ มาผลิตเป็นซีรี่ส์ โดยต้องการผลักดันให้เป็น "โปรดักท์ฮีโร่" ตัวใหม่ เพื่อออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ ในรสชาติใหม่ๆ แทน "คลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีส์" ซึ่งถูกโยกไปอยู่ที่ "เช้นจ์ 2561"

รวมถึงนำเสนอรายการผ่านพอดแคสต์ตอบโจทย์คนผู้ฟังที่ไม่มีเวลาดูภาพ และโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูป เฟซบุ๊คฯ ขณะที่ ดีเจ ยังต่อยอดเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ช่วยให้ลูกค้ามีความคุ้มค่าในการสร้างแบรนด์และศซื้อโฆษณาด้วย

"เราจะนำเรื่องเล่าจากผู้ฟังทางบ้าน มาสร้างเป็นซีรีส์ แล้วออกอากาศทางโทรทัศน์ รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ส่วนการป้อนคอนเทนท์ จะกระจายสู่บริษัทในเครือและนอกเครือในทิศทางอย่างไร ยังเป็นเรื่องบริษัทอยู่ระหว่างการหารือ"

สำหรับภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาผ่านวิทยุ 5 เดือนแรก อยู่ที่ 1,758 ล้านบาท ลดลง 4.87%แต่บริษัทยังคาดหวังว่าทั้งปีอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่น่าห่วงคือการเมือง กระทบการใช้จ่ายเงินของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม จากแผนดังกล่าว บริษัทยังตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อนปิดรายได้ราว 700 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จากวิทยุ 70% และไม่ใช่วิทยุ (Non-radio) 30% ขณะที่การรุกสื่อใหม่ๆ คาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ใน 3 ปีข้างหน้า วิทยุอยู่ที่ 60% และไม่ใช่วิทยุ 40% ปัจจุบันฐานผู้ฟังวิทยุเครือเอ-ไทม์ผ่านออนไลน์ มีมากถึง 16 ล้านไอดีต่อเดือน มียอดดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นเอ-ไทม์ ออนไลน์ 5.5 ล้านดาวน์โหลด เติบโต 20% และมีเป้าหมายเพิ่มยอดดาวน์โหลดไว้ที่ 10 ล้านดาวน์โหลดในอนาคต

"ธุรกิจวิทยุ ยังสามารถเติบโตได้ เพราะจากสถานการณ์แข่งขันในตลาด ยังพบว่ามีผู้เล่นรายใหญ่ราว 10ราย ที่ยังขับเคลื่อนธุรกิจได้รวมถึงมีผู้เล่นหน้าใหม่กำลังฟอร์มทีมเข้ามาทำตลาด ขณะที่การฟังวิทยุในยุคปัจจุบันสามารถฟังได้ทุกที่ ส่วนลูกค้าก็ยังใช้จ่ายเงินเพื่อทำตลาดและโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0