โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เห็ดมือผี” เห็ดประหลาดที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างชื่อ-และไม่ได้น่ากราบไหว้

Manager Online

เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 07.52 น. • MGR Online

กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาฯ เผยข้อมูล “เห็ดมือผี” ว่าเป็นเห็ดในตระกูล “เห็ดเขาเหม็น” มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุตามธรรมชาติ ควรศึกษาให้เข้าใจมากกว่ามุ่งกราบไหว้

หลังออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการ และข้อเท็จจริงของ “เห็ดดาวดิน” ว่าไม่ได้เป็นเห็ดหายาก 1 ใน 10 ของโลก ตามที่สื่อหลายสำนักเสนอข่าว หากแต่สามารถพบได้ทุกภาคทั่วไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจพบเจอเห็ดดาวดินได้ไม่ยากตามอุทยานแห่งชาติหรือตามป่าอนุรักษ์

ล่าสุด เพจ “กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้” ภายใต้การดูแลของ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ “เห็ดมือผี” ที่มีสื่อบางสำนักนำเสนอว่า เห็ดชนิดนี้หายากเป็นอันดับ 2 ของโลก แถมให้เลขให้โชคแม่น จนมีผู้คนแห่กันไปกราบไหว้

ทั้งนี้ทางเพจ “กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้” ได้ออกมาให้ข้อมูลวิชาการว่า “เห็ดมือผี” อยู่ในกลุ่ม “เห็ดเขาเหม็น” ที่มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุ ในเมืองไทยพบเจอเห็ดในกลุ่มนี้บ่อยก็คือ เห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห โดยเพจดังกล่าวได้โพสต์ให้ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ เห็ดมือผี ดังนี้

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีข่าวคึกโครมเกี่ยวกับเห็ดดาวดินมาแล้ว ทางกลุ่มงานวิจัยกีฏกวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้จึงได้ชี้แจงให้ความกระจ่างไปแล้ว ถัดมาไม่กี่วันก็มีข่าวใหม่ "ฮือฮา! พบเห็ดมือผีโผล่ในบ้าน" กลุ่มงานฯ จึงขอออกมาให้ความรู้ในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

เห็ดมือผี? เห็ดที่ปรากฎตามข่าวเป็นเห็ดในกลุ่มเห็ดเขาเหม็น งงละสิครับ หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเห็ดกลุ่มนี้ ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักเห็ดกลุ่มนี้กันเลยดีกว่า

เห็ดเขาเหม็น (Stinkhorns) เป็นชื่อเรียกกลุ่มเห็ดหนึ่งที่มีลักษณะสำคัญคือ เมื่อดอกอ่อนดอกเห็ดจะมีผิวเป็นเยื่อห่อหุ้มทำให้มีลักษณะกลมคล้ายกับลูกชิ้นหรือลูกปิงปอง แต่เมื่อแก่ผนังหุ้มดังกล่าวจะฉีกขาดออกทำให้โครงสร้างดอกเห็ดภายในเจริญออกมาและมีรูปร่างได้หลากหลายตามแต่ละสกุล แต่ที่สำคัญคือบริเวณด้านบนของดอกเห็ดจะมีเมือกสีน้ำตาลหรือเขียวขี้ม้าหรือดำที่มีกลิ่นเหม็นมากหรือคล้ายกับกลิ่นซากสัตว์ อันเป็นที่มาของคำว่า “เหม็น” หรือ “stink” ส่วนคำว่า “เขา” หรือ “horn” นั้นมาจากลักษณะของเห็ดสกุลหนึ่งในกลุ่มนี้ที่มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายเขาสัตว์ เมื่อเอาลักษณะเด่น 2 ประการนี้มารวมกันจึงเกิดเป็นชื่อเรียกใหม่ที่ว่า “เห็ดเขาเหม็น” หรือ “stinkhorns” นั่นเอง

เห็ดเขาเหม็นเป็นเห็ดที่มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุ (saprophytic mushrooms) ที่สามารถพบได้ตามพื้นดินที่มีฮิวมัส (humus) ทับถมและมีความชื้นสูง มีรายงานการพบได้บ่อยครั้งตามโคนต้นไม้ที่มีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมตามบ้านคนที่มีการดูแลต้นไม้ใส่ดินและปุ๋ยอินทรีย์อยู่เป็นประจำจึงสามารถพบเห็ดกลุ่มนี้ได้

การกระจายของเห็ดเขาเหม็นพบได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้น (tropical zones) อาจพบบ้างในป่าเขตอบอุ่น (temperate zones)

เห็ดเขาเหม็นทั้งหมดจัดอยู่ในลำดับอนุกรมวิธาน ดังนี้

อาณาจักรเชื้อรา (Kingdom of Fungi)

ไฟลัม Basidiomycota

ชั้น Agaricomycetes

อันดับ Phallales

วงศ์ Phallaceae

ในประเทศไทยมีรายงานเห็ดกลุ่มนี้อยู่หลายสกุล เช่น Anthurus Aseroe Clathrus Colus Dictyophora Mutinus Phallus และ Pseudocolus และ Simblum ( = Lysurus [current name]) (อุทัยวรรณและคณะ, 2556)

สำหรับชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย อาทิเช่น เห็ดเยื่อไผ่ (Phallus indusiatus Vent.) เห็ดมือขาว (Anthurus brownii J.M. Mend.) เห็ดปลาหมึก (Aseroe arachnoidae E. Fisch.) เห็ดหน่อไม้แดง/เขาเหม็นแดง (Mutinus bambusinus (Zoll.) E. Fisch.) เป็นต้น

เห็ดกลุ่มนี้ส่วนมากไม่มีข้อมูลว่ารับประทานได้หรือไม่ ยกเว้น เห็ดเยื่อไผ่ (Phallus indusiatus Vent.) ที่มีการนำมารับประทานกันอย่างแพร่หลายในเมนู “ซุบเยื่อไผ่” ที่เราคุ้นเคย โดยนำเอาดอกเห็ดแก่ที่แทงดอกออกมาจากเยื่อหุ้มแล้วมาตัดหมวกและโคนก้านที่มีเมือกกลิ่นเหม็นออกให้หมด จากนั้นทำความสะอาดให้สีและกลิ่นหลุดออกไปให้หมดจึงจะนำมาปรุงอาหารได้

ที่ผ่านมาเห็ดในกลุ่มเห็ดเขาเหม็นได้รับความสนใจจากชาวบ้านในด้านเห็ดที่มีรูปร่างและกลิ่นที่แปลกประหลาดจนทำให้เกิดเป็นข่าวคึกโครมตามหน้าสื่อประเภทต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เห็ดมือขาว (Anthurus brownii J.M. Mend.) หรือบางแหล่งข่าวอาจให้ชื่อว่าเห็ดนิ้วมือคนตาย (แต่จริง ๆ แล้ว เห็ดนิ้วมือคนตายเป็นกลุ่มเห็ดอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ หากมีคนสนใจจะนำมากล่าวต่อไปในอนาคต) เห็ดชนิดนี้มีลักษณะดอกอ่อนรูปไข่ กว้าง 3 – 4 ซม. สูง 2 – 3 ซม. สีขาวหรือครีม โคนดอกมีเส้นใยสีขาวคล้ายเชือก 1 เส้นชอนไชไปในเศษซากอินทรียวัตถุที่เห็ดขึ้น เมื่อแก่เยื่อหุ้มดอกจะฉีกขาดตัวดอกเห็ดสีขาวมีรูพรุนคล้ายฟองน้ำโผล่ขึ้นมา มีลักษณะคล้ายมือที่ปลายนิ้วเชื่อมติดกันและจะแยกออกจากกันเป็น 6 แฉกหรือ 6 นิ้วเมื่อแก่ เนื้อเยื่อที่เกิดสปอร์ เป็นมือก กลิ่นเหม็น น้ำตาลอมเขียวมะกอก เกิดบนผิวด้านในของแฉกหรือนิ้ว ก้านดอก สั้น ใหญ่ เรียบ กลวง สปอร์ทรงรี ขนาด 3.5 – 4 x 2.8 – 3.8 ไมโครเมตร ผนังบาง เรียบ กลุ่มสปอร์เป็นเมือกน้ำตาลอมเขียวมะกอก ดอกเห็ดเกิดเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ บนพื้นดินที่มีซากพืช และไม่มีข้อมูลว่ากินได้ (อุทัยวรรณและคณะ, 2556)

ทีนี้ผู้อ่านคงพอทราบกันแล้วนะครับว่าเห็ดมือผีนั้นแท้จริงก็เป็นเพียงแค่เห็ดรูปร่างประหลาดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในธรรมชาติสามารถพบเห็ดที่มีรูปร่างแปลกประหลาดได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น หรือน่ากราบไหว้แต่อย่างใด ดังนั้นเรามาร่วมกันศึกษาเห็ดชนิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมชาติให้มากขึ้นด้วยนะครับ

เอกสารอ้างอิง

1) อนงค์ จันทร์ศรีกุล พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์ อุทัยวรรณ แสงวณิช T. Morinaga Y. Nishizawa และ Y. Murakami. 2551. ความหลากหลายของเห็ดและราขนาดใหญ่ในประเทศไทย. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

2) อุทัยวรรณ แสงวณิช พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์ อัจฉรา พยัพพานนท์ เจนนิเฟอร์ เหลืองสะอาด อนงค์ จันทร์ศรีกุล และ บารมี สกลรักษ์. 2556. บัญชีรายการทรัพย์สินชีวภาพ เห็ด. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), กรุงเทพฯ.

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0