โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เราอ้วนมากเลยใช่มั้ย?” ว่าด้วย Fat Talk เมื่อการบ่นรูปร่างของตัวเองไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

The MATTER

อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 12.44 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 12.17 น. • Lifestyle

ความสวยความงามเป็นเรื่องปกติที่มาคู่กับผู้หญิง แต่เมื่อไหร่ที่เพื่อนหรือแฟนสาวเริ่มตำหนิรูปร่างของตัวเอง เราซึ่งนั่งฟังอยู่ตรงหน้าก็กลับทำตัวเลิ่กลั่ก กระอักกระอ่วน ทำตัวไม่ปกติเพราะไม่รู้จะตอบสนองคำพูดเหล่านั้นยังไงดี

"fat talk กำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่ม 'วัยรุ่นหญิง' และมากกว่า 90% รายงานว่า พวกเขาก็มีส่วนร่วมกับ fat talk ดังกล่าวด้วย" ราเชล ซอล์ค (Rachel H. Salk) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐวิสคอนซิน และ รีนี่ แม็ดด็อกซ์ (Renee Maddox) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าว

Fat talk การคุยที่บ่งบอกความผิดปกติ

การพูดคุย แสดงความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรูปร่าง น้ำหนัก สัดส่วน ขนาด ไปจนถึงพฤติกรรมการกินหรือการออกกำลังกาย ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็น ‘fat talk’ การพูดที่เกิดจากการหมกมุ่นอยู่กับความไม่พอใจในร่างกาย (body satisfaction) ง่ายๆ ก็คือเป็น body shaming อย่างหนึ่ง แต่หลักๆ จะเกิดขึ้นกับ 'ตัวเอง' ซึ่งหลายคนก็น่าจะเคยได้ยินกันมาเยอะกับประโยค ‘ฉันอ้วนแล้ว’ หรือ ‘ดูสิ ขาฉันใหญ่มาก' จากปากเพื่อนสนิท แฟน หรือคนในครอบครัว

Woman checking her body
Woman checking her body

แม้จะดูเป็นการบ่นทั่วๆ ไปของคนคนหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าช่วงนี้เขาอาจจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือกินข้าวเยอะเกินไป แต่เปล่าเลย จริงๆ fat talk นำเสนอความผิดปกติบางอย่างของคนคนนั้นออกมาต่างหาก บางคนอาจจะไม่ได้กินเยอะ ในทางกลับกัน พวกเขากินน้อยมากโดยที่ไม่รู้ตัว หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมจนร่างพัง เพื่อให้ได้มาซึ่ง 'หุ่นที่ดี' ในสายตาของพวกเขาเอง แต่เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ (ยังผอมไม่มากพอ) มันจึงทำให้พวกเขาบ่นออกมา

fat talk จึงเกิดจากค่านิยมผิดๆ เกี่ยวกับความผอมที่กระจายอยู่รอบตัว ที่ทำให้คำว่าหุ่นดีในสายตาของผู้หญิงผิดเพี้ยนไป ทั้งนิตยสาร สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ และผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ผู้หญิงหลายคนถูกสิ่งเหล่านี้กดดันให้ต้องผอมแบบนางแบบหรือดาราที่พวกเขาเห็น ถึงจะเรียกว่ามีหุ่นที่ดี และในขณะเดียวกัน เมื่อมีหุ่นในอุดมคติแบบนั้นไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพจิต การรับรู้และความพึงพอใจในตัวเอง รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่นๆ ด้วย

ซึ่งการหมกมุ่นอยู่กับรูปร่างตลอดเวลา ทำให้คนๆ นึงอาจเป็น ‘โรคคลั่งผอม’ หรือ Anorexia ที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ (eating disorders) ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้ ส่วนมากจะมีความคิดเกี่ยวกับน้ำหนักหรือรูปร่างที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง คิดว่าตัวเองอ้วนเกินไป ขาแขนใหญ่เกินไป เอวหนาเกินไป หน้าอ้วนเกินไป จนทำให้ต้องกินน้อยลงเพื่อคุมน้ำหนัก

"หลายครั้งที่ผู้หญิงพูดว่ารูปร่างตัวเองอ้วน บางครั้งก็ไม่ได้หมายถึงอ้วนจริงๆ แต่พวกเขาแค่ 'รู้สึก' ว่าตัวเองอ้วนเฉยๆ" ข้อความอ้างอิงจากงานวิจัยของเรเชลและรีนี่

Suffering from anorexia. Cropped image of girl trying to put a pea on the fork
Suffering from anorexia. Cropped image of girl trying to put a pea on the fork

เมื่อมีคนที่คลั่งผอมจนเครียด สังคมจึงเริ่มตระหนักถึงความรู้สึกที่เป็นพิษนี้ และเกิดการเคลื่อนไหวหลายอย่างเพื่อเปลี่ยนทัศนคติความผอมของผู้คนในสังคม อย่างในปี ค.ศ.2015 มีการระดมคนเพื่อต่อต้านสเตตัส ‘feeling fat’ ของเฟซบุ๊ก ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘อ้วนไม่ควรเป็นความรู้สึก’ เพราะบางคนอาจจะอ้วนด้วยโรคประจำตัว และการอ้วนก็ไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้น It's fine to be fat.

ทำให้ต่อมามีกระแส ‘body positivity’ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ชวนให้ผู้คนมีทัศนคติที่ดีต่อรูปร่างตัวเอง ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม ทำให้เราได้เห็นนางแบบหรือเซเลบริตี้เจ้าเนื้อหลายคนออกมาถ่ายแบบโชว์หุ่นอย่างมั่นอกมั่นใจ ให้ความหมายในเชิง 'ถึงอ้วนก็สวยได้'

แต่หลังจากนั้นก็มีคนที่ออกมาต่อต้านกระแสนี้ โดยให้ความเห็นว่าการจะมีรูปร่างแบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก แต่ควรจะขึ้นอยู่กับความพอดีโดยเฉพาะเรื่องของ ‘สุขภาพ’ มากกว่า เพราะน้ำหนักที่มากถือเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ อย่างเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง และถึงแม้งานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งจะไม่ได้ออกวิพากษ์วิจารณ์คนที่มีรูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกินโดยเฉพาะ แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าไลฟ์สไตล์บางอย่างของคนที่เป็นโรคอ้วน สามารถนำไปสู่การเกิดของโรคมะเร็งตามมาได้

รับมือยังไงกับคนที่ไม่พอใจในรูปร่างตัวเอง

ไม่เพียงแต่เป็นพิษต่อสุขภาพจิตคนพูด แต่ผลการวิจัยหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้หญิงชอบบ่นรูปร่างตัวเองให้ฟัง อาจทำให้ผู้ชายรู้สึกอารมณ์ไม่ดีตามไปด้วย

เห็นด้วยก็โกรธ พอไม่เห็นด้วยก็หาว่าโกหก อ้าว แล้วแบบนี้ต้องตอบยังไง? หลายคนน่าจะเคยเผชิญสถานการณ์นี้กันเยอะ และด้วยความที่เป็นห่วง รำคาญ หรืออะไรก็แล้วแต่ เวลามีคนมาบ่นเรื่องรูปร่างให้ฟัง เราก็เลยอยากทำให้คนๆ นั้นเลิกกังวลกับสักที จึงบอกออกไปว่า “ฉันว่าแกก็ไม่เห็นอ้วนเลย ขาเล็กจะตาย คิดมากไปหรือเปล่า” ซึ่งวิธีนี้เราคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เขาหายคิดมากแน่ๆ แต่เปล่าเลย เพราะการเปิดใจยอมรับคำชมของคนเรามีไม่เท่ากัน และสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็นสิ่งที่เขายืนยันมาแล้วด้วยตัวเอง

วิธีรับมือที่ดีที่สุดจึงเป็นการปล่อยให้เขาพูดออกไป และไม่ต้องพยายามโน้มน้าวว่าเขาพูดผิด หรือเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ซ้ำเติมว่า “เออ ฉันว่าแกก็อ้วนจริงๆ แหละ” แต่หมายถึง ถ้าเขาอยากบ่นอะไรก็ให้เขาบ่นเต็มที่ เพราะการปฏิเสธสิ่งที่เขาพูดนั้น นอกจากจะไม่ได้ช่วยเปลี่ยนความคิดสักเท่าไหร่แล้ว ยังทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น และไม่กล้าเปิดอกพูดเรื่องทุกข์ใจกับเราอีกในอนาคต

Young woman comforting her friend after bad break up. Rear View.
Young woman comforting her friend after bad break up. Rear View.

แต่ถ้าปล่อยให้เขาพูดแบบนี้ ก็เท่ากับปล่อยให้เขาจมอยู่กับความคิดนั้นต่อไปเรื่อยๆ น่ะสิ? ก็ใช่ ซึ่งสเต็ปต่อไปคือหน้าที่จริงๆ ของเรา ซึ่งเราอาจจะลองชวนเขาคุยเรื่องอื่น เช่น สมมติเขาบอกว่าต้นขาเขาใหญ่ ก็ทำเป็นนึกขึ้นได้ว่าเราไปเจอวิธีลดต้นขามา น่าจะได้ผล อย่างลองปั่นจักรยานบนอากาศดูสิ อาจจะช่วยให้ต้นขากระชับขึ้น หรือลองลดของหวานดู คงจะช่วยไม่ให้ขาใหญ่ไปมากกว่านี้ เพราะอย่างน้อย เขาก็ได้ทั้งคนรับฟังที่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาคิด และได้ทางออกของปัญหากังวลใจนี้ไปพร้อมๆ กัน

"ส่วนมากการตอบสนองโดยทั่วไปของ fat talk คือการปฏิเสธว่าคนพูดนั้นไม่อ้วน ซึ่งมันก็จะไปจบที่บทสนทนาเดิมๆ โดยปฏิเสธว่าอีกคนอ้วน แล้วก็บอกว่าตัวเองต่างหากที่อ้วน" ราเชลและรีนี่กล่าวในงานวิจัย อีกอย่างที่สำคัญคือเราต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเดียวกัน โดยการพยายามมองหาข้อบกพร่องของตัวเองเพื่อมาพูดให้อีกคนสบายใจ หรือทำให้เขารู้สึกว่ายังมีเราที่อ้วนเป็นเพื่อน เช่น “อย่าคิดมาก ดูนี่สิ ขาฉันก็ใหญ่เหมือนกัน” เพราะไม่เช่นนั้น เราเองก็จะติดอยู่ในวัฏจักรการ fat talk นี้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรรับมือให้ทันและไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ที่คอยช่วยเหลือผู้คนที่มีอาการป่วยทางจิตจากการกินอาหารที่ไม่ปกติ หรือ National Eating Disorders Association ได้ออกมาชี้แจ้งว่า คนที่มีระดับความพึงพอใจในรูปร่างตัวเองต่ำ มีแนวโน้มที่จะทุกข์ทรมานจากอาการซึมเศร้า โดดเดี่ยว และความมั่นใจต่ำตามไปด้วย

fat talk ไม่ใช่แค่การบ่นเรื่องรูปร่างทั่วๆ ไป แต่เป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของสุขภาพจิตด้วย หากใครกำลังเผชิญกับปัญหานี้ หรือมีคนรอบข้างที่หมกมุ่นอยู่กับการ fat talk ตลอดเวลา ควรหาโอกาสหรือแนะนำคนเหล่านั้นให้ไปพบนักบำบัด นักโภชนาการ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถช่วยพวกเขาให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดผิดๆ เกี่ยวกับรูปร่างตัวเองได้

อ้างอิงข้อมูลจาก

sciencedaily.com

this.deakin.edu.au

nytimes.com

huffpost.com

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0