โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เมืองศรีเทพ” เมืองมรดกโลกล่าสุดของไทย "ตำนานเมืองเทวดา" กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 11 ม.ค. เวลา 02.52 น. • เผยแพร่ 09 ม.ค. เวลา 23.33 น.
ภาพปก-เขาคลัง
มหาสถูปเขาคลังนอก เมืองศรีเทพ ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ให้การรับรอง โบราณสถาน “เมืองโบราณศรีเทพ” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เมืองศรีเทพ ซึ่งปัจจุบันคือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 45 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ที่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

โบราณสถาน “เมืองศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ คือหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ณ สถานที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งโบราณสถานแห่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างและถูกลืมเลือนไปในที่สุด

พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้ค้นพบทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด

ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่ง กล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชการที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก

เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่ เพื่อที่จะสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้าง และถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาต้อนรับว่า ละแวกนี้มีเมืองโบราณอยู่หรือไม่ และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง

ในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองศรีเทพ”

เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมือง แล้วมีเนินดินสูงล้อมรอบคล้ายกำแพงเมือง ด้านนอกของเนินดินเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น การขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยกรมศิลปากร และเป็นที่น่าแปลกใจของกรมศิลปากรเมื่อเห็นว่า ภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณ ไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้านและตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น

ชาวบ้านเล่าว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา เมืองโบราณแห่งนี้เทพเทวดาได้สร้างเอาไว้ ก่อนจะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ในสมัยก่อนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัยและมีความเชื่อว่า หากใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ ก็จะเกิดอาเพศกับตนเองและครอบครัว

บางคนอาจล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนถึงขั้นเสียสติ เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยภายในสถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ทำได้แค่เพียงอาศัยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ประกอบอาชีพเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนก็จะมีการประกอบอาชีพการเกษตร ล่าสัตว์ และเก็บของป่า

ด้านพิธีกรรมความเชื่อ สมัยก่อนชาวบ้านมักจะไปกราบไหว้และนำเครื่องเซ่นไปไหว้ศาล ซึ่งตั้งไว้บนเนินดินบริเวณขอบพื้นที่เมืองโบราณ หรือเนินที่กรมศิลปากรเชื่อว่าน่าจะเป็นกำแพงเมือง หลังจากที่เมืองโบราณเปลี่ยนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทางอุทยานฯ ได้อัญเชิญศาลแห่งนี้ลงมาไว้ด้านล่าง โดยเทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “เจ้าพ่อศรีเทพ” และหลังจากย้ายศาลลงมา ทางอุทยานฯ ก็ได้เข้ามาควบคุมดูแลพื้นที่บริเวณศาล

จุดนี้ทำให้การเข้ามากราบไหว้ศาลของชาวบ้านเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ ชาวบ้านเลิกนำของเซ่นเข้ามากราบไหว้ศาล แต่ยังจุดธูปเทียนอยู่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ศาลในวันที่ทางอุทยานฯ จัดงานบวงสรวงขึ้น ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จึงกลายเป็นงานประจำปีในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตเมืองโบราณไม่กล้าแม้แต่จะเข้าไปอาศัยอยู่ ซึ่งชาวบ้านทุกคนให้ความสำคัญและเคารพในพื้นที่เมืองโบราณ เพราะไม่ได้เป็นเพียงโบราณสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ชาวบ้านต้องการรักษาภาพลักษณ์ และอนุรักษ์ไม่ให้พื้นที่เมืองโบราณนี้ไม่ถูกทำลายจากบุคคลภายนอก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

คำสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่

ปฏิญญา บุญมาเลิศ. คําเรียกผีและความเชื่อเรื่องผีในภาษาไทยถิ่นเหนือ. (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ,2554)

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว.แผ่นพับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เมืองศรีเทพ” เมืองมรดกโลกล่าสุดของไทย “ตำนานเมืองเทวดา” กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0