โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“เทพไท” หนุนสุดลิ่ม “ชวน” ทำถูก ไม่ผิด ม.157 เชื่อมือ “ครูใหญ่”

Manager Online

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 12.10 น. • MGR Online

ร้อนปรอทแตกจนได้ ปม “เสรีพิศุทธ์” เรียก “ประยุทธ์-ประวิตร” ชี้แจงถวายสัตย์ฯไม่ครบ ล่าสุดเดือดผุด ผุดถึงสภาฯ โยงการออกระเบียบข้อบังคับของ “ชวน” เอื้อผู้มีอำนาจ “เทพไท” หนุนสุดลิ่ม ทำถูกแล้ว ไม่ผิด ม.157 เชื่อมือ “ครูใหญ่” ได้

วันนี้ (19 พ.ย.62) ต้องบอกว่า ร้อนถึง นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ จนต้องทำคลิปออกมาสนับสนุนกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมาธิการต่างๆ ว่า ตนเห็นด้วยและสนับสนุนการออกระเบียบดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ที่สามารถออกระเบียบเกี่ยวกับกิจการใดๆของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภา นับว่าเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ที่ประธานสภาได้จัดระเบียบการทำงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวของกับกิจการของรัฐสภา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการทำงานของระบอบรัฐสภาต่อไป

“ผมเชื่อว่า นายชวน เป็นนักกฎหมาย แม่นข้อบังคับ จะไม่มีการกระทำความผิดตามมาตรา 157 อย่างแน่นอน เพราะการออกระเบียบในครั้งนี้ เป็นการออกระเบียบตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 90 ไม่ใช่การลุแก่อำนาจ หรือทำไปตามอำเภอใจ เพื่อกลั่นแกล้งใครคนใดคนหนึ่ง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะใช้เป็นแบบอย่างหรือแนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการทุกคณะ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชุดนี้ มีประธานคณะกรรมาธิการ ที่มาจาก ส.ส.สมัยแรกจำนวนมากถึง 11 คณะ ซึ่งยังขาดประสบการณ์ในการทำหน้าที่ เพราะไม่เคยนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการมาก่อน ถ้าไม่มีการวางกรอบหรือแนวทางในการทำงานให้เป็นอย่างที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการไม่บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุมสภา และรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้”

นายเทพไท กล่าวด้วยว่า สำหรับสภาชุดนี้ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งเปรียบเสมือนประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ นายชวนได้วางตัวเป็นกลาง และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมทุกประการ เป็นส.ส.ที่มีอาวุโสสูงสุดในสภาฯ ได้เห็นการทำงานของสภาฯ มาเป็นเวลายาวนาน เป็นที่เคารพนับถือของสมาชิกรัฐสภาทุกคน ท่านเป็นเหมือนครูใหญ่ของ ส.ส.ทั้งสภาฯ อยากให้เพื่อน ส.ส.ทุกคนได้ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนภารกิจที่สำคัญในขณะนี้ คือการกอบกู้ศรัทธา และเรียกความเชื่อมั่นของรัฐสภากลับคืนมาให้เร็วที่สุด

สำหรับประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 90 วรรคหก แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามเมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 นั้น

สาระสำคัญอยู่ที่ ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะรายงานต่อประธานสภาทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป

และข้อ 5 ให้ประธานสภาตรวจสอบรายงานตามข้อ 9 หากพบว่ามีคณะกรรมาธิการมากกว่าหนึ่งคณะ จะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกัน ให้ประธานสภาแจ้งให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทราบโดยไม่ชักช้า และจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ เพื่อร่วมกันดำเนินการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ไม่อาจยุติการดำเนินการดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ประธานสภาแจ้งให้ทราบ

ก่อนหน้านี้(18 พ.ย.62)นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาลองค์กรอิสระองค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การ มหาชน และกองทุน ได้ออกมาโจมตีนายชวน อย่างรุนแรง

โดยพุ่งเป้าไปที่ ข้อบังคับจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลของสถาบันนิติบัญญัติ ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภาฯ ตลอดจนภารกิจที่สภาผู้แทนราษฎรมอบให้ไปปฏิบัติ ดังนั้น คณะกรรมาธิการทั้งสามัญและวิสามัญมีความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบที่จะต้องไปรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ นายจิรายุ ยังเห็นว่า การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกคำสั่งเช่นนี้ เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงภารกิจตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการ และอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกด้วย

รวมทั้งกล่าวด้วยว่า จะปรึกษาวิปฝ่ายค้าน และประธานกรรมาธิการซีกฝ่ายค้าน เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อประธานสภาฯ หากยังใช้ประกาศข้อบังคับที่เป็นการแทรกแซง การทำหน้าที่กรรมาธิการเช่นนี้และอยากถามไปยังประธานสภาฯ ว่าตั้งแต่มีสภามาตั้งแต่ปี 2475 เคยมีประกาศแบบนี้ด้วยหรือ

ที่สำคัญวันนี้(19 พ.ย.62) นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ออกมาสนับสนุนให้ใช้ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรฯดังกล่าว

ทั้งยังเห็นว่านอกจากเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมแล้ว ยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา และหน้าที่และอำนาจตามที่ระบุไว้ในการตั้งกรรมาธิการก็ดี ในการดำเนินการของคณะกรรมาธิการก็ดี ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกัน ในกรณีที่การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริงหรือการศึกษาในเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกัน ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะต้องดำเนินการให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดำเนินการ

ดังนั้น การที่ในระเบียบข้อ 4 กำหนดให้เมื่อคณะกรรมาธิการจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะรายงานต่อประธานสภาทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ว่าจะมีการพิจารณา เรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป จึงไม่มีประเด็นใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาลองค์กรอิสระองค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การ มหาชน และกองทุน ออกมากล่าวหา และไม่เห็นด้วยที่มีการขู่ว่าจะดำเนินคดีกับประธานสภาที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ทั้งนี้ อยากให้ฝ่ายค้านทำงานการเมืองแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่ค้านทุกเรื่องเพื่อสร้างประเด็นขัดแย้งทางการเมือง

"ผมคิดว่าระเบียบที่ออกมาจะช่วยทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนกัน และยังแก้ปัญหากรณีมีกรรมาธิการฯชุดใดทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือใช้กรรมาธิการไปในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตัวเอง ซึ่งจะทำให้กลไกการตรวจสอบของสภาได้รับความเสียหายตามไปด้วย จึงอยากให้ประธานกรรมาธิการฯทุกคณะให้ความร่วมมือดำเนินการตามระเบียบนี้ อันจะเป็นประโยชน์ในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง"

เป็นที่น่าสังเกตว่า การออกระเบียบสภาผู้แทนราษฎรฯของนายชวน หลีกภัย นั้น เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธาน กมธ.ปปช.สภาผู้แทนราษฎร ที่ออกหนังสือเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีการอ้างถึงการใช้อำนาจออกคำสั่งเรียกตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งในขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 เกี่ยวกับการใช้อำนาจออกคำสั่งเรียกดังกล่าว รวมถึงบทลงโทษทางอาญา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 หรือไม่ ตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายค้านจะเชื่อว่า เป็นการออกระเบียบสภาผู้แทนราษฎรฯ เพราะเรื่องนี้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว อาจไม่เกี่ยวกัน อย่างที่ นายชวน หลีกภัย ออกมาเปิดเผยในภายหลัง

โดยเมื่อวันที่18 พ.ย.ที่ผ่านมา นายชวน ชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าว ทางเลขาธิการสภาฯเสนอเข้ามา เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ก่อนหน้านี้ก็เคยมี แต่ครั้งนี้เป็นระเบียบใหม่ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯที่เพิ่งออกมาว่าการดำเนินการของคณะกมธ.ต้องรายงานให้ประธานสภาฯทราบ

เมื่อถามว่า การออกระเบียบครั้งนี้เป็นเพราะคณะกมธ.ป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ(กมธ.ปปช.) ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช เป็นประธาน เชิญพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร รองนายกฯและรมว.กลาโหม มาชี้แจงหลายรอบ หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน และต้องไปอ่านข้อบังคับที่ 90 กำหนดให้กมธ.ต้องรายงานการปฏิบัติภารกิจให้ประธานสภาฯรับทราบ

“ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่กมธ.บางชุดมีปัญหา ยืนยันว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภารกิจของคณะกมธ. เพียงแต่สมมุติมีปัญหาก็สามารถแจ้งมายังประธานสภาฯได้ เพราะไม่ต้องการให้กมธ.แต่ละชุดมีปัญหากัน อยากให้ร่วมกันทำงานในภารกิจที่ต้องทำตามข้อบังคับ”

ส่วนภารกิจใดที่ซ้ำซ้อน กมธ.แต่ละชุดจะต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่าภารกิจของเขาคืออะไร ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ถูกเชิญมา ซึ่งเรื่องนี้สมัยก่อนก็มีปัญหาจึงได้มีการกำชับเป็นพิเศษว่า แต่ละฝ่ายให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ที่สมบูรณ์

ดูเหมือนหมากเกมนี้จะดึงเอาสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปร่วมรับผิดชอบอย่างไม่มีทางเลือกเสียแล้ว เพราะที่เชื่อกันว่า เป็นปัญหาอาฆาตแค้นส่วนตัว กำลังมีขั้วขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็เป็นเรื่องใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรไทยเสียด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0