โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เถรอดเพล-รูบิกเมืองไทย” ความรู้เชิงช่างจาก “ของเล่น” จนถึง “เครื่องตั้งศพ”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 พ.ย. 2565 เวลา 07.54 น. • เผยแพร่ 25 พ.ย. 2565 เวลา 15.16 น.
(ซ้าย) เถรอดเพล ที่มีผู้นำมาทำเป็นเครื่องเล่นจำหน่าย ตั้งชื่อว่า “สลักกลบางกอก” (Bangkok Puzzle) (ขวา) พระสงฆ์รูปหนึ่งที่กำลังประกอบ “เถรอดเพล” (ภาพจากวารเมืองโบราณ)
(ซ้าย) เถรอดเพล ที่มีผู้นำมาทำเป็นเครื่องเล่นจำหน่าย ตั้งชื่อว่า “สลักกลบางกอก” (Bangkok Puzzle) (ขวา) พระสงฆ์รูปหนึ่งที่กำลังประกอบ “เถรอดเพล” (ภาพจากวารเมืองโบราณ)

ถ้าใครเคยเล่น “ลูกรูบิก” (Rubik’s Cube) ของเล่นลับสมอง ที่มีลักษณะคล้ายกล่องทรงสี่เหลี่ยมจุตุรัส ลูกรูบิก 1 ลูก มี 6 ด้าน เวลาเล่นต้องหมุนให้แต่ละด้านเป็นสีเดียวทั้ง 6 ด้าน ลูกรูบิกคิดค้นและมีการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2517 ลูกรูบิกเป็นของฝรั่ง ไทยเองก็มีของเล่นในลักษณะที่ว่าเช่นกันเรียกว่า “เถรอดเพล” แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิด และไม่มีการจดลิขสิทธิ์เช่นเคย

เอนก นาวิกมูล เขียนอธิบายเรื่องนี้ในบทความชื่อ “เครื่องตั้งวัดไทร” (เมืองโบราณ สิงหาคม-พฤศจิกายน 2525) อย่าเพิ่งแปลกใจทำไมเถรอดเพลไปเกี่ยวอะไรกับ “เครื่องตั้ง”

เถรอดเพลเป็นของเล่นไทยโบราณ และไม่ใช่ของเล่นแบบเล่นเพลินๆ สนุกๆ เท่านั้น แต่เป็นการเล่นลับสมอง เพราะต้องใช้สมาธิและความจำ เถรอดเพลมีหลายแบบด้วยกัน เช่น ใช้ตะปู 2-3 ตัวมาขัดไขว้กันไปมาให้อยู่ในชุดเดียวกัน ให้คนเล่นถอดแยกแต่ละตัวออกจากกันให้ได้ และให้สอดไขว้กลับไปเป็นแบบเดิม

ส่วนเถรอดเพลแบบที่พัฒนาไปเป็นเครื่องตั้งนั้นทำจากไม้ เป็นแท่งไม้ 7-8 แท่ง แต่ละแท่งมีการแกะเป็นสลักแตกต่างกันไป เมื่อเอามาประกอบรวมกันจะเป็นเครื่องหมายบวก (ที่ตั้งได้) เวลาเล่นก็ต้องถอดแต่ละชิ้นแยกออกมาให้ได้ และประกอบรวมเข้าไปใหม่เช่นเดิม ตอนถอดว่ายาก แต่ตอนประกอบนั้นยากกว่า ไม่รู้จะเอาชิ้นไหนสอดก่อนสอดหลัง สับสนไปหมด คนเล่นยากเอาชนะให้ได้ ก็ก้มหน้าง่วนถอดไม้เข้าออกเพลินไปจนเป็นที่มาว่า “เถรอดเพล”

คนที่เคนเล่นเถรอดเพล แก้กลสลักได้ บางคนก็เอาไปคิดดัดแปลงเป็นเถรอดเพลในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำเป็นเครื่องเล่นจำหน่ายเรียกว่า “สลักกลบางกอก” (Bangkok Puzzle) ส่วน “หลวงตาโจ้ย” พระสงฆ์รูปหนึ่งของวัดไทร อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ใช้หลักของเถรอดเพลมาทำเป็น “เครื่องตั้งศพ” ในขณะที่ท่านมีอายุประมาณ 60 ปี

หลวงตาท่านใช้เวลา 8 ปี ทำเครื่องตั้ง 2 ชุดสำเร็จ โดยให้เพียงมีดและกระดาษที่หลวงตาใช้แกะและขัดสลักแต่ละตัวด้วยมือด้วยความอุตส่าหะ เครื่องตั้งของหลวงตาโจ๊ย มีผู้ขอไปตั้งศพตามที่ต่างๆ หลายแห่งเท่าที่จะมีคนสืบรู้ เช่น อยุธยา, ชลบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และโคราช

เมื่อเครื่องตั้งวัดไทรไปที่ใด ก็จะมีคนสนใจมาดูกันมากมายราวกับดูลิเก เพราะไม่เคยเห็นของแบบนี้มาก่อน ถ้าเป็นเด็กจะชอบหุ่นชักที่หลวงตาท่านทำประดับไว้ สามารถดึงเชือกให้เคลื่อนไหวได้ ส่วนผู้ใหญ่ก็จะมาดูการเข้าไม้ การเอาของใส่ขวดแก้ว

ไม่ว่าจะเป็นหุ่นชักหรือขวดแก้วใส่ของต่างๆ นั้น หลวงตาโจ๊ยทำโดยใช้หลักของเถรอดเพลทั้งหมด นั้นทำในลักษณะเดียวกัน คือ เป็นของที่แยกกันเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบร่วมด้วยสลัก ซึ่งหลวงตาจะปิดกุฏิทำตอนกลางคืน เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ หลวงตาโจ๊ยมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2496 อายุได้ 86 ปี โดยก่อนหน้านั้นท่านได้สอนพระรูปอื่นๆ ให้ติดตั้งประกอบเครื่องตั้งได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0