โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“เด็กบางคนเติบโตในท้องของแม่ แต่ผมเติบโตมาในหัวใจสองดวงของทั้งพ่อและแม่”

Khaosod

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 19.06 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 18.58 น.
_113276379_michael.jpg

“เด็กบางคนเติบโตในท้องของแม่ แต่ผมเติบโตมาในหัวใจสองดวงของทั้งพ่อและแม่” - BBCไทย

  • อิสสริยา พรายทองแย้ม
  • บีบีซีไทย

ไมเคิล บันทา โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษทางเฟซบุ๊ก เล่าเรื่องที่เขาได้รับการเลี้ยงดูมาโดยครอบครัวชาวอเมริกันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

หน้าตาและผิวพรรณที่แตกต่างไปจากพ่อแม่ที่อยู่ด้วยในสหรัฐฯ ทำให้เขาตั้งคำถาม

"เรื่องมันเป็นยังไงครับ"

เมื่อจูเลียและสตีฟ ตอบทันทีในตอนนั้นว่าเขาถูกรับมาเลี้ยงจากเมืองไทย ไมเคิลตอบกลับว่า

"โอเค งั้นผมไปเล่นต่อแล้วกัน"

คำยืนยันจากจูเลียกับสตีฟว่าไม่ใช่พ่อแม่ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันกับเขาไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย

ไมเคิลกับครอบครัว
ไมเคิลกับครอบครัว

ในช่วงต้นของชีวิต ไมเคิลเติบโตมาในสถานสงเคราะห์หลายแห่ง เขาได้เรียนรู้ในภายหลังเมื่อย้ายไปอยู่สหรัฐฯ แล้วว่าแม่ที่แท้จริงเลี้ยงเขาด้วยตัวคนเดียวได้ราว 10 เดือน ก็จากไป โดยเอาเขาไปฝากเลี้ยงกับครอบครัวของครูคนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากอยู่กับครูที่รับจ้างเลี้ยงได้ 3 เดือน ก็ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านศรีธรรมราชเพราะครอบครัวครูรับภาระไม่ไหว เขาจึงเริ่มต้นชีวิตเด็กกำพร้าเต็มตัวในวัยขวบเศษ

หากช่วง 5 ปีนับจากแรกเกิด เป็นวัยสำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะฝึกให้ลูกได้รู้จักการทำกิจวัตรประจำวันตามเวลาเพื่อพัฒนาการที่ดีในระยะยาว แต่สำหรับไมเคิลแล้วห้าปีแรกของชีวิตคือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความสับสน

"ผมจำอะไรได้ไม่มาก จำได้แค่ว่าผมอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กหลายแห่ง มีทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ผมจำได้แค่ว่า ผมเล่นอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน มันเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งผมอยากจะหนีไปจากมัน"

หลังอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านศรีธรรมราชได้เพียง 6 เดือน ไมเคิลถูกย้ายไปอยู่บ้านสงขลา เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านศรีธรรมราชพบว่าเขามีพัฒนาการช้ากว่าวัย แม้จะอายุ 5 ขวบแล้ว แต่ไม่สามารถพูดจาเป็นประโยคได้ พูดได้เป็นคำไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่พอจะรู้แล้วว่าเขามีความบกพร่องทางการได้ยินและต้องการให้ได้รับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งบ้านสงขลาคือสถานที่เหมาะสมในเวลานั้น

ไมเคิลกับพี่น้องบุญธรรม
ไมเคิลกับพี่น้องบุญธรรม

"ผมไม่รู้ว่าทำไมตอนเป็นเด็ก ตัวเองถึงพูดไม่ได้ ผมเป็นใบ้ ได้แต่ชี้สิ่งนั้น สิ่งนี้ เมื่อต้องการบอกอะไร" ไมเคิลบอกเราตอนที่คุยกันผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันอย่างคล่องแคล่ว

ปี 2537 ในวัย 7 ขวบ เขาเกือบจะได้ย้ายไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมชาวยุโรปที่เป็นใบ้ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับเด็กต่อกรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น (กรมกิจการเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน) แต่ทีมงานนักสังคมสงเคราะห์ของสหทัยมูลนิธิและศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ได้พบตอนไปประเมินความเหมาะสม คือผู้ทำให้ชะตาชีวิตของไมเคิลต้องพลิกผัน

กรณิศ สุดมี หัวหน้ากลุ่มงานบริการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สหทัยมูลนิธิ จำได้ว่าเด็กน้อยหน้าตาสะอาดสะอ้าน แววตาครุ่นคิดคนนี้ คอยเฝ้าดูการทำงานของเธอและเพื่อนในทีมอย่างใคร่รู้

"เวลาถามอะไรไป เขาก็ตอบกลับมาเป็นคำ ๆ พูดเสียงอืออาเหมือนคำรามอยู่ในลำคอ ฟังแทบไม่รู้เรื่อง แต่นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้หูหนวกเสียทีเดียว เขาเพียงสูญเสียการได้ยิน เราจึงมาทบทวนกันว่าเขาควรจะต้องอยู่ในโลกเงียบต่อไปหรือ"

ในที่สุดศูนย์บุตรบุญธรรมตัดสินใจยกเลิกการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวยุโรปที่เป็นใบ้ และย้ายไมเคิลจากสงขลาไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์บ้านนนทภูมิ ปากเกร็ด ในระหว่างรอจัดหาครอบครัวบุญธรรมใหม่

กรณิศ กับครอบครัวของไมเคิล
กรณิศ กับครอบครัวของไมเคิล

สถานสงเคราะห์ที่ย้ายไปอยู่ใหม่จัดหาเครื่องช่วยฟังให้ได้ตามกำลังทรัพย์ ระดับคุณภาพจึงไม่สูงมากนักความเป็นเด็กทำให้เขาไมได้ใช้มันอย่างเต็มที่ ถูกเพื่อนดึงเล่นบ้าง ทำหล่นเสียหายจนต้องซ่อมบ้าง ในที่สุดทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเพื่อประโยชน์กับตัวเด็ก ควรส่งเขาไปอยู่ที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษลพบุรี

ไมเคิลออกเดินทางอีกครั้ง

ในช่วงเปิดเทอมเขาพักอยู่กับครอบครัวเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานสงเคราะห์ ส่วนเวลาปิดเทอมเขาพักอยู่ที่สำนักงานของมูลนิธิสหทัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการไปเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งวันนั้นก็มาถึง

หลังจากใช้เวลาเดินเรื่องอยู่สองปี ครอบครัวบันทาจากสหรัฐฯ ที่ต้องการช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ รับไมเคิลไปอยู่ด้วย ตอนที่เขาอายุได้ 10 ปี 4 เดือน

"ตอนแรกเลยผมไปอยู่ที่เมืองแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจียสองปี แล้วย้ายไปอยู่รัฐเท็กซัส ตอนอายุสิบสอง เพราะพ่อบุญธรรมได้งานทำในรัฐนี้ ในครอบครัวเดียวกันกับผม พ่อแม่มีลูกของตัวเอง 3 คน และผมมีพี่น้องบุญธรรมที่ถูกขอมาเลี้ยงเหมือนกันอีกสามคนด้วย น้องผู้หญิงคนหนึ่งมาจากเชียงใหม่ อีกคนมาจากจีนและบราซิล รวมแล้วครอบครัวเรามีพี่น้องเจ็ดคน แม่ผมทำงานสถานสงเคราะห์เด็ก แต่ตอนนี้ทั้งพ่อและแม่เกษียณแล้ว"

ไมเคิลไปสหรัฐฯ โดยที่ความสามารถในการพูดภาษาไทยยังไม่เต็มที่ ส่วนภาษาอังกฤษถือได้ว่าเป็นศูนย์ แต่ที่บ้านของพ่อแม่บุญธรรม เขามีพี่น้องจากหลายเชื้อชาติ ทำให้เขาไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง

ไมเคิล บันทา
ไมเคิล บันทา

"ผมถามแม่เหมือนกันว่าพี่น้องของผมมาจากไหนกัน แม่ก็เล่าให้ฟัง เราแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน และแบ่งปันความรักให้กัน"

พ่อบุญธรรมของไมเคิลเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐฯ ส่วนแม่บุญธรรมเรียนจบด้านการศึกษาพิเศษ ในสหรัฐฯ ไมเคิลได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ได้เรียนภาษามือที่เขาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ได้รับการรักษาอาการสูญเสียการได้ยิน จนเขาก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการได้ยินอย่างเต็มตัว

"ตอนไปโรงเรียนในสหรัฐฯ ใหม่ ๆ ผมพูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย ได้แต่อึกอัก ๆ แล้วก็ขี้อาย แต่ผมมีครูอยู่ด้วยตลอด มีนักแก้ไขการพูดช่วยเหลือ ผมได้เจอแต่คนที่ดี ไม่ถูกเพื่อนแกล้งเพราะเราอยู่ในกลุ่มคนต่างชาติที่มาเรียนภาษาอังกฤษเหมือนกัน ทุกคนมองผมด้วยความสนใจ"

ไมเคิลเคยกลับไปเมืองไทยตอนอายุได้ 14 ปี เขายังไม่ค่อยพูดแต่ยิ้มเก่งและอารมณ์ดี

"มาเจอเขาอีกครั้งตอนเขาอายุ 33 ปี เมื่อปี 2562 คราวนี้พูดเป็นต่อยหอย พูดเป็นประโยคเหมือนคนทั่วไป เขายังต้องพึ่งเครื่องช่วยฟังขนาดจิ๋ว แต่จะเราไม่รู้เลยว่าเขาคือเด็กที่เคยเป็นใบ้ไม่ยอมพูดมาก่อน แต่ตอนนี้เขาเลือกสื่อสารด้วยคำพูด ไม่ใช่ภาษามือ เราดีใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เขาก็เข้ามาปลอบ และเล่าว่าเรียนจบแล้ว" ครั้งนั้น กรณิศ ไปพบเขาที่อเมริกา

ปัจจุบันไมเคิลทำงานเป็นครูสอนเด็กชั้น ป.2 ที่มีปัญหาทางการได้ยิน และใช้ความรู้จากการเรียนด้านการทำอาหาร สอนทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในวิดีโอของเขา ไมเคิลสอนทั้งแบบใช้ภาษามือและพูดปกติ

"เป้าหมายของผมคือทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารไทย แต่ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น"

ไมเคิล บันทา
ไมเคิล บันทา

การทำอาหารไทยเป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าในชีวิต และสิ่งที่เขาอยากสัมผัสในฐานะคนไทย

"ผมรักเมืองไทย ผมคิดว่าเป็นประเทศที่มหัศจรรย์ ในเวลาเดียวกันเมื่อผมมาอยู่ในสหรัฐฯ ผมก็มีประสบการณ์ที่ดี มีครอบครัวที่ดี ที่สนับสนุนผม ให้ผมได้ไปโรงเรียนที่ดี พ่อแม่สอนผมว่าจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบและทำให้ชีวิตในอนาคตของตัวเองดีขึ้นได้อย่างไร"

แน่นอนว่าไมเคิลต้องการขุดค้นรากเหง้าของตัวเอง และวางแผนจะมาเมืองไทยอีกครั้งในปีนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

"ผมอยากเจอพ่อแม่ของตัวเอง ผมไม่เคยรู้เรื่องของพวกเขาเลย รู้แต่ว่ามีครอบครัวหนึ่งเลี้ยงผมมา อยากไปสถานที่ที่ตัวเองเคยเติบโตมา ผมไม่โทษและไม่สนใจเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะผมรู้ว่าทุกคนมีความยากลำบากในชีวิต ผมแค่อยากจะรู้ว่าตัวเองเป็นใคร และอยากจะมีความสุข"

ไมเคิล บันทา
ไมเคิล บันทา

ไมเคิลแต่งงานแล้ว และพยายามที่จะมีลูกของตัวเอง เขาวางแผนจะรับเด็กจากเมืองไทยมาเป็นบุตรบุญธรรมอีก 2 คนในอนาคต

"ผมเคยรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าใครเป็นพี่เป็นน้อง ใครเป็นพ่อแม่ คนถามตลอดว่าทำไมผมถึงมีหน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ในอเมริกา ผมก็พูดตรงไปตรงมากับทุกคนว่าผมถูกขอมาเลี้ยงและครอบครัวที่ผมอยู่ด้วยก็ดูแลผมเป็นอย่างดี ผมคิดบวก ผมเปิดใจ และไม่ได้อยากทำให้ตัวเองเจ็บปวด ปรากฏว่าทุกคนที่รู้เรื่องของผม มองมันว่าเป็นเรื่องราวที่พิเศษและน่าทึ่ง"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0