โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“เจตนา”ทำบุญ ของอัมพปาลี-คณิกาแคว้นโกศล กับ ยายแฟง-แม่เล้าเมืองบางกอก

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 พ.ค. 2565 เวลา 00.41 น. • เผยแพร่ 13 พ.ค. 2565 เวลา 00.09 น.
รูปหล่อ “ยายแฟง” ผู้ออกทุนทรัพย์ให้สร้าง “วัดคณิกาผล” ภายในอาคารหลังอุโบสถวัดคณิกาผล
รูปหล่อ “ยายแฟง” ผู้ออกทุนทรัพย์ให้สร้าง “วัดคณิกาผล” ภายในอาคารหลังอุโบสถวัดคณิกาผล

“อัมพปาลี” เป็นนางคณิกา แห่งเมืองเวสาลี แคว้นโกศล ในสมัยพุทธกาล ส่วน “ยายแฟง” เป็นแม่เล้าคนดังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเหมือนของสตรีทั้งสองคือ ต่างเป็นคนวงการเดียวกัน และชอบทำบุญบำรุงพระศาสนาเหมือนกัน

ในพระสุตตันปิฏกกล่าวว่า อัมพปาลี เป็นคนสวยคมคาย, ฉลาด, เท่าทันคน, และมั่งคั่ง อายุเธอน่าจะประมาณ 35-40 ปี ครั้งหนึ่งนางอัมพปาลี ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าที่เสด็จจากราชคฤห์เพื่อจะไปกบิลพัสดุ์ ซึ่งต้องผ่านและแวะพักที่เวสาลี

เมื่อเสด็จถึงเวสาลี พระองค์ประทับที่สวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและแจ้งความประสงค์ว่าวันรุ่งขึ้นจะขอนำอาหารมาถวาย ขณะที่นางอัมพปาลีกำลังเดินทางกลับก็สวนกับคณะของพระราชาลิจฉวี ที่ต้องการถวายภัตตาหารพระพุทธองค์พรุ่งนี้เช่นกัน พระราชาลิจฉวีขอให้นางอัมพปาลีเลื่อนคิวของนางออกไปก่อน เพื่อพระองค์จะได้เข้ามาแทนที่ หากนางยินยอมพระองค์ยินดีมอบเงินให้เป็นการชดเชยจำนวนแสนหน่วย

แต่นางอัมพปาลีไม่ยินยอมและยังท้าทายว่า แม้จะยกเมืองเวลสลีให้ก็มิยอม พระราชาลิจฉวีจึงต้องเป็นฝ่ายยอมเอง

วันรุ่งขึ้นนางอัมพปาลีนำภัตตาหารมาถวายพระพุทธองค์และพระสาวก ทั้งได้ถวายสวนมะม่วงของนางให้เป็นสมบัติสงฆ์หรือสังฆการามนับแต่นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เน้นศีล สมาธิ ปัญญา กับการเจริญธรรมให้บังเกิดความกล้าหาญ นางอัมพปาลีและบริวารต่างเป็นสุขด้วยธรรมมกิถานั้น

อาจารย์พระมหาสังเวย ธมมเนตติโก และอาจารย์ ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ได้เขียนถึงภิกษุณีสมัยพุทธกาลผู้สำเร็จอรหัตตผลไว้อย่างน่าสนใจ ท่านแรกนำเสนอในรูปของงานวิจัยชื่อ ภิกษุณีกับการบรรลุอรหัตผล ท่านหลังเขียนเป็นหนังสือชื่อ ภิกษุณี : พุทธสาวิกาครั้งพุทธกาล

ในงานวิจัยและงานเขียนของทั้งสองท่านนั้น มีชื่อ “อัมพปาลี” นางคณิกาที่ออกบวชเป็นภิกษุณีและสำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ด้วย

ส่วนยายแฟง เป็นหนึ่งในแม่เล้าเมืองชื่อดังเมืองบางกอก กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ถึงกับมีคำพูดกล่าวขานว่า “ยายฟักขายแกง ยาแฟงขาย… ยามีขายเหล้า” อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่ายายแฟงกับนางอัมพปาลีมีส่วนเหมือนกันคือ มีใจใฝ่การบุญกุศล (อ่านเพิ่มเติม : วลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย.. ยายมีขายเหล้า” กับวิวัฒนาการโรงโสเภณีกทม. 100 ปีก่อน)

ขณะที่นางอัมพปาลียกสวนมะม่วงให้พระพุทธเจ้า ยายแฟงที่เป็นแม้เล้า ก็สร้างวัดถวายพุทธศานาเช่นกัน

วัดที่ยายแฟงสร้างชื่อ “วัดใหม่ยายแฟง” หรือ “วัดคณิกาผล” เขตป้อมปราบฯ ในปัจจุบัน เมื่อวัดสร้างเสร็จ ก็จัดงานสมโภชวัด โดยยายแฟงนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรมหมรังสี) สมัยเป็นมหาโตมาเทศน์ฉลองวัด

แต่มหาโตเทศน์ไม่ได้ดังใจโยมอย่างยายแฟง

ยายแฟงจึงไปนิมนต์ทูลกระหม่อมพระ (รัชกาลที่ 4) มาประทานธรรมอีกกัณฑ์หนึ่ง เพราะหวังจะได้รับคำชมจากพระองค์ท่าน สรุปคือทั้งมหาโตและทูลกระหม่อมพระเน้นไปที่เจตนาการสร้างเป็นหลัก นัยว่าหากเจตนาดีย่อมได้กุศลมาก ด้วยมีเรื่องเล่าขานกันว่า เจตนาส่วนหนึ่งของยายแฟง คือต้องการได้รับคำชมจาการสร้างวัด บุญกุศลอันพึงจะได้คงจะน้อยลงไปตามสัดส่วน

ข้อมูลจาก

ส.สีมา. “จากอัมพปาลีคณิกา ถึงยายคุณท้าวแฝง” ใน ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2553

ส.สีมา. “ภิกษุณีกับชีวิตโสเภณี” ใน ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2553

เสถียรพงษ์ วรรณปก.วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน 2541

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0