โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“เขื่อนไซยะบุรี” ปิดตำนานทางผ่านพญานาค แม่น้ำโขงเหือดแห้ง ส่ปลาหลงฤดู ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

สยามรัฐ

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 02.01 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 02.01 น. • สยามรัฐออนไลน์
“เขื่อนไซยะบุรี” ปิดตำนานทางผ่านพญานาค แม่น้ำโขงเหือดแห้ง ส่ปลาหลงฤดู ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Kumpin Aksorn ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบว่า “เขื่อนทำให้น้ำลดผิดปรกติเหมือนอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ปลาอพยพในห้วงเวลานั้น ปฎิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลพวงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่ทำให้แม่น้ำโขงแปรปรวน ปลาตามลำห้วยสาขาหลงทิศผิดฤดูกระโจนทะยานเพื่อขึ้นเหนือทั้งที่มันเป็นช่วงที่ต้องอพยพกลับคืนถิ่น ฝูงปลาหลงฤดูเพราะน้ำโขงเดือนตุลาคม มีสภาพไม่ต่างจากฤดูแล้ง ฝูงปลาแตกตื่น มีมาให้เห็นไม่บ่อยนัก หลายคนตื่นเต้น พรานปลาหยิบจับอุปกรณ์เพื่อจับปลาที่หลงทิศทางเหล่านี้ โอกาศชั่วข้ามคืน ทันก็ทันไม่ทันก็ปล่อยไป มีแต่คำถามงงงวย ปลาขึ้นในเดือนตุลาคม วันที่ 9/2562 บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์คนหาปลากันเลยทีเดียว”

ข้อมูลจาก ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สะท้อนให้เห็นว่า 'เขื่อนไซยะบุรี' ที่ทดลองปั่นไฟนำมาสู่หายนะของแม่น้ำโขง ไม่เพียงแต่กีดขวางการอพยพของปลาเพื่อไปหากินและวางไข่ แต่ลิฟท์ปลาที่เขื่อนก็ไม่อาจช่วยให้ปลาอพยพได้ ระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงผิดปกติทำให้ปลาสับสน หลงฤดู ส่งผลสะเทือนต่อวงจรชีวิตของปลา อาจารย์บอกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านยังจับปลาบึกจากแม่น้ำโขงได้มาก แต่ 10 ปี ให้หลัง ประชากรลดลงถึง 90% ทำให้ถูกจัดให้เป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ วันนี้ ถิ่นอาศัย และแหล่งวางไข่ยังถูกคุกคามด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจากจีนลงมาจนถึงหลวงพระบาง และไซยะบุรี เป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขงอีกต่อไป และในมิติวัฒนธรรม ความเชื่อ ตามตำนานที่เล่าสืบทอดกันมา 'พญานาค' มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความเชื่อว่าเป็น 'วังบาดาล' ของเหล่านาคา พื้นที่บริเวณนี้จึงมีเรื่องราวและความศรัทธาเกี่ยวกับพญานาคอย่างแรงกล้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่วังบาดาล จะเป็นวังบาดาลได้อย่างไรเมื่อน้ำแห้งเหือดหายไป จะลบเลือนความเชื่อความศรัทธาของพญานาค ผู้อาศัยในแม่น้ำโขงไปด้วยหรือไม่ เพราะหากมีจริง เหตุใดจึงปล่อยให้มนุษย์คุกคาม ลบหลู่ได้ถึงเพียงนี้ หรือไม่เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่มองไม่เห็นก็อาจลงทัณฑ์ มนุษย์ผู้โง่เขล่าด้วยภัยธรรมชาติ ที่ไม่อาจกำหนดได้เหมือนเขื่อนที่ขวางกั้นลำน้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสียหายทางนิเวศน์นี้คือความรุนแรงทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นอย่างแช่มช้า และคนจนจำนวนมากต้องแบกรับภาระอีกเช่นเคย

ข้อมูลจาก 'ดร.ไชยณรงค์' ระบุอีกว่า แม่น้ำโขงมีปลามากกว่า 1,000 สายพันธุ์ รวมถึงปลาบึก ปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พบที่เดียวในแม่น้ำโขง กล่าวกันว่าหากเทียบจำนวนชนิดพันธุ์กับพื้นที่ลุ่มน้ำแล้ว ลุ่มน้ำโขงคือลุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำมากที่สุดในโลก เพราะแม่น้ำอะเมซอนและซาอีร์แม้ว่ามีชนิดพันธุ์เยอะกว่า แต่พื้นที่ลุ่มน้ำมากกว่าลุ่มน้ำโขงมาก ถือว่าแม่น้ำโขงคือราชาแห่งสายน้ำ ปลาในแม่น้ำโขงคือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้เรา และเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก หลายชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจและเป็นที่มารายได้ของคนจน ประมาณกันว่ามีคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงกว่า 60 ล้านคน ตัวเลขนี้เข้าใจว่าเก่ามากๆ "ถ้ามีอะไรสักสิ่งที่เราควรจะทำในชีวิตนี้เพื่อลูกหลานของเรา การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้เขื่อนแห่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะทำ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำโขงกลับคืนมา" สำหรับ 'เขื่อนไซยะบุรี' เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก สร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว แต่ลงทุนโดยทุนไทยภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของสถาบันการเงิน 6 แห่งของไทย และไฟฟ้าส่วนใหญ่ส่งมาขายไทย จนได้ชื่อว่า 'เขื่อนลาวสัญชาติไทย' แม้มีการประท้วงจากคนลุ่มน้ำโขงทางฝั่งไทย และรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม แต่เขื่อนแห่งนี้ก็เกิดขึ้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุนเบียดบังคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ มันอาจไม่มี นรก หรือ สวรรค์ ไม่มี บุญ หรือ บาป สำหรับ ทุน แต่เวรกรรม มีจริง!

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก เฟซบุ๊ก Kumpin Aksorn,ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,นายรัฐอิสระ จันทะชารี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0