โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“อุตตม” ชี้ พ.ร.บ.งบประมาณเน้นทุกมิติ ยันประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

SpringNews

เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 02.29 น. • SpringNews
“อุตตม” ชี้ พ.ร.บ.งบประมาณเน้นทุกมิติ ยันประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว  ดร.อุตตม สาวนายน ใช้หัวข้อว่า พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ใจความดังนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้ (17 ต.ค.62) มีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของพี่น้องประชาชน

ผมรู้สึกยินดีที่พ.ร.บ.นี้ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนควรให้ความสำคัญ

ผมได้กล่าวชี้แจงในสภา ถึงแนวทางการจัดทำพ.ร.บ.ดังกล่าวของรัฐบาล ว่า เป็นการจัดทำโดยให้ความสำคัญในทุกมิติ เน้นสร้างประโยชน์ให้ประชาชน และตั้งอยู่บนความถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการจัดทำรายละเอียดทั้งแผนการใช้จ่าย เป้าหมาย และ แหล่งที่มาของรายได้ โดยแหล่งรายได้มาจากภาษีอากรและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงการส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ในส่วนนี้มีการดำเนินการอย่างครอบคลุม

ทั้งนี้ รายได้ที่นำมาใช้นั้น เป็นการประเมินด้วยความรอบคอบผ่านกลไกคณะทำงานด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง อาทิ สำนักงบประมาณ กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.73 ล้านล้านบาท

ในทางปฏิบัติรายได้ที่จัดเก็บจะเข้ามาร่วมอยู่ในบัญชีเดียวกัน โดยรายได้จะเข้ามาในห้วงเวลาต่างกัน ขณะเดียวกันรายจ่ายจากงบประมาณมีกระบวนการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการว่าจะจัดสรรอย่างไรถึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การจัดทำงบประมาณครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ ยึดหลักเกณฑ์ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เช่น งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องตั้งให้พอเพียง ซึ่งทุกประการระบุรายละเอียดไว้ชัดเจน

ผมขอเรียนว่าในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์บริหารจัดการไว้ 4 ข้อ คือ 1.ต้องแก้ตรงจุด 2.มีความรวดเร็วทันการณ์ 3.เป็นมาตรการชั่วคราว 4.ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายของเรา คือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร เช่น การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย และภัยแล้ง การอุดหนุนต้นทุนการผลิตในพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินการ เป็นต้น

สำหรับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป มีเป้าหมายเพื่อเร่งการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการท่องเที่ยวในเมืองหลักและเมืองรอง ประโยชน์ตกกับ ร้านค้าชุมชน ผู้ประกอบการรายเล็ก วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรม และกลุ่มภาคบริการอื่นๆ กว่า 1.7 แสนราย ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ขาย รายย่อยกว่าร้อยละ 80

ผลพลอยได้จากมาตรการดังกล่าว นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้กับพ่อค้าแม่ขาย แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะร้านค้าขนาดใดก็ตาม สามารถเชื่อมต่อการค้าขายบนโลกออนไลน์ได้

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ ก็มีการใช้จ่าย “ชิมช้อปใช้” แบบเป็นครอบครัวมากขึ้น พ่อแม่ลูก และคนในครอบครัวได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ดังนั้น “ชิม ช้อป ใช้” จึงไม่ใช่มาตรการการหว่านเงินแบบไร้ทิศทาง แต่เป็นมาตรการที่เกิดผลประโยชน์ทั้งในระบบ เศรษฐกิจ และสังคม

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งใช้ระบบอี-เพย์เมนท์ เป็นการใช้จ่ายเงินผ่านระบบถึงมือของผู้มีสิทธิ์โดยตรง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และขณะนี้กำลังต่อยอด ขยายผลในวงกว้างผ่านการใช้เทคโนโลยีไปสู่ประชาชน

โดยภาครัฐสามารถอาศัยข้อมูลในระบบมาตรการเหล่านี้ มาใช้เพื่อการวิเคราะห์และวางแผนนโยบาย เพื่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีตรงต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่มได้ จึงไม่ใช่การดำเนินการแบบเหวี่ยงแห ไร้ทิศทางเป้าหมาย แต่มีความแม่นยำตรงกลุ่มเป้าหมายมาก

ผมขอเรียนให้ทราบว่า มาตรการด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลจัดทำนั้น เป็นการดูแลเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ภายใต้การปฏิบัติที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านการลงทุนระดับโลก อย่าง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม มาตรการในการจัดทำงบประมาณ ยังมีรายละเอียดอีกมาก มีทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งผมขอพูดถึงในโอกาสต่อไป

ขอบคุณครับ

ที่มา :

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0