โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“อย่าซ่อนข้อเท็จจริงจากประชาชน” เจน ชาญณรงค์ กับม่านฝุ่น PM 2.5

The101.world

เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 18.22 น. • The 101 World
“อย่าซ่อนข้อเท็จจริงจากประชาชน” เจน ชาญณรงค์ กับม่านฝุ่น PM 2.5

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

 

ท่ามกลางความไม่แน่ชัดถึงวิธีจัดการปัญหา ‘ฝุ่น PM 2.5’ จากทางภาครัฐ ความตื่นตัวเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่พยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและกระตุ้นเตือนกันถึงอันตรายและวิธีการป้องกัน จนถึงช่วยกันแจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง

'อากาศสะอาด' ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ในวันนี้ที่เมืองซ่อนตัวอยู่ในม่านขมุกขมัว ผู้คนแย่งกันซื้อเครื่องกรองอากาศ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยยังไม่มีแนวทางแน่ชัดว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เป็นสัญญาณว่าปัญหานี้จะไม่จากเราไปง่ายๆ และจะหวนกลับมาในช่วงเวลาเดิมของทุกปี

ดร.เจน ชาญณรงค์ เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 ในนามของชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งรวบรวมผู้มีความรู้สาขาต่างๆ มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นผ่านเพจฝ่าฝุ่น และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อหวังจะเป็นแนวทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.เจน เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการผลิตที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ แล้วหันไปทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ปัจจุบันทำงานอยู่ในภาคเอกชน

เขาสนใจเรื่องลมฟ้าอากาศและฝุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเจอทุกวันเมื่อครั้งทำสายการบิน แล้วถ่ายทอดความสนใจนี้ให้ออกมาเป็นข้อมูลที่สื่อสารง่ายในเพจฝ่าฝุ่น โดยเรียกตัวเองว่า ‘นักเดาฝุ่น’ จากการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นด้วยข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาที่ให้บริการผ่าน FIRMS ประกอบกับการดูทิศทางลมซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ทั่วไป

สิ่งหนึ่งที่เขาสนใจคือ ‘ไฟป่า’ เพราะเมื่อดูจุดความร้อนที่ปรากฏบนแผนที่ จะพบว่าพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่เกิดในเขตป่า ซึ่งกินบริเวณกว้างและเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ทางชมรมฯ จึงลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงซึ่งเกิดไฟป่าจำนวนมาก และพบว่าการจะแก้ปัญหาได้นั้นต้องทำไปถึงเรื่อง ‘ปากท้อง’ ของชาวบ้าน จึงจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว

 

จุดความร้อนที่ดาวเทียมพบ ช่วงวันที่ 18-24 ม.ค. 2563 ภาพจาก FIRMS

 

ชมรมรวมตัวกันมาทำเรื่องฝุ่นได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 สมเด็จพระเทพฯ ทรงปรารภกับประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลว่า ถึงเวลาที่นักเรียนทุนควรรวมตัวกันแก้ปัญหานี้ให้ประชาชนดู

พวกเราถูกส่งเรียนมา 80 ปี มีผู้จบมาแล้วประมาณ 380 คน ครึ่งหนึ่งเป็นแพทย์ ที่เหลือเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร สัตวแพทย์ มีความรู้สหสาขา ขณะที่ผมสนใจเรื่องนี้อยู่แล้วเพราะอาชีพเก่าของผมคือการทำสายการบินที่บินใกล้ๆ เช่น เชียงใหม่-ปาย พื้นที่ที่บินก็มีแต่ฝุ่นในฤดูแล้ง ผมต้องอยู่กับสภาพอากาศ จึงสนใจเรื่องฝุ่น ลม ฟ้า

ปีที่แล้วผมเห็นว่าสังคมอยู่ในภาวะสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะราชการไปทาง เราไปทาง คำอธิบายก็ไม่มี จึงเห็นว่าสังคมควรรวมตัวทำอะไรสักที สุดท้ายผมเลยรับเป็นประธานอนุกรรมการศึกษาวิจัยฝุ่น PM 2.5 ให้กับชมรม

 

มีคนร่วมทำงานในคณะอนุกรรมการนี้แค่ไหน เป็นในลักษณะอาสาสมัครหรือมีทุนสนับสนุน

ชมรมเราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีเงินก้อนหนึ่งที่ตั้งใจจะใช้ให้เกิดประโยชน์ เราตั้งใจให้ความรู้พื้นฐานเรื่องฝุ่นกับประชาชน จึงทำเพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และเรามีรายการ ‘หนึ่งในพระราชดำริ’ ที่ช่อง 9 เขาเลยมาช่วยรวบรวมคอนเทนต์ในเพจนี้อย่างไม่เป็นทางการ โดยเนื้อหามาจากผู้รับพระราชทานทุนในด้านต่างๆ แบ่งกันเขียนตามสาขาที่ตนเองถนัด จนมีเนื้อหาจัดเรียงได้ถึงปลายปี เช่น ผมจะเขียนเรื่องภูมิอากาศ สภาพอากาศ ผมเป็นนักเดาฝุ่น พยากรณ์ว่าอีก 2-3 วันจะเป็นอย่างไร

กลุ่มที่รวมตัวกันมีประมาณ 20 คน มีแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และไม่ใช่เฉพาะคนในชมรม แต่ยังมีเพื่อนๆ ที่เป็นนักวิชาการ นักประมง นักบริหารทรัพยากรน้ำ ดิน เกษตร ถ้าเรามีโจทย์เฉพาะก็จะติดต่อเขาไป เรารู้สึกว่าต้องตอบแทนประเทศ เราพร้อมจะทำงานฟรีให้นอกเหนือจากงานประจำ ออกไปแก้ปัญหา ไม่คิดค่าแรง นี่คือจุดเริ่มต้น

 

เริ่มต้นทำงานกันอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น

เริ่มจากดูว่าฝุ่นไทยมาจากไหน ตอนแรกสับสนเพราะภาคเหนือมีปัญหาแบบหนึ่ง กรุงเทพฯ ก็อีกเรื่องหนึ่ง จึงไปหาเพื่อนที่เป็นนักวิจัยฝุ่น เรียกว่านัก aerosol คือคนที่ดูอนุภาคในอากาศ เราไปซึมซับความรู้ที่เขามี เขาอาจพูดด้วยภาษาที่ยาก เราก็เอามาแปลให้เข้าใจง่ายและหาหลักฐานจากอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เป็นประโยชน์คือการดูภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงผลให้ดูว่าพื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคนี้อยู่ตรงไหน โดยดูจากเว็บ FIRMS ของนาซาที่เข้าถึงได้ทั่วไป นาซาเขารู้ว่าไฟป่าเป็นปัญหาใหญ่ในโลก เลยเอาข้อมูลดาวเทียมประมวลให้เห็นจุดร้อน และข้อมูลอีกชุดคือการเทียบความชื้นกับจุดข้างๆ จนสรุปได้ว่าตรงไหนที่มีการเผาไหม้จริงๆ โดยปล่อยข้อมูลมาให้ทุกวัน

เมื่อดูข้อมูลช่วงกลางปีที่แล้วจะเห็นว่าพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศไทย เยอะมากในกัมพูชาและพม่า สิ่งแรกที่เริ่มคิดคือฝุ่นส่วนใหญ่ข้ามแดนมา อาจมากถึง 2 ใน 3 ยืนยันกับเพื่อน aerosol แล้วว่าในระยะ 500 กิโลเมตรฝุ่นสามารถข้ามแดนมาสบายๆ ภายใน 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับทิศทางลม การแก้ปัญหาฝุ่นต่างประเทศต้องไปถามผู้นำแต่ละประเทศ ซึ่งไม่ได้แก้ง่ายๆ และอาจจะแย่กว่าไทยอีก

สำหรับในไทยพื้นที่ที่เดือดร้อนที่สุดคือเกิดไฟป่าในเขตอุทยาน เช่น แถวลำพูน-เชียงใหม่มีไฟป่าเป็นผืนนับแสนไร่ แต่เวลาถามหน่วยงานราชการ หน่วยงานหนึ่งจะบอกว่าไฟไหม้ 6 ล้านไร่ อีกหน่วยงานบอกว่าไหม้แค่ 1.6 แสนไร่ มันไม่น่าต่างกันขนาดนั้น

ปีที่แล้วผมเลยขับรถไปที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ขอเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนั้นเดือนกรกฎาคม ไฟหมดแล้ว ป่าฟื้นตัว แต่พบว่าตรงกลางบริเวณที่มีไฟป่ามีหมู่บ้านอยู่ 3 หมู่บ้าน มีคนประมาณ 2,800 คน และพบว่าที่เขาจุดไฟเผากันเพื่อหาเห็ดเผาะ เขาทำเพราะคิดว่าเดี๋ยวอีก 4 เดือนต้นไม้ก็ฟื้นกลับมา นี่คือวิถีชาวบ้าน แต่ไฟที่เขาจุดมันลามไปเป็นแสนเป็นล้านไร่

ผมกลับมาถามคนที่รู้เรื่องเห็ด มีอาจารย์ที่จุฬาฯ บอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องเผาเลย เพียงแต่จะยุ่งยากเวลาหา ถ้าเผาแล้วจะโล่ง จึงเสนอกันในชมรมว่าเราควรเริ่มหัดเพาะเห็ดเผาะดีกว่า

การเผาป่าเพื่อหาเห็ดจะทำให้เชื้อราลดลงทุกปี พอชาวบ้านเห็นว่าป่าโทรมแล้วก็ย้ายไปหาที่อื่น ที่จริงสามารถราดน้ำหัวเชื้อลงไปที่เดิมให้มันสมบูรณ์ขึ้นได้ หรืออีกวิธีคือเราไม่จำเป็นต้องเข้าป่าด้วยซ้ำ ถ้าเราปลูกพวกต้นรัง ต้นตะเคียนได้ ตอนต้นกล้ายังอยู่ในถุงก็เอาเชื้อราใส่เข้าไป เห็ดก็ขึ้นอยู่ในถุงนี้แหละ เดี๋ยวจะเริ่มเวิร์กชอปเรื่องนี้กัน

ตอนนี้เราทดลองตีแปลงเห็ดในอุทยาน เปรียบเทียบระหว่างราดกับไม่ราดเชื้อเห็ด แต่เรายังไม่กล้าทดลองเปรียบเทียบระหว่างเผากับไม่เผา แต่ที่รู้คือความร้อนทำร้ายเชื้อราแน่นอน ไม่ใช่ยิ่งเผายิ่งดี ป่าที่โดนเผามากๆ จึงไม่เหลือเห็ด

ปีที่แล้วชาวบ้านที่อุทยานแม่ปิงหาเห็ดได้ 5 ตัน กิโลกรัมละ 200 บาท รวมเป็นเงิน 1 ล้านบาท แต่เผาป่าไปหลายแสนไร่ ผมเคยคิดในใจว่าเอาเงินไปเลยไหมแล้วไม่ต้องยุ่งกับป่า แต่มันเป็นวิถีของเขา ให้เงินไปเขาก็เผาอยู่ดี มันไม่ไปด้วยกัน อันนี้เป็นโจทย์แรก

ผู้นำชุมชนเขาบอกว่าที่เผาป่าทำเพื่อปากท้อง เพราะไม่มีงานทำกัน แห้งแล้งอยู่ 6 เดือนไม่มีน้ำใช้ ปลูกอะไรก็ไม่ได้

 

จุดความร้อนที่พบในพื้นที่อุทยานแม่ปิง ล้อมรอบ บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

ปกติคนที่นั่นทำอาชีพอะไรกัน

ปลูกข้าวโพดในป่า พอแห้งแล้งจนปลูกอะไรไม่ได้ก็ไปหาของป่า ช่วยให้เขาพอมีกิน เขาบอกว่าถ้ามีอะไรกินก็ไม่อยากเสี่ยงเข้าป่า ชาวบ้านตรงนี้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนภูมิพล เขาอยู่มาก่อนเขื่อนจะสร้างในปี 2505 พอน้ำท่วมหมู่บ้านก็ต้องย้ายขึ้นที่สูง ทั้งที่ควรจะเยียวยาออกเอกสารสิทธิ์ให้เรียบร้อย แต่ไม่ทำ แล้วมาออกกฎหมายอุทยานครอบลงไปอีก พอปลูกต้นไม้ใหญ่ในเขตอุทยานไม่ได้ พวกเขาก็ปลูกได้แต่ข้าวโพด ชาวบ้านน่าสงสารที่สุด ผมไม่ได้โปรชาวบ้านแบบไม่มีเหตุผล การที่เขาจะมีชีวิตรอดได้มันกดดัน รายได้ก็ไม่มี น้ำก็ไม่มี ที่ก็ไม่ให้ ปลูกต้นไม้ใหญ่ก็ไม่ได้ ล่าสัตว์ก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ผิดไปหมด มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ ต้องห้ามกันตลอดเวลา

ปลายปีที่แล้วเพิ่งมีการปรับปรุงกฎหมาย ตัดพื้นที่ตรงนี้ออกจากเขตอุทยาน ให้ชาวบ้านจัดการพื้นที่ตัวเอง เราเลยช่วยกันคิดว่าจะช่วยเรื่องปากท้องเขาได้อย่างไร ถ้าขาดเรื่องน้ำเราก็จะช่วยออกแบบแหล่งน้ำให้ ใช้เทคโนโลยีทำให้เขามีน้ำใช้ในเกษตรกรรมช่วงหน้าแล้ง ถ้าทำตรงนี้สำเร็จ ทำให้ความเป็นอยู่เขาดีขึ้นได้ ที่อื่นก็เอาโมเดลนี้ไปใช้ได้

 

การแก้ปัญหาฝุ่นจากไฟป่า ต้องทำไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่

มันเป็นเรื่องยาก ใช้เวลา คนถึงไม่พยายามทำกันไง เราไปเห็นว่าที่หมู่บ้านในอุทยานแม่ปิงจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ถ้าจัดการน้ำได้ป่าจะกลับมา แล้วเราเอานักเรียนทุนที่ชำนาญเรื่องประมงเข้าไปทำเรื่องการเลี้ยงปลานิลในกระชังที่จะช่วยเรื่องปากท้องของชาวบ้าน

อีกส่วนหนึ่งคือเราไปหาเด็กๆ ที่โรงเรียน สอนเขาว่าฝุ่นสร้างผลกระทบอะไรกับเขาได้บ้าง ผมแจกปฏิทินที่มีโปสเตอร์เรื่องฝุ่นให้ไปติดที่บ้านแล้วคุยกับพ่อแม่ แถมหนังสือเรื่องฝุ่นอีกหนึ่งเล่ม แล้วเราไปติดเครื่องวัดค่าฝุ่นที่โชว์ 3 สีให้ที่โรงเรียน ครูเขาก็คุยกับชุมชนทำธงติดหน้าโรงเรียน สีแดง เหลือง เขียว เปลี่ยนตามสีเครื่องวัด คนในชุมชนก็ขี่มอเตอร์ไซค์มาดูว่าวันนี้สีอะไร เป็นเครื่องวัดฝุ่นที่มีค่าที่สุดที่ผมเห็นเครื่องหนึ่ง ราคาพันกว่าบาทแต่ได้ใช้ทั้งชุมชน ผมเลยคิดว่าที่คนตีกันว่าเครื่องวัดฝุ่นอันนั้นน่าเชื่อถือ อันนี้ไม่น่าเชื่อ ถกกันไปก็เปล่าประโยชน์

ชาวบ้านต้องการรู้แค่ว่ามันอันตรายไหม พอเครื่องนี้มันประจักษ์ ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัว เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยวัดได้ ผมจึงหวังว่าหลายเรื่องที่เราทำจะค่อยๆ ส่งผล

 

น่าประหลาดใจที่ปัญหาเรื่องฝุ่นพาเรามาถึงตรงนี้

ใช่ ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาคลาสสิกของไทย ผมก็คิดว่าในพม่ากับกัมพูชาก็คล้ายกัน สังเกตจากภาพดาวเทียมที่กัมพูชาก็มีไฟไหม้ในเขตป่า แต่ไหม้เฉพาะกลางวัน กลางคืนดับแล้วพรุ่งนี้ไหม้ต่อ ถ้าเป็นไฟป่ามันไม่มีพักหรอก พอซูมเข้าไปจะเห็นว่าพื้นที่นั้นไม่มีต้นไม้แล้ว ของกัมพูชาเป็นปัญหาหนัก

เราเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็ควรจะโวยบ้าง รัฐบาลเราขี้กลัวไม่กล้าเอ่ยถึงเพื่อนบ้านเลย ปีที่แล้วพอพูดถึงกัมพูชา ยืนยันด้วยข้อมูลลมว่าฝุ่นจากกัมพูชามาถึงกรุงเทพฯ รัฐบาลก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆ พอปีนี้เบาลงแล้วก็ยอมรับ ประชาชนต้องช่วยกัน ตอนนี้รัฐไม่ค่อยพูดอะไร เงียบมากเลย

 

 

สาเหตุใหญ่ของฝุ่นที่เกิดในประเทศคือไฟป่า?

พื้นที่มันเยอะเป็นล้านๆ ไร่ ถ้าลดส่วนนี้ได้ภาคเหนือทั้งหมดน่าจะดีขึ้น ไม่นับส่วนที่มาจากพม่า การเผาป่าอย่างนี้ไม่มีความจำเป็น เผาแปลงข้าวยังพอเข้าใจได้และพื้นที่มันเล็กกว่ามาก ต่างจากไฟป่าที่เผาแล้วปล่อยให้ไหม้เป็นเดือน เราต้องช่วยกัน ไม่ใช่บอกแค่ว่านี่เป็นความผิดคุณ แต่น่าโกรธที่มันเงียบมาก เจ้าของพื้นที่ก็บอกว่ามีไฟไหม้น้อยกว่าความเป็นจริงหลายสิบเท่าโดยใช้ตัวเลขตามที่เจ้าหน้าที่บอก เหมือนหลอกประชาชน เรามีเครื่องมือถึงขนาดดูจากดาวเทียมได้ แล้วจะกลับมาใช้วิธีเดินป่าเพื่อบอกว่ามีไฟไหม้กี่ไร่ ผมว่าไม่ค่อยถูกเท่าไหร่

เมื่อเรามีข้อมูลแล้วก็ดูเองและให้ข้อมูลจริงกับประชาชน ปีที่แล้วมีไฟป่าสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 30 วันจากนี้จึงจะเป็นช่วงวัดใจ ผมเองก็พยายามช่วยมอนิเตอร์จุดร้อนในแผนที่ย้อนหลัง 24 ชั่วโมงแล้วแจ้งทางอุทยานแม่ปิง นี่เป็นห้องทดลองของเรา เรามีหน้าที่ต้องป้องกันให้ได้มากที่สุด แต่บางพื้นที่ก็ลำบาก เช่นมีไฟไหม้บนยอดเขาเป็นเดือนไม่มีใครไปดับ แล้วไฟไหม้แสนไร่จะใช้ไม้ตบก็ไม่ได้ ไม่มีเครื่องมือ แต่ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพิ่งได้เฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงมาคู่หนึ่งที่ทำเรื่องซื้อมา 3 ปีแล้ว กำลังซ้อมบินกันอยู่ เขาบอกว่าจะประจำการพร้อมปฏิบัติการเดือนกุมภาพันธ์

ถ้าเรามีเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงเยอะ ก็ไปช่วยกัมพูชาหรือพม่าได้ โดยที่เขาต้องจ่ายเงิน เราเองก็ส่งควันไปให้เขาด้วยเหมือนกัน ทุกคนเผานาหมด ขึ้นอยู่กับใครว่าจะเดือดร้อน เขาก็มีปัญหาเรื่องปากท้องเหมือนเรา ซึ่งแก้ยากและใช้เวลา ที่ทางชมรมไปทำเป็นแค่จุดเดียวของไทย ถ้ามีคนอย่างพวกเรามากขึ้น อุทยานอื่นก็ได้รับการดูแลมากขึ้น

 

นอกจากไฟป่า เรายังมีอีกหลายต้นเหตุที่สร้างฝุ่น

เรื่องเผาอ้อยกับเผาข้าวก็มีไม่ใช่น้อย แต่ในภาพรวมน้อยกว่าไฟป่า ทั้งอ้อยและข้าวจะแก้ได้คือลงทุนส่งรถตัดเข้าไป คันหนึ่งเป็นสิบล้านก็ต้องจ่ายบ้าง ไม่ใช่เรียกร้องกันแล้วไม่จ่ายสักบาท จะโอเคไหมถ้าเราจะซื้ออ้อยและข้าวแพงขึ้นนิดเดียว แล้วเอาภาษีส่วนนี้ไปซื้อรถให้เรียบร้อย เพื่อให้มีอากาศสะอาด

ในต่างประเทศไม่มีปัญหานี้เพราะเขามีกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งทำให้คนมีต้นทุนเพิ่ม อย่างรถเก่าก็อาจจะใช้ไม่ได้ ทุกคนมีต้นทุน ชาวนาก็จะมีต้นทุน แล้วต้นทุนนั้นก็กลับมาหาผู้บริโภคอยู่ดี ซึ่งผมคิดว่าคุ้ม เพราะต้นทุนสุขภาพมันแพงมาก

ฝุ่นขนาด PM 10 ลงมาถึง 2.5 จะเข้าไปติดถึงประมาณขั้วปอด ที่อันตรายคือฝุ่นที่มีขนาดต่ำกว่า 2.5 เช่น PM 0.1 ที่ไปอยู่ในถุงลม ซึมผ่านเนื้อเยื่อไปในเลือด ไปถึงไต สมอง และหัวใจ ที่อาจทำให้เกิดหัวใจวายหรือสมองขาดเลือดได้ เขาบอกว่าทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อค่าเฉลี่ยต่อ 24 ชั่วโมง จะทำให้คนป่วยเพิ่มขึ้น 8-13% เช่นถ้าฝุ่นเพิ่มขึ้นจาก 50 เป็น 60 จะมีคนป่วยเพิ่มขึ้นอีก 12% ภรรยาผมที่เป็นแพทย์บอกว่าถ้าฝุ่นเพิ่มขึ้นที่โรงพยาบาลก็เตรียมรับมือได้เลย

สิ่งเหล่านี้เพิ่มต้นทุนทางสังคมให้สูง จึงบอกว่าถ้าต้องซื้อรถตัดอ้อย 5 หมื่นล้านบาท หรือเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงลำละพันล้าน ก็ซื้อเถอะ ค่าเสียหายทางสุขภาพมีค่าเป็นแสนล้าน แล้วถ้ามีคนป่วยคนหนึ่งเป็นอัมพาต ต้นทุนของครอบครัวก็จะเยอะมาก

เรื่องสิ่งแวดล้อมกระทบทุกคน อากาศก็ใช้หายใจกันทุกคน ไม่ว่ายากมีดีจน แล้วมันเคลื่อนที่ได้ตามลม ก็กระทบทั้งชาติเราและชาติเพื่อนบ้าน จึงต้องช่วยไปด้วยกัน

สิ่งที่ชมรมพยายามทำคือไฟป่า เพราะมันลึกลับซับซ้อน ไม่มีใครพูดจริง แล้วมันมีเยอะ เราจึงทำออกมาเป็นโมเดลให้ดูว่าถ้าจะแก้เรื่องไฟป่าที่ปลายเหตุก็ไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง แต่ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุ ต้องแก้ที่คน แก้เรื่องปากท้องให้เขา คนไม่อยากทำกันเพราะมันยาก ถ้ามัวแต่วัดฝุ่นวัดลม ฝุ่นมันก็จะมาทุกปี

 

เพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ เน้นเรื่องการให้ข้อมูล-ข้อเท็จจริง คิดว่าตอนนี้ในปัญหาฝุ่นมีเรื่องอะไรที่คนไทยยังเข้าใจผิดกันอยู่

ไม่มี แต่ผมคิดว่ารัฐบาลเงียบเกินไป อย่างปัญหาฝุ่นของกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเมืองอื่น กรุงเทพฯ มีรถยนต์ติดเครื่องเผาเชื้อเพลิงอยู่ 8 ล้านคันทุกวัน หน้าฝนไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ในทุกวันเรามีจะมีฝุ่นอยู่ในปริมาณหนึ่งแล้วระบายออกไป ถ้าอากาศระบายไม่ได้ฝุ่นก็จะสูงหน่อย แต่พอมีฝุ่นชีวมวลที่ลมพัดมาจากภาคกลางหรืออีสาน จะทำให้กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบสูงขึ้น เราจึงต้องแก้ฝุ่นจากชีวมวลก่อน ส่วนฝุ่นจากต่างประเทศอาจต้องยกไปก่อน

กรุงเทพฯ ต้องใช้รถน้อยลง แต่ถ้าอยู่ดีๆ มาห้ามรถวิ่งมันจะยุ่ง เรามีรถเยอะเกินไปสำหรับเมือง ถ้าอยากได้อากาศสะอาดคุณต้องเสียอะไรบางอย่าง เช่น เสียความสะดวกสบาย คนจะนั่งรถใต้ดินกันมากขึ้นเมื่อพร้อม

 

 

*หลายคนยกแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นจากต่างประเทศ เช่น ลดชั่วโมงการผลิตของโรงงาน ห้ามรถเก่าวิ่ง ปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน คิดว่าจำเป็นสำหรับประเทศไทยไหม และจะเป็นไปได้ไหมหากมันกระทบเศรษฐกิจ *

เฉพาะในกรุงเทพฯ วันที่ไม่ใช่หน้าแล้ง ไม่มีการเผาชีวมวล เราก็ยังอยู่ได้ ในมุมมองของผมซึ่งบางคนอาจจะไม่ค่อยถูกใจ ผมคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่อากาศดีพอสมควร ในภาวะปกติที่ไม่มีฝุ่นชีวมวลเข้ามามันก็ไม่แย่ เราโชคดีมากที่อยู่ติดทะเล หลังกุมภาพันธ์จะมีลมเข้าอ่าวไทยแล้ววิ่งขึ้นเหนือโดยเอาความชื้นมาด้วย พอปะทะกับลมเหนือหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือที่เย็นจะเกิดหมอก ถ้าชนกันมากเข้าจะตกเป็นฝน เวลาเห็นหมอกสีขาวก็อย่ากลัว มันคือเม็ดน้ำ ละอองน้ำ ที่จะดูดฝุ่นเข้าไปเก็บ แต่หมอกสีน้ำตาลน่ากลัว

ผมดูลมจากwindy.com พยากรณ์ไปข้างหน้า 15 วัน ใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อยู่แล้ว แต่ประเทศเรากลับไม่ใช้ประโยชน์จากมัน ผมแค่มาสรุปให้ฟังว่าเกิดอะไร โดยที่รัฐบาลก็เงียบเกินไป อย่ารอชี้หน้าว่าความผิดลุงตู่ เราทำอะไรได้ก็ช่วยกันดีกว่า อยากพยากรณ์อากาศก็ทำเอง แล้วคิดเงินได้แต่อย่าแพงนัก จะได้ไม่ต้องไปรอดูพยากรณ์ที่บอกแค่ว่าภาคกลางโอกาสฝนตก 20% สมมติว่าให้จ่ายเงินเดือนละ 5 บาทแล้วรู้ว่าฝนจะตกหน้าออฟฟิศไหม แล้วจะหยุดเมื่อไหร่ หรือบอกได้ว่าอีก 5 นาทีฝนจะตกที่สีลม อย่าเพิ่งออกรถให้นอนเล่นไปก่อน ข้อมูลพวกนี้มีทุกอย่างแต่ไม่มีใครแปล

 

สิ่งที่เราขาดตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร

ความรู้ การสื่อสาร การยอมรับความจริง และการมีส่วนร่วมของทุกคน ตอนนี้เหมือนทุกคนกำลังชี้นิ้ว ทั้งที่ควรคิดว่ามาลงมือทำกันเถอะ แล้วมองโลกในแง่บวก เหมือนโฆษณาที่รถบัสไหลลงเขา ทุกคนก็โวยวาย แทนที่จะมาช่วยกันเข็นรถ

ไฟป่าเป็นเรื่องลึกลับแต่เราควรทำให้มันโปร่งใส ไม่ได้จะโทษว่าเป็นความผิดใคร แต่อย่าซ่อนข้อเท็จจริงจากประชาชน เราต้องหันหน้ามาช่วยกันแก้

 

โครงการที่ทางชมรมไปทำที่อุทยานแม่ปิง คิดว่าน่าจะเป็นโมเดลให้ที่อื่นเอาไปใช้ต่อได้?

ใช่ แค่การไม่เผาป่าเพื่อเก็บเห็ดก็ช่วยได้เยอะแล้ว ส่วนเรื่องปากท้อง สำคัญที่การบริหารจัดการแหล่งน้ำ ชุมชนที่เราไปดูมีน้ำมาจากสันปันน้ำคือยอดเขา ผ่านพื้นที่อุทยาน มีลำห้วยสาขาเหมือนรากต้นไม้มาสู่หมู่บ้าน แล้วลงอ่างน้ำด้านล่าง จะเอากลับขึ้นมาก็ยาก ปัญหาตอนนี้คือไม่มีใครชะลอน้ำ เรามีศาสตร์พระราชาคือฝายแม้ว ฝายชะลอน้ำ ที่ควรจะทำตั้งแต่ยอดเขาให้น้ำลงมาช้า ไม่เอาตะกอนมา หมู่บ้านจะได้มีห้วยที่มีน้ำใสตลอดปี ถ้ามีน้ำก็จะมีพืชผัก น้ำคือชีวิต ศาสตร์พวกนี้มีครบหมดแล้วจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เราไม่ได้ทำอะไรใหม่เลย พันธุ์ปลาที่ใช้ก็คือปลานิล เราเริ่มเอานักวิชาการประมงเข้าไปดูว่าทำอย่างไรจึงจะมีโปรตีนกินโดยไม่ต้องลงทุนมาก คำตอบคือปลานิล ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จักปลาตัวอื่น แต่เรามีพระราชาที่มีความรู้สูงมาก

สิ่งที่พวกเราทำคือการเข้ามาช่วยประสาน ชาวบ้านอยากได้อะไรเราก็มาดูแง่วิชาการแล้วไปหาราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ใช้เงินเยอะ แค่เดินทางไป คุยทั้งกับราชการและชาวบ้านเดี๋ยวก็จับแพะชนแกะได้

ในวันนี้ไม่มีใครทำให้แล้ว อยู่ที่มือของประชาชน อย่ากลัวที่จะต้องเริ่มต้นอะไร อย่าชี้นิ้วว่าเป็นความผิดใคร พอคนมาช่วยกันเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0