โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“อมรินทร์” โชว์กำไรรอบ 4 ปี เปิดโมเดลรอด! ยุคสิ่งพิมพ์ทรุด-ทีวีแข่งเดือด

Positioningmag

อัพเดต 22 ก.พ. 2562 เวลา 13.32 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 13.07 น.

เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสื่อ “สิ่งพิมพ์” ที่ขยายตัวสู่ธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” และต้องเผชิญสถานการณ์ “ขาดทุน” นับจากปี 2557  หลังปรับโครงสร้างดึงทุนใหญ่ “ไทยเบฟ” เข้ามาร่วมถือหุ้น 47% ช่วงปลายปี 2559 เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย มาวันนี้ “อมรินทร์” ก้าวขึ้นมาอยู่ในฝั่ง “ผู้รอด” กลับมาโชว์ตัวเลข “กำไร” อีกครั้งในปี 2561  

บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการปี 2561 มีรายได้รวม 3,526 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 57%  กำไร 174  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 206% เป็นการกลับมา “กำไร” ครั้งแรกหลังยุคทีวีดิจิทัล  มาย้อนดูรายได้กลุ่มอมรินทร์ ตั้งแต่เริ่มธุรกิจทีวีดิจิทัล

  • ปี 2557 รายได้ 1,913 ล้านบาท  ขาดทุน 87 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 2,003 ล้านบาท  ขาดทุน 417 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 1,945 ล้านบาท  ขาดทุน 628 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 2,237 ล้านบาท  ขาดทุน 163 ล้านบาท

“ทีวีดิจิทัล” ปีนี้กำไร

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการบริษัทในปี 2561 กลับมาเติบโตและทำกำไรอีกครั้งมาจาก รายได้ “ทีวีดิจิทัล” ช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี 34 เติบโต 84% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากรายการที่มีเรตติ้งเพิ่มขึ้น ทำให้ปี 2561 อมรินทร์ทีวี อยู่อันดับ 8 เรตติ้ง 0.3  ปีที่ผ่านมาจึงปรับราคาโฆษณาขึ้น 20-30%

ปี 2562 ใช้งบลงทุน 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ลงทุนคอนเทนต์ราว 200-300 ล้านบาท เพื่อผลิตรายการ กลุ่มบันเทิงเพิ่มเติม โดยร่วมกับ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ มีรายการเกมโชว์ใหม่ รวมทั้งจ้าง Change 2561 โดย “ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ผลิตละคร 2 เรื่องในปีนี้  เพื่อขยายฐานผู้ชมกลุ่มแมส  และเพิ่มคอนเทนต์กีฬา ซึ่งไทยเบฟ เป็นผู้สนับสนุนหลายประเภท เริ่มที่รายการมวย 

คอนเทนต์ใหม่ที่เข้ามาเพิ่มในปีนี้  จะช่วยเสริมจุดแข็งด้าน Lifestyle Entertainment เดิมของอมรินทร์ทีวี ที่มีฐานผู้ชมกรุงเทพฯและหัวเมืองเป็นหลัก พร้อมทั้งเปิดตัว แอปพลิเคชั่น ทีวี “34 HD” เพื่อดึงผู้ชมทีวีให้อยู่กับช่องอมริทร์ให้นานขึ้น  และขยายผู้ชมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูคอนเทนต์ทีวีผ่านสมาร์ทดีไวซ์ที่สะดวก  

ปี 2561 ธุรกิจทีวี มีรายได้ราว 800 ล้านบาท ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่ขาดทุน แม้ภาพรวมอมรินทร์ จะกลับมาทำกำไร  ด้วยเรตติ้งที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้น่าจะทำเรตติ้งได้ 0.45 อยู่ในกลุ่มท็อปเทน และครึ่งปีหลังอาจพิจารณาเรื่องปรับขึ้นราคาโฆษณา  ปี 2562 จึงตั้งเป้าหมายรายได้ทีวีอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทและมีกำไรเป็นปีแรก

“ทีวีดิจิทัลยังคงเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่การปรับตัวของอมรินทร์ทั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้น คอนเทนต์และดิจิทัล แพลตฟอร์ม วันนี้เราเลือดหยุดไหลแล้ว ปีนี้จะเป็นปีที่ทีวีดิจิทัลทำกำไร”

“นิตยสาร” ยังไปต่อ

สำหรับธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะ “นิตยสาร” ที่ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าสื่ออื่นๆ  ปี 2561 นีลเส็น รายงานมูลค่าอยู่ที่ 1,315 ล้านบาท ติดลบ33% จากปีก่อน และคาดการณ์ปีนี้ยังคงถดถอยอย่างมากต่อไป

ระริน บอกว่าที่ผ่านมาธุรกิจ “นิตยสาร” ของอมรินทร์  ซึ่งปัจจุบันมี 8 หัว คือ บ้านและสวน, แพรว, สุดสัปดาห์, แพรว เวดดิ้ง, ชีวจิต  Room , Amarin Baby&Kids และ National Geographic อยู่ในภาวะ “ทรงตัว” แม้ไม่เติบโตเหมือนอดีต แต่เรียกว่ายังอยู่ได้ ขณะที่ภาพรวมนิตยสารถดถอยอย่างมาก ปัจจุบันนิตยสารยังตอบโจทย์การโฆษณาของกลุ่มสินค้าลักชัวรี และผู้อ่านเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

ที่ผ่านมาอมรินทร์ ปรับตัวการทำสื่อนิตยสารมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ นิตยสารทุกหัว มีเว็บไซต์และสื่อโซเชียลเป็นช่องทางสื่อสารและนำเสนอคอนเทนท์  เว็บไซต์ “บ้านและสวน” เปิดมาแล้วกว่า 10 ปี 

“การปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ของนิตยสารในเครืออมรินทร์ ปัจจุบันบางฉบับมีรายได้จากออนไลน์ใกล้เคียงรายได้แบบรูปเล่มแล้ว”

นอกจากนี้ในเดือนเมษายนนี้  เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ Amarin Writer เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเป็น Online Content Creator กับอมรินทร์  เพื่อนำเสนอผ่านเว็บไซต์ทุกแบรนด์นิตยสารของอมรินทร์ โดยจะมีบรรณาธิการ ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ หากได้รับการเผยแพร่ผู้เขียนจะได้รับค่าตอบแทนการเขียนเรื่อง  ถือป็นการเพิ่มคอนเทนต์ที่หลากหลายให้ผู้อ่าน และเป็นการเพิ่มทราฟฟิคผู้อ่านให้สื่อออนไลน์ของบริษัท วางเป้าหมายเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้  

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี ดิสรัปชั่นในสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มีนิตยสาร ทยอยปิดตัวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เครืออมรินทร์ ถือเป็นผู้ประกอบการที่ยังอยู่รอดได้และมีนิตยสารในเครือมากที่สุด แต่ ระริน  มองว่าในธุรกิจที่มีคู่แข่งขันน้อยราย ไม่ได้ส่งผลดี การมีคู่แข่งจะช่วยกันกระตุ้นตลาดให้เติบโตได้  จะเห็นได้ว่ามูลค่าโฆษณานิตยสารที่หดตัวลง มาจากผู้เล่นที่หายไปจากตลาดนั่นเอง          

เปิดแพลตฟอร์ม UGC

สำหรับธุรกิจ “หนังสือเล่ม” ทั้งส่วนสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์และการจัดจำหน่ายยังคงเติบโตได้ โดยไตรมาส 3 ปี 2561 บริษัทได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ในบริษัทอมรินทร์บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ได้แก่นิตยสารหนังสือเล่มและสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมถือหุ้น 19% เป็น 100% ส่งผลให้รายได้จากการจัดจำหน่ายนิตยสารและหนังสือเล่มเพิ่มขึ้น 145% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หนังสือเล่มยังคงเติบโตได้ 16%

ในสายงานจัดจำหน่ายอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ ปี 2562 ได้ขยายตลาดหนังสือเพิ่มเติม คือ หนังสือแบบเรียนตั้งเป้ารายได้ 200 ล้านบาทใน 3 ปี

ปีนี้ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม User-generated content (UGC) เว็บไซต์  Mareads.com ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเขียนและอ่านนิยายออนไลน์และสามารถสั่งพิมพ์ Print on Demand ได้ ซึ่งในฝั่งของ “นักเขียน” จะมีความสะดวกในการสั่งพิมพ์กับโรงพิมพ์ของอมรินทร์ได้ทันที  การเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวเนื่องจากเห็นแนวโน้มการเติบโตของทั้งนักเขียนและนักอ่านนิยายออนไลน์ ที่แต่ละแพลตฟอร์มมีผู้อ่านหลักล้านคน

ระริน กล่าวว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงคือ *“สื่อออนไลน์” *จากรายได้โฆษณาและรับจ้างผลิตงานดิจิทัล ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 95%  โดยทราฟฟิคเพิ่มขึ้น 52 % จากกลุ่มแบรนด์นิตยสาร Living , ไลฟ์สไตล์และ สุขภาพ  มียอด Reach ลูกค้าต่อเดือนอยู่ที่ 130 ล้าน ในปีนี้ตั้งเป้าทราฟฟิคเติบโต 100%

ขณะที่ธุรกิจงานแฟร์เพิ่มขึ้น 12%  ปีก่อนได้เพิ่ม 3 งานแฟร์ใหม่ ได้แก่ บ้านและสวน Select, กินดีอยู่ดี และ นายอินทร์สนามอ่านเล่น  ปัจจุบันมีงานแฟร์ปีละ 20  งาน

ทางรอด“ออมนิ มีเดีย”

การปรับตัวของอมรินทร์ที่ผ่านมาที่ธุรกิจทั้งสิ่งพิมพ์และทีวีสามารถเติบโตได้ อยู่ภายใต้กลยุทธ์  Omni Media  จากการผนึกกำลังของทุกสื่อในเครือ ทั้ง On Print นิตยสารและหนังสือเล่ม, Online สื่อบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย, On Shop ร้านนายอินทร์,  On Air  ทีวีดิจิทัล ช่องอมรินทร์ทีวี และ On Ground งานแฟร์และกิจกรรมต่างๆ เมื่อผนวกร่วมกันแล้ว ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งและเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะใช้ในการเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป  

ปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้สื่อกับเครืออมรินทร์ จะซื้อสื่อเป็นแพ็คเกจครอบคลุมทุกช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้  โดยปีนี้ได้ขยายธุรกิจ “มีเดีย คอมเมิร์ช” เพิ่มเติมด้วยการเปิดตัวรายการ Amarin Shopping ทางช่องอมรินทร์ทีวี ปัจจุบันนำเสนอรายการวันละ 1 ชั่วโมง และจะขยายเพิ่มอีกในไตรมาส 2  และกลางปีนี้ได้เตรียมเปิดตัวตัวแพลตฟอร์ม เว็บไซต์  Amvata.com รูปแบบมาร์เก็ตเพลส ที่จะเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าอยู่ในทุกสื่อของเครืออมรินทร์

การเดินหน้าสู่ “ออมนิ มีเดีย” ของกลุ่มอมรินทร์ เพื่อตอบโจทย์ Amarin Eco-system ดึงผู้บริโภคให้อยู่กับสื่อและคอนเทนต์ของอมรินทร์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ครอบคลุมทุกช่องทางและไปจบด้วยการซื้อสินค้าผ่านมีเดีย คอมเมิร์ซในทุกสื่อ เพื่อทำให้ อมรินทร์ เป็นตัวเลือกในการใช้สื่อโฆษณาของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นช่องทางปิดการขายภายใต้แพลตฟอร์มเดียว

ปีนี้จึงมั่นใจว่ารายได้ อมรินทร์ ยังเติบโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 40%

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0