โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“อภิสิทธิ์” แนะรัฐโยกงบ 63 สู้โควิด เพิ่มชุดตรวจให้มากพอ กู้ศรัทธาประชาชน

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.07 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.07 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

“อภิสิทธิ์” แนะรัฐบาลคุมเข้มระยะห่างทางสังคม พ่วงเพิ่มชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ให้มากพอ แนะ โยกงบประมาณปี 63 มาสู้วิกฤติ ชงจับมือฝ่ายค้านเร่งแก้ปัญหา กู้ศรัทธาประชาชน

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 2 เม.ย. 2563 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อคิดเกี่ยวกับวิกฤติโควิด-19 ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva ว่า มีหลายคนอยากให้แสดงทัศนะต่อปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นในทางสาธารณะ ไม่ใช่เพราะไม่ห่วงใยกับสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่เลือกให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวกับหลายฝ่ายที่ประสงค์จะได้รับข้อคิดจากตนเอง ที่สำคัญ เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อนและความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังมีจำกัด ทุกฝ่ายจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจความยากลำบากของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ จึงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะต่อมาตรการต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว และดูจะตั้งหลักได้ทั้งในการกำหนดมาตรการต่างๆ รวมถึงการสื่อสารที่เป็นเอกภาพมากขึ้น จึงขอถ่ายทอดความคิดในประเด็นหลักๆ ในภาพรวม 9 ข้อ โดยสรุปดังนี้ ว่า

ตราบใดที่ปัญหาด้านสาธารณสุขไม่คลี่คลายไปอย่างชัดเจน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะผลกระทบต่อฝ่ายต่างๆ และการขาดความเชื่อมั่นจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไม่ได้ ในทางกลับกันหากไม่มีมาตรการทางด้านเศรษฐกิจรองรับที่ดีพอปัญหาด้านสาธารณสุขก็จะจัดการไม่ได้ การทำงานของทั้งฝ่ายเศรษฐกิจและฝ่ายสาธารณสุขจึงต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดโดยมีเป้าหมายเดียว คือ การสร้างสุขภาวะให้กับสังคมและประชาชน ซึ่งสถานการณ์ของไทยในขนาดนี้คล้ายๆ กับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ ไม่เลวร้ายเท่ากับจีนเมื่อต้นปี หรือโลกตะวันตกในปัจจุบัน เป็นผลมาจากความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ขณะเดียวกันเราก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการติดเชื้อที่เติบโตขึ้นประมาณวันละร้อยกว่าคนได้ นอกจากนี้ มีข้อเท็จจริงที่เราต้องตระหนักคือจำนวนคนที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ในไทยถือว่าน้อยมากและยังมียอดสะสมจำนวนที่รอผลการตรวจมากพอสมควร การที่เราเลือกตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการ บ่งบอกว่าเราน่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการและไม่ถูกยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อประมาณ 4 เท่าของจำนวนที่รายงานในปัจจุบัน ซึ่งคนเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้

ดังนั้น มาตรการจัดระยะห่างทางสังคมจึงยังต้องดำเนินต่อไปด้วยความเข้มงวดกวดขันมากขึ้น ขณะที่การลงทุนที่เร่งด่วนที่สุดคือ ความพร้อมของระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมห้องดูแลผู้ป่วยหนัก เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เวชภัณฑ์ สถานที่กักกันสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือผู้ที่ต้องได้รับการเฝ้าดูอาการ บุคลากรและอาสาสมัครที่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ โดยการยกเว้นภาษี เร่งรัดขั้นตอนการนำเข้าและการอนุญาตหรือแม้แต่สร้างมาตรการจูงใจให้เกิดการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น และที่เร่งด่วนที่สุดคือ “การจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ให้มากพอที่จะนำไปสู่การสุ่มตรวจประชากรที่ไม่มีอาการได้อย่างกว้างขวาง” จะให้การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลับไปสู่ภาวะปกติจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจอย่างกว้างขวางเพื่อนำไปสู่การแยกตัวของผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องทุ่มกำลังทางด้านงบประมาณไปสู่การช่วยเหลือให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถที่จะอยู่รอดได้ทางเศรษฐกิจ มาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันต้องให้มั่นใจว่าเกิดความครอบคลุม น่าจะเริ่มปรับระบบการช่วยเหลือทั้งหมดเข้าสู่หลักการการประกันรายได้ให้คนไทยทุกคนเพื่อให้การสนับสนุนของรัฐบาลนั้นไม่ลักลั่น ตกหล่น หรือซ้ำซ้อน นอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนแล้วยังต้องมีเป้าหมายในการช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้

“สำหรับแหล่งเงินที่จะต้องใช้ ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอ จึงควรเร่งการสร้างความมั่นใจด้วยการแสดงแหล่งที่มาของเงิน เริ่มต้นจากการปรับลดงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 ทั้งหมดที่ไม่สามารถใช้ได้ตามปกติในช่วง 6 เดือนที่เหลือ แล้วออกกฎหมายโอนมาเป็นงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 เป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากจะได้เงินหลายแสนล้านบาทจากตรงนี้แล้วยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนมองเห็นว่าทุกกระทรวงและหน่วยราชการตระหนักถึงความจำเป็นในการบริหารเงินในยามวิกฤติได้เป็นอย่างดี หากจำนวนเงินไม่พอจึงจะใช้วิธีการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้มากพอสมควร”

นอกจากนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณและการกู้เงินนั้น หากนายกรัฐมนตรีจะเชิญผู้นำฝ่ายค้านปรึกษาหารือเป็นพิเศษและสามารถนำไปสู่ความร่วมมือของรัฐบาลและฝ่ายค้านในการอนุมัติเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาแล้วยังจะช่วยให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบการเมืองการบริหารของประเทศมากขึ้น แม้ช่วงนี้จะมีอำนาจพิเศษแต่ก็ต้องไม่ปิดกั้นการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรทำทุกเรื่องอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ให้เกิดความโปร่งใส

“เมื่อวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป กลไกและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนการใช้ชีวิตของผู้คนคงไม่กลับไปเหมือนเดิม รัฐบาลควรจัดให้มีการศึกษาถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประเทศไทยและคนไทยต่อไป ท้ายที่สุดนี้ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ต้องเสียสละและเผชิญความเสี่ยงเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ และหวังว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้ประเทศของเราฝันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้”.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0