โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“หมอมานพ” ชวนค้นความจริง”มะกัน”โควิดระบาดขั้นเลวร้ายสุด”หนัก”แค่ไหน !!

อินโฟเควสท์

อัพเดต 15 ก.ค. 2563 เวลา 07.53 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 07.53 น. • สำนักข่าวอินโฟเควสท์

สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศสหรัฐฯตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ก.ค.63 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯพุ่งขึ้นวันเดียว 71,787 คนต่อวันนับเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

https://youtu.be/yILHl02Fqvo

ส่งผลให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมรวมกันมากกว่า 3,350,000 ราย และเสียชีวิตเกือบ 140,000 ราย คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 รวมกันทั่วโลกที่มีจำนวนเกือบ 570,000 ราย

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปและผู้นำประเทศไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นกรณีเลวร้ายที่สุดเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วมีโอกาสที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นทุบสถิติใหม่แตะวันละ 1 แสนคนภายในเดือน ส.ค.63

สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯมีความพิเศษมากกว่าประเทศอื่น คือ ลักษณะการปกครองกระจายอำนาจให้กับผู้นำรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ โดยรัฐบาลกลางไม่ได้เข้าไปใช้มาตรการลงลึกในรายละเอียดแนวทางป้องกันการแพร่ระบาด ดังนั้น การใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นสิทธิตัดสินใจของผู้นำแต่ละรัฐ และเมื่อสถานการณ์ได้กระจายระบาดเป็นวงกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือนโยบายบริหารของแต่รัฐเข้มข้นไม่เหมือนกันทำให้การป้องกันดำเนินการได้ไม่ดีเท่าที่ควร

จากจุดเริ่มต้นการระบาดแค่บางโซนแถบรัฐนิวยอร์ก และนิวเจอร์ซีย์ ที่มีประชากรหนานแน่น เมื่อเกิดการระบาดกระจายเข้าสู่ในรัฐอื่นๆ ก็พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวที่มีค่าเฉลี่ยอายุน้อยลงมาเรื่อยๆ เป็นสิ่งสะท้อนพฤติกรรมของชาวอเมริกันวัยหนุ่มสาวที่ไม่ได้ป้องกันตัวเองเพราะคิดว่าไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แตกต่างกับกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มความระมัดระวังตัวเองอย่างมาก

ขณะเดียวกันเมื่อก่อนมีความเชื่อว่าคนที่มีอายุน้อยมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ "ต่อไปอาจไม่จริง" เพราะปัจจุบันผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีค่าเฉลี่ยอายุลดลงประกอบกับข้อมูลทางการแพทย์ก็พิสูจน์แล้วว่าคนที่อายุน้อยก็สามารถเสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ได้เช่นกัน

"ถ้าย้อนมองพฤติกรรมของคนแถบเอเชียจะสังเกตว่าจะใช้หน้ากากอนามัยกันเป็นปกติ และใช้มาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing ตามหลักสุขภาพสาธารณะ แต่คนอเมริกันเขาไม่ทำกัน เป็นเหตุผลหลักที่เกิดการระบาดเชื้ออย่างรวดเร็ว ขณะที่คนที่อายุน้อยคิดว่าไม่เป็นไรก็เดินทางไปในหลายๆสถานที่ ยิ่งเป็นพาหะนำเชื้อไปแพร่กระจายในสถานที่อื่นๆด้วย เชื่อว่าปัญหาที่ตามมาคือจำนวนผู้ป่วยโรงพยาบาลล้นและอาจทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากในอนาคต"

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก เบื้องต้นมองว่าเกิดจากนโยบายของผู้นำแต่ละประเทศว่าจะใช้มาตรการเข้มข้นควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สิ่งที่เห็นคือหลายประเทศแถบภูมิภาคเอเชียพบว่าผู้นำแต่ละประเทศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ส่วนประเทศแถบยุโรปแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่สถานการณ์ในปัจจุบันก็สามารถพลิกกลับมาควบคุมได้ดีขึ้น

ส่วนอีกหลายประเทศก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ สหรัฐและอีกหลายประเทศโซนอเมริกาใต้ เป็นต้น จะส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อระบบสุขภาพของประชากรในประเทศ และลุกลามมายังระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับกับจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นมีโอกาสที่จะเห็นผู้ป่วยที่อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

"แม้เราจะมีความเชื่อว่าสภาพอากาศร้อนสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะก่อนหน้านี้การระบาดหนักในสหรัฐและยุโรปเกิดขึ้นจากสภาพอากาศหนาว แต่เมื่อไปพิจารณาสภาพอากาศสหรัฐฯในปัจจุบันก็มีสภาพอากาศที่ร้อนขณะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งยืนยันว่าสภาพอากาศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศจะมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 4-5 ปีเชื้อโควิด-19 ลดการแพร่กระจาย แม้ว่าจะไม่ได้หายไปจากโลกนี้ แต่มีโอกาสหวนกลับมาระบาดเป็นรอบฤดูเหมือนกับระบาดโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น"

ศ.นพ.มานพ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระแสข่าวการทดลองวัคซีนเพื่อรักษาเชื้อโควิด-19 แม้จะได้ผลสำเร็จบ้างแล้วในระดับหนึ่ง แต่อยากให้อิงข้อมูลที่แท้จริงคือโดยปกติแล้วโอกาสที่คิดค้นวัคซีนสำเร็จมีความเป็นไปได้เพียง 5% หรือน้อยกว่านั้น และส่วนใหญ่ใช้เวลานานตามสถิติแล้วพบว่าวัคซีนที่ใช้เวลาคิดค้นสำเร็จได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ใช้ระยะเวลา 4-5 ปี ขณะที่วัคซีนส่วนใหญ่ที่คิดค้นกันกว่าจะสำเร็จต้องใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปี

แต่ต้องยอมรับว่าการระบาดเชื้อโควิด-19 นับเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ทำให้กระบวนการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างเร็วมาก เพราะเพียงแค่ 6 เดือนก็มีผู้ที่คิดค้นพัฒนาวัคซีนที่เป็นต้นแบบได้ถึงหลักร้อยกว่าชนิด ดังนั้นเมื่อนำไปเทียบกับสถิติแล้วการคิดค้นพัฒนาวัคซีนได้เป็นผลสำเร็จอาจไม่ถึง 5% แต่วันนี้ทั่วโลกมีต้นแบบเป็นหลักร้อยชนิดจึงมีโอกาสที่ต้นแบบวัคซีนอาจมีสัก 1-2 ชนิดก็ได้ที่สามารถรักษาเชื้อโควิด-19 ได้ผลอย่างแท้จริง เบื้องต้นก็คาดหวังว่ามีความชัดเจนวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ได้ภายในปี 64

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 63)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0