โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“สุริยะ”สั่งแก้ปัญหา PM 2.5 เข้มโรงงานปล่อยมลพิษ

สยามรัฐ

อัพเดต 22 ม.ค. 2563 เวลา 05.30 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 05.30 น. • สยามรัฐออนไลน์
“สุริยะ”สั่งแก้ปัญหา PM 2.5 เข้มโรงงานปล่อยมลพิษ

“สุริยะ”สั่งการเร่งแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 ขอโรงงานลดกำลังการผลิต ควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากการประกอบกิจการ พร้อมให้หน่วยงานกำหนดมาตรการ-ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละออง

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการในการควบคุม และป้องกันการเกิดปัญหาคุณภาพอากาศมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบ กำหนดมาตรการ และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดหรือลดปัญหาฝุ่นละอองที่มีสาเหตุจากกระบวนการอุตสาหกรรมและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในการลดกำลังการผลิตลงด้วย โดยเบื้องต้นได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดให้ออกมาตรการบรรเทาปัญหา

โดยการกำกับดูแลสถานประกอบการอุตสาหกรรมมีมาตรการดังนี้ 1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในการลดกำลังการผลิต ควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากการประกอบกิจการ และขอความร่วมมือโรงงานที่ติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ (CEMS) ที่อยู่นอกพื้นที่บังคับใช้ตามกฎหมายให้เชื่อมต่อข้อมูลรายงานคุณภาพอากาศมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2.ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยแผนการตรวจโรงงานประจำปี 2563 เน้นโรงงานที่เคยมีปัญหาข้อร้องเรียนด้านฝุ่นละอองในปีที่ผ่านมา

3.กำกับดูแลให้โรงงานตรวจสอบระบบบำบัดอากาศให้มีประสิทธิภาพ 4.ส่งเสริมให้โรงงานใช้เทคโนโลยีสะอาดให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงกระบวนการเพื่อการลดมลพิษที่ต้นทาง(แหล่งกำเนิด) 5.ประสานขอความร่วมมือกับกองทัพอากาศสำรวจสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดร่วมกับโดรน

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)ได้ออกประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่หักจากค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบ พ.ศ.2561 โดยกำหนดให้หักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีเต็มจำนวนโดยคิดแยกเป็นรายโรง และมาตรการปรับเงินสำหรับโรงงานน้ำตาลที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกินจำนวนที่กำหนดในอัตราตันละ 12 บาท โดยให้นำเงินส่วนนี้เป็นรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อนำไปใช้ในโครงการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ต่อไป

นอกจากนี้ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ สมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ รณรงค์ไม่ให้เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่อง มาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ และปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ที่มาสาเหตุมาจากการเผา

ทั้งนี้จากรายงานการสำรวจปริมาณอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี 2561/2562 ณ วันหีบที่ 50 ของฤดูการผลิตพบว่า มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงถึง 7.43 % โดยอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีปริมาณ 20,927,473 ตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 42,621,206 ตัน คิดเป็นร้อยละ 49.10 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

ส่วนมาตรการเกี่ยวกับผู้ประกอบการด้านเหมืองแร่ ขอความร่วมมือสถานประกอบการ 1.ให้ควบคุมการระเบิดให้เป็นไปตามหลักวิชาการเพื่อควบคุมฝุ่นจากการระเบิด 2.ตรวจสอบระบบกำจัดฝุ่นของสถานประกอบการให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเปิดใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาประกอบการ 3.ฉีดพรมน้ำและปรับปรุงเส้นทางขนส่งในเขตเหมืองแร่เป็นประจำเพื่อลดการสะสมฝุ่น 4.ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่สถานประกอบการ ลานเก็บกองแร่และมูลดินทราย เพื่อลดการสะสมของฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ 5.ตรวจสอบระบบล้างล้อรถบรรทุกให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้มีการล้างล้อรถบรรทุก ก่อนออกจากสถานประกอบการทุกครั้ง 6.จัดทำแนวกันชนปลูกต้นไม้โดยรอบสถานประกอบการเพื่อป้องกันฝุ่นจากสถานประกอบการออกไปสู่ภายนอก

“กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น และได้เร่งกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการต่างๆให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการอย่างเคร่งครัด และการจัดการปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ กระทรวงฯจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0